พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทางพุทธศาสนา
การพระราชกุศลมาฆบูชา
การพระราชกุศลวิสาขบูชา
การพระราชกุศลทรงผนวชและอุปสมบทนาคหลวง
การพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา
พระกฐินหลวง

การพระราชกุศลมาฆบูชา
พระราชพิธีนี้เริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า วันมาฆบูชาอันเป็นวันเพ็ญกลางเดือน ๓ เป็นวันที่ระลึกสำคัญในทางพุทธศาสนา เพราะเป็นวันคล้ายวันที่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ล้วนแล้วแต่เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานอุปสมบทด้วยพระองค์เอง ได้เดินทางจากทุกทิศานุทิศมาเฝ้าพระองค์โดยมิได้นัดหมาย จึงได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่ที่ชุมนุมสงฆ์นั้นเป็นครั้งแรก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลขึ้น ในรัชกาลปัจจุบัน จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงจุดเทียนรุ่งบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์ ๓๐ รูป ทำวัตรแล้วเจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งมีคาถาโอวาทปาติโมกข์อย่างย่อด้วย แล้วทรงสดับพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์

การพระราชกุศลวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชาตรงกับวันเพ็ญกลางเดือน ๖ หรือเดือน ๗ ในปีอธิกมาส เป็นดิถีคล้ายวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน จึงเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ในหนังสือเรื่อง “นางนพมาศ” ได้บรรยายว่า ในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี วันวิสาขบูชาเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาลสำคัญ มีการเฉลิมฉลองทำบุญเป็นงานใหญ่ แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่มีเอกสารหลักฐานกล่าวถึงงานนี้ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระสังฆราช (มี) ได้ถวายพระพรขอให้ทรงรื้อฟื้นราชประเพณีนี้ ทรงพระกรุณาเห็นชอบด้วย จึงโปรดให้จัดงานวันวิสาขบูชาเป็นงานใหญ่ระดับชาติ มีการประดับตกแต่งธงทิวและตามประทีปโคมไฟที่พระอารามและบ้านเรือนราษฎร ชักชวนให้ประชาชนทำบุญรักษาศีล งดเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นเวลา ๓ วัน และตั้งเป็นการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลขึ้น
ปัจจุบัน การพระราชกุศลวิสาขบูชาเริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ มีพิธีพระราชทานพัดยศ ตั้งพระภิกษุสามเณรเปรียญ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันรุ่งขึ้นตอนเย็นเสด็จพระราชดำเนินมาประทักษิณรอบพระอุโบสถ ๓ รอบ ล้วทรงสดับพระธรรมเทศนา ในบางปี ในระยะเวลาดังกล่าว เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับยังต่างจังหวัด เพื่อทรงเยี่ยมเยียนราษฎรและติดตามผลการปฏิบัติงานโครงการต่างๆ ตามพระราชดำริ ก็จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชาร่วมกับราษฎรในจังหวัดเหล่านั้น โดยทรงมอบให้พระราชวงศ์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

การพระราชกุศลทรงผนวชและอุปสมบทนาคหลวง
ในวันพระขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงผนวชพระบรมวงศานุวงศ์ และอุปสมบทข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ยังอาจมีนาคในพระบรมราชานุเคราะห์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานศุภรัตเชิญเครื่องอัฐบริขารไปพระราชทานแก่พระภิกษุบวชใหม่ ณ วัด ในวันเวลาที่นาคนั้นจะอุปสมบท

การพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา
วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายพุ่มบูชาพระพุทธปฏิมากรสำคัญ ๔ องค์ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงประเคนพุ่มดอกไม้ธูปเทียนแด่สมเด็จพระสังฆราช พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ และพระนาคหลวง รวมประมาณ ๓๐๐ รูป วันรุ่งขึ้นพระราชทานอาหารบิณฑบาตพระสงฆ์ ๑๕๐ รูป ในพระบรมมหาราชวัง ตอนเย็นเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร ถวายพุ่มบูชาพระพุทธชินสีห์และปูชนียวัตถุสำคัญต่างๆ พร้อมกับทรงประเคนพุ่มดอกไม้ธูปเทียนแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เจ้าอาวาส

พระกฐินหลวง
ในรัชกาลปัจจุบันจะเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานผ้าพระกฐิน ณ พระอารามหลวงสำคัญอย่างน้อย ๕ แห่ง คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดอรุณราชวราราม วัดสุทัศนเทพวราราม และวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงส่วนใหญ่ที่นอกเหนือจากนี้จะพระราชทานผ้าพระกฐินแก่หน่วยราชการ หรือคณะบุคคลผ่านกรมการศาสนา ให้เชิญไปทอด

อ่านเพิ่มเติม | หน้าแรก
Copyright © 1997 Thai Junior Encyclopedia Project Webmaster. All rights reserved.
Reproduction of the information contain in this web site without permission is prohibited.