
พระที่นั่งตรีมุข |
พระที่นั่งตรีมุข
ตั้งอยู่ด้านหลังของพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท
ไม่ปรากฏผู้สร้าง สันนิษฐานว่า ตั้งอยู่บนฐานของพระมหามณเฑียร
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกพลับพลาโถง
เพื่อเป็นที่ประทับ เมื่อเสด็จมาทอดพระเนตรการขุดแต่งพระราชวังหลวง
และเป็นที่ต้อนรับแขกเมืองด้วย
หลังจากพระราชพิธีรัชมงคลบำเพ็ญกุศลถวายพระมหากษัตริย์องค์ก่อนๆ แล้ว
พลับพลานี้ยังสมบูรณ์อยู่จนทุกวันนี้ |
พระที่นั่งอื่นๆ และอาคารที่ใช้เป็นที่ทำการ
เพื่อการปกครองประเทศ
และประกอบพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ ได้แก่ ศาลหลวง ศาลาลูกขุนใน
หอแปลพระราชสาส์น โรงราชยาน โรงช้าง โรงม้า โรงเรือพระที่นั่งต่างๆ
เหล่านี้คงปรากฏ แต่ในพงศาวดาร และรากฐาน
หรือเศษชิ้นส่วนของวัสดุก่อสร้างที่ปรากฏให้สันนิษฐานได้เท่านั้น
การบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผา
พระราชวังหลวงก็ถูกเผาไปจนหมดสิ้น ครั้งถึงรัชกาลที่ ๔
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระราชดำริว่า พระราชวังเก่าที่พระนครศรีอยุธยา
เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน ควรจะให้มีที่ระลึกไว้ จึงโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างปราสาทขนาดย่อมขึ้น ที่รากฐานของพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท
ทรงมีพระราชดำริจะโปรดเกล้าฯ
ให้จารึกพระปรมาภิไธยพระเจ้าแผ่นดินของกรุงศรีอยุธยา
ประดิษฐานไว้ภายในปราสาท เพื่อเป็นที่สักการะต่อไป
แต่การก่อสร้างยังไม่ทันแล้วเสร็จ ก็ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน
ตราบจนสมัยรัชกาลที่ ๕ ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้โปรดเกล้าฯ
ให้พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ขุดตรวจค้นแผนผังฐานพระมหาปราสาท
และพระราชมณเฑียรทั้งพระราชวังขึ้น เพื่อรักษาไว้
ซึ่งพระยาโบราณราชธานินทร์ก็ได้ลงมือขุดแต่งไปบ้าง ตราบจน พ.ศ. ๒๔๔๙
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติจะครบ ๔๐ ปี
เท่ารัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๕๐ โปรดเกล้าฯ
ให้ตั้งพระราชพิธีรัชมงคลบำเพ็ญกุศลถวายสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒
กับทั้งพระมหากษัตริย์องค์ก่อนๆ ทุกพระองค์ ในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา
จึงได้โปรดเกล้าฯ
ให้รื้อโครงปราสาท ที่ทำค้างไว้บนฐานพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาทนั้นเสีย
และสร้างขึ้นใหม่ พร้อมกับสร้างป้อม กำแพง ประตูเมือง ประตูวัง
และสถานที่ต่างๆ ตามรากฐานเดิม
ด้วยโครงสร้างไม้ให้เหมือนพระราชวังกรุงศรีอยุธยา
เมื่อเสร็จพระราชพิธีแล้ว จึงทรงมีพระราชดำริว่า
จะเสด็จมาทอดพระเนตรเนืองๆ และให้เป็นที่รับแขกเมืองได้ด้วย จึงโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างพลับพลาตรีมุขขึ้น บนฐานที่เข้าใจว่า
เป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับเดิม
|

พระราชวังหลวงหรือวังโบราณได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์และจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์
สำหรับประชาชนเข้าชม |
ปัจจุบันพระราชวังหลวง หรือวังโบราณนี้
กรมศิลปากรได้บูรณะปฏิสังขรณ์ไว้ พอจะเห็นเค้าโครงของฐานอาคารได้บางหลัง
และจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนเข้าชมด้วย
วังจันทรเกษม
ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงศรีอยุธยา
ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วังนี้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างขึ้น เมื่อประมาณ
พ.ศ. ๒๑๒๐ เรียกกันว่า วังใหม่ หรือวังจันทร์
เพื่อใช้เป็นที่ประทับขณะที่ดำรงพระยศเป็นพระยุพราชครองเมืองพิษณุโลก
วัตถุประสงค์ที่ทรงสร้างวังนี้ ก็เพื่อเป็นที่ประทับ
ขณะที่เสด็จลงมาเฝ้าพระราชบิดา เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว
ก็ยังคงประทับที่วังนี้ ต่อมาอีกหลายปี จึงเสด็จไปประทับที่พระราชวังหลวง
ต่อมาวังนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเอกาทศรถ และพระมหาอุปราชองค์ต่อๆ มา
|

