ประติมากรรมไทยสมัยอู่ทองและสมัยอยุธยา
ประติมากรรมสมัยอู่ทอง เป็นประติมากรรมที่สร้างขึ้น ในสมัยอโยธยาเป็นศูนย์กลางของอาณาจักร เกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. ๑๓๐๐-๑๘๙๗ และ
ประติมากรรมสมัยอยุธยาเกิดขึ้นประมาณ พ.ศ.
๑๘๙๓-๒๓๑๐ ประติมากรรมอู่ทองปูรากฐาน ให้แก่ประติมากรรมสมัยอยุธยาตอนต้นโดยตรง
เพราะศิลปะอู่ทองมีการทำสืบต่อไป จนถึงแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
|
พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะสมัยอู่ทอง | อู่ทองและอยุธยายุคต้น
ในยุคนี้มีการสร้างพระพุทธรูป
ที่มีพุทธลักษณะผสมผสานพระพุทธรูปสมัยทวารวดี สมัยลพบุรี
และศิลปะของชนพื้นเมืองอโยธยาเอง มีพุทธลักษณะเด่นชัดคือ
วงพระพักตร์เป็นสี่เหลี่ยม มีไรพระศกเป็นกรอบ
วงพักตร์พระหนุป้านเป็นรูปคางคน พระนาสิกเป็นสันคม
พระขนงชัดเจนเป็นเส้นกระด้างคล้ายปีกนกบรรจบกัน ปริมาตรของพระพักตร์ดูแบน
ขมวดพระเกศามีขนาดเล็กเป็นจุด พระรัศมีมีทั้งทำอย่างเป็นต่อม
และทำเป็นเปลว ผ้าครองทำชายสังฆาฏิยาว นิยมนั่งขัดสมาธิราบ
ฐานหน้ากระดานเป็นร่อง และแอ่นเข้าข้างใน
เนื้อโลหะสำริดหล่อได้บางเป็นพิเศษ นอกจากนั้นยังพบพระพุทธรูปสลักศิลา
เช่น พระพุทธรูปที่พระระเบียงวัดมหาธาตุ ลพบุรี
พระพุทธรูปที่วิหารหน้าสถูปใหญ่ วัดนครโกษา ลพบุรี
และพระพุทธรูปที่วัดใหญ่ ชัยมงคล อยุธยา เป็นต้น |
ภาพสลักศิลา และภาพปูนปั้นต่างๆ ลักษณะลายเป็นแบบประดิษฐ์มากกว่าสมัยลพบุรี
ลายสลักศิลารอบฐานชุกชีในพระวิหารใหญ่ หน้าพระปรางค์วัดมหาธาตุ อยุธยา
เป็นลายขมวดเถาไม้ ใบไม้ กลีบบัว
ลวดลายยังเป็นแบบกึ่งประดิษฐ์กึ่งธรรมชาติ
ยังไม่เข้ารูปเป็นลายกนกเลยทีเดียว
อยุธยายุคกลาง
การปั้นพระพุทธรูปยุคนี้
ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย มักทำวงพระพักตร์ และพระรัศมีตามแบบสุโขทัย
แต่มีไรพระศกเส้นเล็กๆ ทำสังฆาฏิขนาดใหญ่ ชายสังฆาฏิตัด ป็นเส้นตรง
พระพุทธรูปทำจากปูนปั้น สลักหิน และหล่อด้วยโลหะ
ส่วนมากนิยมทำพระพุทธรูปปางมารวิชัย และพระอิริยาบถแบบต่างๆ ตามแบบสุโขทัย
พระพุทธรูปนั่งที่มีขนาดใหญ่ และถือเป็นแบบฉบับของพระพุทธรูปสมัยนี้คือ
พระมงคลบพิตร อยุธยา นอกจากนั้นมักทำพระพุทธรูปขนาดกลาง มีฐานชุกชีสูง
เช่น พระประธานพระอุโบสถ วัดไชยวัฒนาราม อยุธยา และวัดพระพุทธบาท สระบุรี
พระนอนที่สำคัญ คือ พระนอนที่วัดโลกยสุธา อยุธยา พระนอนที่วัดป่าโมกข์
อ่างทอง และพระนอนที่สิงห์บุรี พระยืนที่สำคัญคือ พระโลกนาถ
ประดิษฐานอยู่ที่วิหารทิศตะวันออก (มุขหลัง) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
กรุงเทพมหานคร |
พระนอน วัดโลกยสุธา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศิลปะสมัยอยุธยา |
ลวดลายตกแต่งสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
มีลายหน้าบันพระอุโบสถวัดราชบรรทม เป็นลายกนกขมวดเป็นก้นหอย
ตรงกลางเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ซ้อนเป็นชั้น
ลายหน้าบันพระอุโบสถวัดพระพุทธบาท สระบุรี รูปนารายณ์ทรงครุฑ
กนกเครือเถาล้อมรอบ ทั้งองค์พระนารายณ์และครุฑ ท่าทางขึงขังทะมัดทะแมง
และบานประตูเจดีย์ ๓ องค์ วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ อยุธยา
จำหลักรูปเทวดายืนถือพระขรรค์ ทรงเทริดเหนือเศียรเทวดา มีรูปคล้ายร่ม
ในยุคนี้ไม่นิยมทำลวดลายประดับเจดีย์ คงลายปูนเกลี้ยงตั้งแต่ฐานถึงยอด
อยุธยายุคปลาย
ประติมากรรมพระพุทธรูปยุคนี้
มีการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบพระมหากษัตริย์ โดยมีอยู่ ๒ แบบคือ
พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ และพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย
พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ที่มีชื่อเสียงมาก คือ พระประธานพระอุโบสถ
วัดหน้าพระเมรุ อยุธยา
ศิลปะการสลักไม้ และปั้นปูนประดับพุทธสถานของสมัยอยุธยายุคปลาย ฝีมือถึงขั้นที่มีความงามสูงสุด ลวดลายทำเป็นกนก อ่อนพลิ้วซ้อนกัน
ปลายกนกสะบัดปลาย บิดไปมาราวกับธรรมชาติของเถาไม้ และใบไม้ที่อ่อนไหว ลวดลายต่างๆ
เริ่มประดิษฐ์เป็นแบบแผนเฉพาะตัวของไทยมากขึ้น ลายแกะไม้ที่สวยงามคือ ลายหน้าบันวิหาร
วัดธรรมาราม อยุธยา หน้าบันพระอุโบสถ วัดใหม่เทพนิมิตร ธนบุรี และหน้าบันศาลาการเปรียญ
วัดเชิงท่า อยุธยา เป็นต้น ส่วนลายปูนปั้น ที่มีชื่อเสียงคือ ลายหน้าบันพระอุโบสถ วัดเขาบันไดอิฐ
เพชรบุรี ลายปูนปั้นที่ซุ้มวิหารหลวง วัดราชบูรณะ
อยุธยา และลายปูนปั้นที่ซากพระอุโบสถ วัดภูเขาทอง กรุงเทพมหานคร เป็นต้น |
ลวดลายปูนปั้นหน้าบันพระอุโบสถ วัดเขาบันไดอิฐ
จังหวัดเพชรบุรีฝีมือช่างสมัยพระเจ้าบรมโกศ ศิลปะสมัยอยุธยา |