สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 14
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๔ / เรื่องที่ ๓ ประติมากรรมไทย / บทนำ
บทนำ
ประติมากรรมเป็นผลงานศิลปกรรมที่เป็น รูปทรง ๓ มิติ ประกอบจากความสูง
ความกว้าง และความนูน หรือความลึก รูปทรงนี้มีปริมาตรที่จับต้องได้
และกินระวางเนื้อที่ในอากาศ ต่างจากรูปทรงปริมาตรทางจิตรกรรม
ที่แสดงบนพื้นเรียบ เป็นปริมาตรที่ลวงตา
ประติมากรรมเกิดขึ้นจากกรรมวิธีการสร้างสรรค์แบบต่างๆ เช่น การปั้นและหล่อ
การแกะสลัก การฉลุหรือดุน ประติมากรรมทั่วไปมี ๓ แบบคือ
ประติมากรรมแบบลอยตัว สามารถดูได้โดยรอบ ประติมากรรมนูน
มีพื้นรองรับ สามารถดูได้เฉพาะด้านหน้าและด้านเฉียงเท่านั้น
และประติมากรรมแบบเจาะลึกลงไปในพื้น
| สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประติมากรรมนูนต่ำ
แกะสลักปูนปลาสเตอร์ขนาด ๔๓x๓๒ เซนติเมตร อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ |
ประติมากรรมไทยเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของบรรพบุรุษ
โดยประติมากรของไทยที่สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อรับใช้สังคม ตอบสนองความเชื่อ
สร้างความภูมิใจ ความพึงพอใจ และค่านิยมแห่งชาติภูมิของไทย
ประติมากรรมไทยส่วนใหญ่ เน้นเนื้อหาทางศาสนา มักปรากฏอยู่ตามวัดและวัง
มีขนาดตั้งแต่เล็กที่สุด เช่น พระเครื่อง เครื่องรางของขลัง
จนถึงขนาดใหญ่ที่สุด เช่น พระอัจนะ หรือพระอัฏฐารส
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่กลางแปลง มีทั้งประติมากรรมตกแต่ง
ซึ่งตกแต่งศิลปวัตถุ ศิลปสถาน เพื่อเสริมคุณค่าแก่ศิลปวัตถุ
หรือสถานที่นั้น จนถึงประติมากรรมบริสุทธิ์
ซึ่งเป็นประติมากรรมที่มีคุณค่า
และคุณสมบัติเฉพาะสมบูรณ์ด้วยตัวของประติมากรรมเอง
เมื่อพิจารณาภาพรวมของประติมากรรมไทย อาจแบ่งประติมากรรมออกเป็น ๓
ประเภทคือ ประติมากรรมรูปเคารพ ประติมากรรมตกแต่ง
และประติมากรรมเพื่อประโยชน์ใช้สอย
|
|