พืชอาหารสัตว์เป็นอาหารหลักของสัตว์ประเภทกินหญ้า
พืชอาหารสัตว์มีความสำคัญต่อชีวิต และความเป็นอยู่ของคนอย่างมาก กล่าวคือ
๑. เป็นอาหารหลักของโค กระบือ และสัตว์ประเภทกินหญ้าอื่นๆ
มีการค้นคว้าวิจัยคัดเลือกพืชอาหารสัตว์ เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ดีที่สุด
สำหรับเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งจะทำให้โคกระบือ
ได้รับอาหารที่สมบูรณ์ด้วยคุณค่าอาหาร เจริญเติบโตอย่างเต็มที่
และผลิตเนื้อ ผลิตนมได้มากขึ้น ผลที่เกิดตามมาก็คือ เกษตรกรมีอาชีพ
และมีรายได้เพิ่มขึ้น คนทั่วไปได้กินอาหารเนื้อที่มีคุณภาพสูง |

แปลงหญ้าปล้อง พืชอาหารสัตว์ชนิดหนึ่ง |
๒. ช่วยเพิ่มปุ๋ยไนโตรเจนในดิน เพิ่มความเจริญให้แก่พืช
ซึ่งเป็นอาหารของคน พืชอาหารสัตว์โดยเฉพาะในกลุ่มถั่ว
มีความสามารถพิเศษในการดึงไนโตรเจนจากอากาศ ให้กลายมาเป็นปุ๋ยในดินได้
โดยอาศัยจุลินทรีย์ชนิดหนึ่ง ในกลุ่มไรโซเลียม
จึงทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เมื่อปลูกพืชลงไป พืชก็เจริญงอกงาม
เพราะได้ธาตุอาหารที่ช่วยการเจริญเติบโต |
 หนูตะเภา สัตว์ชนิดหนึ่งที่กินหญ้าเป็นอาหาร |
๓. ช่วยป้องกันการชะล้างหน้าดิน หญ้าและถั่ว พืชอาหารสัตว์เจริญเติบโต โดยวิธีแผ่เถาคลุมดินหนาแน่น
ช่วยป้องกันมิให้หน้าดินถูกน้ำชะล้างให้ละลายไหลไปหมด
การเพาะปลูกก็จะได้ผลิตผลอย่างเต็มที่
พื้นที่ใด ที่ไม่มีพืชปกคลุมผิวดิน จะถูกน้ำ ฝน ลม พัดพา ชะล้างและทำลาย
ขาดแร่ธาตุที่เป็นปุ๋ยของพืช ไม่อาจเพาะปลูกได้
หรือทำให้ไม่ได้ผลิตผลเท่าที่ควร |
 พืชอาหารสัตว์ ทั้งในวงศ์หญ้าและวงศ์ถั่ว ช่วยปกคลุมผิวดินมิให้ถูกน้ำชะล้างไป | พืชอาหารสัตว์แบ่งออกเป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ
๑. พืชในวงศ์หญ้า
มีทั้งพันธุ์หญ้าฤดูเดียว เช่น หญ้าปากควาย ต้นข้าวโพด ข้าวฟ่าง
หญ้านกสีชมพู หญ้าต้นติด หญ้าไข่มุก หญ้าข้าวผี หรือพันธุ์หญ้าอายุหลายปี
เช่น หญ้าขน หญ้ากินนี เนเปียร์ รูซี ชันกาด หญ้าปล้อง หญ้าซิกแนล
และหญ้าโรค เป็นต้น พืชอายุหลายปีเหล่านี้สามารถมีชีวิตอยู่ได้มากกว่า ๓
ปี |
๒.
พืชในวงศ์ถั่ว มีทั้งถั่วอายุปีเดียว เช่น
ถั่วลิสงนา ถั่วแปบ ถั่วมะแฮะ หรือพันธุ์ถั่วอายุหลายปี เช่น ถั่วสไตโล
ถั่วฮามาตา ถั่วลาย ถั่วคนทิดิน และถั่วเซอราโตร เป็นต้น พืชอาหารสัตว์ในวงศ์ถั่วเป็นแหล่งอาหารโปรตีนของสัตว์ |
 ฝูงโคแทะเล็มเพ็ก |
๓.
พืชในกลุ่มไม้ยืนต้น เป็นพันธุ์ไม้พุ่ม
หรือต้นไม้ใหญ่ ที่ใช้ใบเป็นอาหารสัตว์ได้ เช่น ต้นแค กระถิน ทองหลาง
ประดู่ และแคฝรั่ง เป็นต้น ใบของพืชในกลุ่มนี้มีคุณค่าอาหารสูง เช่น
โปรตีน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๑๔ ใช้เป็นอาหารเสริมโปรตีน ในช่วงฤดูแล้งได้ดี |