พระราชวังจันทรเกษม ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
กล่าวกันว่าวังเก่า สำหรับพระมหาอุปราชนั้น
ตั้งอยู่ใกล้พระราชวังหลวง แต่เนื่องด้วยคับแคบ
ภายหลังจึงยกวังจันทร์ขึ้น เป็นพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า
ที่เรียกว่า วังหน้า เพราะตั้งอยู่ติดกับคลองขื่อหน้า
และเป็นด้านหน้าของพระราชวังหลวง แต่เดิม วังนี้ตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง
เป็นที่สำหรับไปทอดพระเนตรช้างเถื่อน ซึ่งเคยปรากฏว่า
มีเพนียดคล้องช้างตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงวังนี้ด้วย |

กำแพงพระราชวังจันทรเกษม |
ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายลง
วังจันทร์ ก็รกร้าง
รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระราชวัง
สำหรับเป็นที่ประทับ เวลาเสด็จพระราชดำเนิน ขึ้นมาประพาสกรุงเก่า
และทรงเปลี่ยนชื่อเป็น พระราชวังจันทรเกษม ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๕
วังนี้มิได้ใช้ต่อไป สถานที่ต่างๆ ทรุดโทรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซม
อาคารเฉพาะบางหลัง และพระราชทานให้เป็น ที่ว่าการมณฑลกรุงเก่า
ซึ่งปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม
ในความควบคุมดูแลของหน่วยศิลปากรที่ ๑ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
อาคารและสิ่งก่อสร้างที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน
๑. กำแพงพระราชวัง ความยาวด้านละ ๔ เส้น มีซุ้มประตู ๔ ซุ้ม
๒.
พลับพลาจตุรมุข เป็นพลับพลาเครื่องไม้ หลังคามุงกระเบื้อง มีช่อฟ้า ใบระกา
หางหงส์ และนาคสะดุ้ง หน้าบันของเดิมเป็นลายพระราชลัญจกร
ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ พลับพลาชำรุดทรุดโทรมมาก จึงได้รื้อลง
และสร้างขึ้นใหม่ โดยใช้ฝาไม้ของเดิม พร้อมทั้งแก้ไขทรงหลังคา
และลายหน้าบันทั้งหมด ปัจจุบันเป็นที่จัดแสดงศิลปวัตถุของพิพิธภัณฑ์
๓. พระที่นั่งพิมานรัตยา ก่อขึ้นตามฐานรากเดิม
ซึ่งเคยใช้เป็นที่ว่าการมณฑลกรุงเก่า ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙
และปัจจุบันได้เป็นที่ทำการของพิพิธภัณฑ์
๔. หอพิศัยศัลลักษณ์ เป็นอาคารสูง ๔ ชั้น
ซึ่งก่อขึ้นตามรูปฐานรากเดิมในสมัยรัชกาลที่ ๔
ใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรดาว |

หอพิศัยศัลลักษณ์ |
วังหลัง
พระราชวังหลังนี้ตั้งอยู่ในกำแพงพระนครด้านทิศตะวันตก
ตรงข้ามกับวัดกษัตราธิราช
วังหลังเพิ่งปรากฏมีขึ้นในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ
เมื่อมอบราชสมบัติให้พระมหินทราธิราช ที่ตั้งของพระราชวัง อยู่ที่สวนหลวง
ติดกับวัดสบสวรรค์
(บางครั้งจึงเรียกเป็นสามัญร่วมกันไปว่า "สวนหลวงสบสวรรค์")
ยกขึ้นเป็นวัง เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ที่เรียกว่า
วังหลัง เพราะวังนี้อยู่ริมพระนครด้านทิศตะวันตก
ซึ่งเป็นด้านหลังของพระราชวังหลวง
วังหลังนี้ เมื่อเสียกรุงแล้ว
คงจะรกร้าง ส่วนของอาคารไม่มีอะไรเหลือเป็นซาก
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างเป็นกรมยุทธนาธิการของทหาร
แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นที่ตั้งของโรงงานสุรา |

พระราชวังหลัง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงงานสุรา |
พระราชวังบางปะอิน
พระราชวังนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา
ตั้งอยู่ที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โดยที่บริเวณนี้ เป็นที่ประสูติ ของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดตรงที่เป็นบ้านเดิมของพระองค์
พระราชทานนามว่า วัดชุมพลนิกายาราม และโปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระสร้างวังขึ้น
ที่เกาะกลางสระ เพื่อใช้เป็นที่เสด็จประพาส |