ประติมากรรมตกแต่ง
ประติมากรรมตกแต่ง
เป็นงานประติมากรรม ซึ่งแฝงอยู่กับศิลปกรรมอื่นๆ ตั้งแต่สถาปัตยกรรม
จนถึงประณีตศิลป์ ที่เป็นเครื่องประดับตกแต่งศิลปสถาน และศิลปวัตถุ
ให้เกิดคุณค่าความงาม ความโอ่อ่า อลังการ ส่งเสริมให้ศิลปสถาน
และศิลปวัตถุเหล่านั้น แสดงเอกลักษณ์ และความเป็นไทยมากขึ้น
ประติมากรรมตกแต่งเหล่านี้ แบ่งออกตามลักษณะหน้าที่ และประโยชน์ใช้สอยได้
๓ ประเภทคือ ประติมากรรมลวดลาย ประติมากรรมตกแต่งสะท้อนความเชื่อ
และประติมากรรมเล่าเรื่อง
 |
ลายปูนปั้นฐานบัวองค์ปรางค์
วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศิลปะสมัยอยุธยา |
ประติมากรรมลวดลาย
ช่างไทยโบราณ
นิยมใช้ลวดลายต่างๆ ประดับลงบนสิ่งของ เครื่องใช้ ศิลปวัตถุ
หรือศิลปสถานต่างๆ เกือบทุกชนิด ศิลปกรรมของไทยโบราณ
จึงมีความละเอียดวิจิตรบรรจง ไม่ว่าจะเป็นตู้ โต๊ะ เตียง ตั่ง คันฉ่อง
เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ สิ่งก่อสร้าง ทั้งวัดและวัง เช่น โบสถ์ วิหาร
พระปรางค์ เจดีย์ พระที่นั่ง หรือปราสาทราชมณเฑียร
ศิลปกรรมเหล่านี้ต่างประดับลวดลายไว้เกือบทุกส่วน เพิ่มความสวยงาม ละเอียด
ประณีต ซึ่งเป็นส่วนที่เชิดชู ผลักดันศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้น
ให้แสดงเอกลักษณ์ และอุดมคติแบบไทยออกมาอย่างชัดเจน
บานประตูสลักไม้ลงรักปิดทองของวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม
กรุงเทพมหานคร จำลองจากของเดิม ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่
๔และถูกไฟไหม้เสียหาย |
 |
ศิลปกรรมทุกชนิดของไทยมีความละเอียด ประณีต วิจิตรบรรจง
เป็นศิลปะแบบอุดมคติ มีความรู้สึกทางความงามเหนือธรรมชาติ
ช่างไทยโบราณมีฝีมือ ความคิด และความชำนาญเป็น พิเศษ
โดยเฉพาะความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในการกำหนดส่วนสัด ช่องไฟ
การตกแต่งลวดลายลงไปในพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง
ไม่มีกฎเกณฑ์การตกแต่งลวดลายที่บังคับตายตัวเกินไป
นอกจากกำหนดระบบแบบแผนไว้กว้างๆ เช่น การแบ่งเนื้อที่ การเขียนกระจัง กนก
การออกลาย การแบ่งลาย การห้ามลาย การแยกลาย และการต่อลาย
ทั้งการต่อลายแบบขึ้นลง การต่อลายแบบซ้ายขวา การต่อลายดอกลอย และลายผนัง
กฎเกณฑ์การเขียนลวดลายเหล่านี้ สามารถนำไปประยุกต์พัฒนาปรับปรุงแก้ไข
ให้เข้ากับปัญหาของพื้นที่ที่จะกำหนด ลวดลายลงไป |

คันทวยศาลาลงสรง หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ |
หากลองพิจารณาดูสถาปัตยกรรมไทยสักหลังหนึ่ง เช่น
พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จะเห็นลวดลายตกแต่งประเภทต่างๆ
