พันธุวิศวกรรม - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 14
เล่มที่ ๑๔
เรื่องที่ ๑ พระราชวัง ในกรุงเทพมหานคร
เรื่องที่ ๒ พระราชวัง ในส่วนภูมิภาค
เรื่องที่ ๓ ประติมากรรมไทย
เรื่องที่ ๔ อาหารสัตว์
เรื่องที่ ๕ พืชอาหารสัตว์
เรื่องที่ ๖ การปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์
เรื่องที่ ๗ ข้าวฟ่าง
เรื่องที่ ๘ เทคโนโลยีชีวภาพ
เรื่องที่ ๙ สารพิษ และสิ่งปนเปื้อนอาหาร
เรื่องที่ ๑๐ สมุนไพร
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๔ / เรื่องที่ ๘ เทคโนโลยีชีวภาพ / พันธุวิศวกรรม

 พันธุวิศวกรรม
พันธุวิศวกรรม

พันธุวิศวกรรม คือ การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ลักษณะเหล่านี้ขึ้นอยู่กับตัวกำหนด ภายในเซลล์แต่ละเซลล์ เรียกว่า ยีน ซึ่งเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวที่กำหนดแบบบ้านที่เราจะสร้างขึ้นมา ตัวกำหนดลักษณะทางพันธุกรรมภายในเซลล์นี้ อาจเปรียบเทียบอีกอย่างหนึ่งได้เหมือนกับรหัสคำสั่งให้เซลล์ดำเนินชีวิต และมีลักษณะต่างๆ ตามที่กำหนดไว้แล้วแต่ดั้งเดิม เช่น เซลล์ของยีสต์ก็จะผลิตแอลกอฮอล์ เซลล์ของเชื้อราบางอย่าง ก็จะผลิตยาเพนิซิลลิน เป็นต้น ความสำเร็จของนักพันธุวิศวกรรม คือ สามารถตัดต่อยีนของจุลินทรีย์ต่างๆ ได้ตามความประสงค์ กล่าวคือ สามารถเปลี่ยนแปลงรหัสคำสั่งให้เซลล์ปฏิบัติตามที่เราประสงค์ได้ตามสมควร สามารถเขียนพิมพ์เขียวของเซลล์ได้ใหม่ ให้มีลักษณะที่ต้องการบางอย่างได้ ความสำเร็จของนักพันธุวิศวกรรมนี้ เราได้นำมาใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรม การแพทย์ และการเกษตรหลายอย่าง เช่น สามารถเอายีนที่มาจากเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่ว่าสัตว์ พืช หรือจุลินทรีย์มาใส่เข้าไว้ในจุลินทรีย์ แล้วสั่งให้จุลินทรีย์ผลิตสาร ซึ่งตามปกติแล้ว เซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่นนั้น จะผลิตออกมาได้จำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จุลินทรีย์ที่ได้ทำพันธุวิศวกรรมแล้ว จะทำตนเป็นโรงงานผลิตสารที่มีคุณค่าออกมาได้จำนวนมาก เราได้นำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น นำมาผลิตฮอร์โมน เพื่อเป็นยารักษาโรคเบาหวาน และโรคเตี้ยแคระ นำมาผลิตยารักษาโรคเส้นเลือดอุดตัน โรคหัวใจ และนำมาผลิตวัคซีนสำหรับป้องกันโรคตับอักเสบ เป็นต้น
การตัดต่อยีนในพันธุวิศวกรรม โดยใช้เอนไซม์ตัดยีนซึ่งให้ผลิตผลที่ต้องการออกมาจากเซลล์สัตว์หรือพืช นำมาต่อเข้ากับยีนพาหะและพาหะนี้จะนำยีนใหม่เข้าไปในเซลล์ที่เป็นตัวรับ
การตัดต่อยีนในพันธุวิศวกรรม โดยใช้เอนไซม์ตัดยีนซึ่งให้ผลิตผลที่ต้องการออกมาจากเซลล์สัตว์หรือพืช
นำมาต่อเข้ากับยีนพาหะและพาหะนี้จะนำยีนใหม่เข้าไปในเซลล์ที่เป็นตัวรับ
เท่าที่ผ่านมาจนปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางพันธุวิศวกรรมเกิดขึ้นกับจุลินทรีย์เป็นส่วนใหญ่ แต่ในอนาคตอันใกล้ เราจะสามารถใช้เทคนิคทางพันธุวิศวกรรมปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ขึ้นได้อีกมาก เช่น ในการปรับปรุงพันธุ์พืช ปัจจุบัน เราสามารถใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และเซลล์พืชมาคัดเลือกพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีคุณสมบัติดีขึ้นกว่าเดิมได้แล้ว แต่ในอนาคตอันใกล้ เราจะสามารถกำหนดลักษณะทางพันธุกรรม โดยเพิ่มเติมยีนที่กำหนดลักษณะที่ต้องการเข้าไปได้โดยตรง ดังนั้น เทคโนโลยีใหม่นี้ จึงมีพลังสูง จำเป็นที่จะต้องติดตามศึกษา เพื่อนำมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย ซึ่งมีทรัพยากรด้านเกษตรกรรมที่ต้องพัฒนาอีกมาก
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป