สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 17
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๗ / เรื่องที่ ๑๐ ข้าวสาลี / การเตรียมพื้นที่ปลูกและการปลูก
การเตรียมพื้นที่ปลูกและการปลูก
การปลูกข้าวสาลี จะต้องมีการเปิดร่องปลูกก่อน
คราดเหล็กใช้ขีดร่องปลูก
คราดไม้ลากด้วยเครื่องยนต์
ผาลเปิดร่องปลูกข้าวสาลี
เกษตรกรกำลังโรยเมล็ดพันธุ์ข้าวสาลีในร่องปลูก
การตัดตอซังข้าว จะต้องตัดให้ชิดดินเพื่อสะดวกเวลาหยอดเมล็ดแล้วเอาฟางเกลี่ยกลบ
การไถเปิดร่องน้ำก่อนปลูกโดยใช้กระบือลาก
แปลงปลูกข้าวสาลีแบบยกแปลงแคบ
วัชพืชในแปลงข้าวสาลีเป็นตัวสำคัญที่จะแย่งปุ๋ยและน้ำในดิน และทำให้การเก็บเกี่ยวยากลำบากขึ้น
การกำจัดวัชพืชโดยใช้แรงคนถาก
ข้าวสาลีที่ขาดโบรอน จะมีอาการแคระแกร็น ใบเหลืองซีดมีรอยย่น
รวงข้าวสาลีหงิกเนื่องจากขาดโบรอน |
การเตรียมพื้นที่ปลูกและการปลูก
แบ่งเป็น ๒ ลักษณะ คือ ปลูกในสภาพไร่ และปลูกในสภาพนา
๑. ปลูกในสภาพไร่
แรงงานที่ต้องการ สำหรับการเตรียมแปลงปลูกข้าวสาลี
ขึ้นกับปริมาณวัชพืชที่อยู่ในแปลงขณะนั้น ซึ่งโดยทั่วไปคือ
ปริมาณวัชพืชหลังจากเก็บเกี่ยวพืชฤดูฝน ในกรณีที่มีวัชพืชค่อนข้างหนาแน่น
แรงงานที่ต้องใช้เตรียมแปลงจะค่อนข้างมาก การเตรียมแปลงสำหรับข้าวสาลี
ควรเริ่มทันทีที่ทำได้ หลังจากเก็บเกี่ยวพืชฤดูฝนออกจากแปลง
ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะ
๑) ป้องกันหรือระงับการเจริญเติบโตของวัชพืช
๒) ปล่อยให้ดินมีโอกาสดูดซับน้ำฝนเก็บไว้ได้ในอัตราสูงสุด
๓) ให้เวลาในการเน่าเปื่อยของอินทรียวัตถุที่เหลือค้างในดิน
ถ้าพื้นที่มีขนาดเล็ก ไถด้วยแรงสัตว์ หรือรถไถเดินตาม ถ้าพื้นที่มีขนาดใหญ่ ก็ใช้แทรกเตอร์ใหญ่ไถ เมื่อดินยังหมาดอยู่
ไถดะ ๑ ครั้ง หลังจากนั้น ๑-๒ สัปดาห์ ก็ไถแปรหรือไถพรวน เพื่อให้ดินแตกย่อย แล้วปรับพื้นที่ให้เรียบ
เวลาปลูก
ข้าวสาลีงอกได้ดีและสม่ำเสมอในดินที่มีความชื้นพอเหมาะ
เมล็ดข้าวสาลีไม่มีเปลือกแข็งหุ้มเมล็ด ดังนั้น
การงอกของเมล็ดของข้าวสาลีจึงไม่จำเป็นที่ต้องการน้ำมาก
เกษตรกรควรหยอดเมล็ดข้าวสาลีลงไปในดินที่มีความชื้นพอสมควร เช่น
การหยอดหลังจากมีฝนตก และดินดูดซับความชื้นไว้อย่างดีแล้ว
การปลูกข้าวสาลีก่อนฤดูปลูกมากเกินไป
จะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ที่เนื่องมาจาก
(๑) ฝนยังตกชุก ทำให้ดินมีความชื้นมากเกินไป ทำให้เกิดปัญหากล้าเน่าตายมาก
(๒) อุณหภูมิสูงอยู่ ทำให้เร่งการเจริญเติบโต และการพัฒนาตัวของต้นข้าวสาลี สภาพเช่นนี้ทำให้ระยะเวลาการสร้างลำต้นสั้นเกินไป
