สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 14
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๔ / เรื่องที่ ๓ ประติมากรรมไทย / สำหรับเด็กระดับเล็ก
สำหรับเด็กระดับเล็ก
ฟังเสียงอ่าน =>

เมื่อเราไปวัด เรามักจะเข้าไปไหว้พระในโบสถ์
ปกติในโบสถ์จะมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่เป็นพระประธาน ๑ องค์ พระพุทธรูปนี้
เป็นรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า ลักษณะจะไม่เหมือนองค์จริงทุกอย่าง
เพราะคนสร้าง สร้างขึ้นจากอุดมคติ ความรู้สึก ความเชื่อ และความศรัทธา
โดยใช้ความสามารถทางด้านศิลปะเข้าไปช่วย ทำให้ผู้ดูรู้สึกว่า มีความงดงาม
น่านับถือ น่าศรัทธา |
| พระพุทธรูป
เป็นผลงานทางศิลปะชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ประติมากรรม
ประติมากรรมเป็นงานศิลปะที่เกิดจากการปั้น หล่อ แกะสลัก ฉลุ หรือดุน
นอกจากพระพุทธรูป ซึ่งเป็นประติมากรรมรูปคนแล้ว
ยังมีประติมากรรมรูปสัญลักษณ์ ซึ่งสร้างขึ้น
เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงความเชื่อทางศาสนา เช่น งานปั้น
หรืองานแกะสลักรูปดอกบัว เป็นเครื่องหมายของการประสูติ ของพระพุทธเจ้า
ใบเสมา ซึ่งหล่อด้วยปูน แกะสลักด้วยไม้หรือหิน
ซึ่งติดตั้งอยู่รอบพระอุโบสถ ก็เป็นเครื่องหมายแสดงขอบเขตของโบสถ์
ซึ่งถือว่า เป็นแดนบริสุทธิ์ พระเครื่ององค์เล็กๆ
ก็นับเป็นประติมากรรมรูปสัญลักษณ์ ที่เป็นเครื่องหมาย
แทนองค์พระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน |
บรรพบุรุษของไทยได้สร้างผลงานทางประติมากรรมขึ้นมาจำนวนมาก
ผลงานเหล่านี้เป็นหลักฐานที่สะท้อนความเชื่อ
และวัฒนธรรมของคนไทยมาแต่ในอดีต แสดงให้เห็นความสามารถทางศิลปะ ของคนไทย
ที่สามารถสร้างผลงานอันงดงามละเอียดประณีต
และมีแบบอย่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน
ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวไทยควรภาคภูมิใจอย่างยิ่ง เราควรช่วยกันดูแลรักษา
และทำนุบำรุงผลงานทางประติมากรรมของไทย ให้อยู่ในสภาพที่ดีต่อไป
|
|