ขอบเขตและรากฐานของเทคโนโลยีชีวภาพ
เทคโนโลยีชีวภาพมีขอบเขตที่กว้างมาก
ครอบคลุมตั้งแต่เทคโนโลยีที่ใช้ในเกษตรกรรม จนถึงอุตสาหกรรม การแพทย์
การผลิตพลังงาน และการรักษาสภาวะแวดล้อมของเรา
เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตสัตว์ พืช และจุลินทรีย์ รวมทั้งผลิตผลจากไขมัน
เช่น นม น้ำมัน และยารักษาโรค ล้วนจัดเป็นเทคโนโลยีชีวภาพ
เทคโนโลยีที่ใช้ในการแปรรูป และเพิ่มคุณค่าของสินค้าต่างๆ
ที่มาจากสิ่งมีชีวิต
หรือที่ใช้หลักการของวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต
ล้วนจัดเป็นเทคโนโลยีชีวภาพเช่นเดียวกัน
|
 แผนภูมิแสดงสาขาวิชาต่างๆ ที่ประกอบกันเป็นเทคโนโลยีชีวภาพ |
วิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต หรือวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
จัดเป็นรากฐานของเทคโนโลยีชีวภาพในปัจจุบัน
วิทยาศาสตร์นี้ ประกอบด้วยความรู้หลายแขนง ที่สำคัญคือ เคมีของสิ่งมีชีวิต
หรือที่เรียกว่า ชีวเคมี อันว่าด้วยส่วนประกอบต่างๆ
และการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงของมัน ความรู้ที่สำคัญอีกแขนงหนึ่ง
ซึ่งเป็นรากฐานของเทคโนโลยีชีวภาพ คือ จุลชีวศึกษา
อันเป็นความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมาก หรือที่เรียกว่า จุลินทรีย์
ซึ่งมีหลายชนิด ที่รู้จักกันดีได้แก่ บัคเตรี รา และไวรัส เป็นต้น |
 ภาพจากสุสานของเทบันในอียิปต์ เมื่อ ๓,๕๐๐
ปีมาแล้วแสดงให้เห็นการทำขนมปังและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ |
นอกจากจะอาศัยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพแล้ว
เทคโนโลยีชีวภาพยังอาศัยความรู้ด้านวิศวกรรมอีกด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิศวกรรมกระบวนการ อันหมายถึง
การผลิตสินค้าในระดับอุตสาหกรรม รวมทั้งการออกแบบ การสร้างโรงงาน
และอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตสินค้าเหล่านี้
เรารู้จักใช้เทคโนโลยีชีวภาพมานานแล้ว การปลูกพืช และการเลี้ยงปศุสัตว์
รวมทั้งการผสม และการคัดพันธุ์
อาจจัดเป็นเทคโนโลยีชีวภาพที่เรารู้จักมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
การหมักดองสุราก็ถือได้ว่า เป็นเทคโนโลยีชีวภาพที่ได้มาจากการที่เรารู้จักส่าหมักสุรา
ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่ง ที่นำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่โบราณกาล ในปัจจุบันอุตสาหกรรม หรือกิจการหลายๆ อย่าง
ล้วนใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ที่เรารู้จักกันมานานแล้ว เช่น การฟอกหนังสัตว์
การทำขนมจีน การทำน้ำปลา และซีอิ้ว เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ล้วนจัดเป็นกรรมวิธีที่ผลิตสินค้า
อันมีวัตถุดิบที่มาจากสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้กรรมวิธีอื่นๆ เช่น
กรรมวิธีที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย ก็เป็นการนำเทคโนโลยีชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับจุลินทรีย์มาใช้ให้เป็นประโยชน์ |