ทำงานร่วมกัน ในส่วนสัดที่เหมาะสม มีชั้นเชิงล้อรับสอดประสานสัมพันธ์กัน
ทั้งในส่วนของหลังคา หน้าบัน คันทวย ผนัง เสา ฐาน การย่อมุม
ตลอดจนเครื่องตกแต่งบานประตูหน้าต่าง
ที่มีการตกแต่งลวดลายทุกส่วนอย่างละเอียด แม้ศิลปะไทยโดยทั่วไป
มีลักษณะออกจะฟุ่มเฟือยในการตกแต่ง ตามสายตาของคนรุ่นใหม่
แต่ถ้าลองพินิจพิจารณาดูอย่างละเอียดโดยตั้งใจแล้ว จะเห็นว่า
ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเกินความจำเป็น หรือขัดสายตาแม้แต่น้อย |
ประติมากรรมลวดลายของไทย
แสดงให้เห็นเจตนาอันบริสุทธิ์
ความคิดริเริ่มที่มีแบบอย่างเป็นของตนเอง
ลวดลายทั้งหลาย จะแสดงคุณค่าความรู้สึกในเชื้อชาติ
และเอกลักษณ์ไทยอย่างชัดแจ้ง ลวดลายมีเส้นสลับซับซ้อน ตัวลาย ทรง ลาย
ช่อลาย หรือถ้ามีเถาลายจะมีความคดโค้ง อ่อนช้อยสัมพันธ์กัน
สร้างอารมณ์อ่อนไหวละมุนละไม ที่สำคัญคือ
การสะบัดปลายเรียวแหลม ของยอดกนกแต่ละตัว จะไม่แข็งกระด้าง ด้วนกุด
และดูไม่ตาย แต่เคลื่อนไหวพลิกพลิ้ว การสร้างลวดลายกนกทุกเส้น ทุกตัว
ทุกทรง และทุกช่อ ประสานสัมพันธ์กันทั้งในส่วนละเอียด ส่วนย่อย
และส่วนใหญ่ ไม่มีการหักงอ หรือแข็งกระด้าง ไม่ว่าส่วนไหนก็ตาม
ลวดลายส่วนใหญ่ของไทยได้รับความบันดาลใจจากสิ่งแวดล้อม จากธรรมชาติ
ทั้งพืช สัตว์ และสิ่งอื่นๆ และมีการสร้างสรรค์มานาน ก่อนสมัยทวารวดี
ลวดลายสมัยแรกๆ เลียนแบบอย่างจากธรรมชาติ เช่น ลายใบไม้ ลาย ดอกไม้
ลายพรรณพฤกษาต่างๆ ต่อมา ได้คลี่คลายมาเป็นลวดลายที่เป็นแบบประดิษฐ์
มีระเบียบแบบแผนมากขึ้น โดยเฉพาะตอนปลายสมัยอยุธยา และต้นสมัยรัตนโกสินทร์
ลวดลายจึงมีหลายประเภท และมีชื่อเรียก ที่ยังแสดงให้เห็นถึงที่มา
จากความบันดาลใจเหล่านั้น เช่น ลายเครือเถา ลายก้านขด ลายตาอ้อย ลายก้ามปู
และลายกาบพรหมศร เป็นต้น |

ลายพรรณพฤกษาปูนปั้นผนังวิหารวัดนางพญา อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
ศิลปะสมัยสุโขทัย แสดงให้เห็นรายละเอียดของลาย |
ลวดลายเหล่านี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก
จนจัดเป็นศาสตร์ที่ได้รับการกำหนดเป็นแบบแผน
ช่างไทยทั้งหลายต้องศึกษา จนเข้าใจชีวิต ของลวดลายเหล่านี้
จนสามารถพัฒนาประยุกต์การใช้ลวดลายให้เหมาะสม
เพราะประเภทของประติมากรรมไทย จะมีทั้งขุดแกะด้วยไม้ ปั้นหล่อด้วยโลหะ
ปั้นด้วยปูน ประดับด้วยการลงสี ลงรักปิดทอง ประดับมุก ประดับกระเบื้อง
ประดับกระจกหุง หรือสลักดุนนูนด้วยโลหะ การสร้างลายหรือนำลายมาใช้
จึงต้องสัมพันธ์กับตัววัสดุ กลวิธี และเทคนิควิธีการสร้างงานประติมากรรม
รวมทั้งพื้นที่ และวัตถุประสงค์ในการแสดงออกของศิลปกรรมเหล่านั้นด้วย
|