ในทางตรงกันข้าม
ถ้าปลูกข้าวสาลีล่าช้าเกินไป ทำให้ข้าวสาลีพลาดฝนปลายฤดู
และเป็นช่วงที่อัตราการสูญเสียน้ำในดินจะค่อนข้างรวดเร็ว
ในกรณีนี้น้ำจะเป็นปัจจัยจำกัดการเจริญเติบโต และผลิตผลข้าวสาลีอย่างรุนแรง
การหยอดเมล็ด
ไม่ว่าจะเลือกวิธีการหยอดเมล็ดวิธีใดก็ตาม วัตถุประสงค์หลักของการหยอดเมล็ด
ก็เพื่อให้พืชมีการตั้งตัวที่ดี สำหรับข้าวสาลี
อัตราการตั้งตัวดี สามารถวัดได้จากจำนวนประชากรของต้นงอก ซึ่งไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ต้น/
ตารางเมตร อัตราการปลูกหรือหยอดอาจจะผันแปรไปตามเกษตรกรรายต่างๆ ในการที่จะได้อัตราการตั้งตัวข้าวสาลีดังกล่าว ปัจจัยสำคัญ
ได้แก่ สภาพดิน และวิธีการปลูกหรือหยอด ซึ่งจะมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม
การหยอดเมล็ดให้ได้ความลึกที่เหมาะสม จะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตอาศัยน้ำฝน
ข้าวสาลีที่หยอดตื้น (๐-๒ เซนติเมตร
ลึกจากผิวดิน) จะมีผลเสียต่อข้าวสาลีดังนี้
ก) รากไม่สามารถหยั่งลงได้ลึก เนื่องจาก
รากขาดน้ำ
ข) มีการสร้างต้นแขนง (tillers) หรือการแตกกอน้อย
ค) ต้นแม่ออกรวงเร็วเกินไป เนื่องจากผิวดินมีอุณหภูมิสูง
ดังนั้น เมล็ดข้าวสาลีควรอยู่ลึกในดิน
ประมาณ ๒-๓ เซนติเมตร ซึ่งเป็นความลึกที่เมล็ดอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม และได้รับความชื้นเพียงพอ
การปลูก
ก) ปลูกเป็นแถว
โดยปรกติไม่นิยมยกร่องสูง
แต่จะแบ่งเป็นแปลง ขนาดกว้าง ๔-๕ เมตร เว้นทางเดินระหว่างแปลงประมาณ ๔๐-๕๐
เซนติเมตร แล้วเปิดร่องปลูก สำหรับหยอดเมล็ด โดยใช้คราดลาก
หรือใช้ผาลขนาดเล็กเปิดร่อง ระยะห่างระหว่างร่องปลูก ๒๐-๒๕ เซนติเมตร
ถ้าพื้นที่มีขนาดใหญ่ อาจปลูกโดยใช้เครื่องหยอดเมล็ดก็ได้
ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ ๑๖-๒๐ กิโลกรัม/ไร่
โรยเมล็ดซึ่งผสมปุ๋ยเคมีไว้แล้ว ลงไปตามร่องปลูก
เกลี่ยดินกลบร่องปลูกไม่ให้เห็นเมล็ด เมื่อกลบแล้ว เมล็ดควรฝังอยู่ในดิน
๑-๒ เซนติเมตร
ข) ปลูกโดยวิธีหว่าน
เมื่อไถพรวนดินอย่างดีแล้ว ไม่มีการยกแปลง หว่านเมล็ดในอัตรา ๒๐ กิโลกรัม/ไร่
แล้วคราดกลบ
ค) ปลูกโดยวิธีหยอดเป็นหลุม
เมื่อไถพรวนอย่างดีแล้ว
ไม่มีการยกแปลง ใช้ไม้แหลมกระทุ้งหลุมให้ได้ความลึก ๔-๕ เซนติเมตร
ระยะห่างระหว่างหลุมภายในแถว ประมาณ ๑๒ เซนติเมตร
กะระยะห่างระหว่างแถวให้ได้ ๒๐ เซนติเมตร หยอดเมล็ดซึ่งผสมปุ๋ยเคมีไว้แล้ว
ลงไปในหลุม ประมาณ ๗-๘ เมล็ดต่อหลุม กลบหลุมด้วยขี้เถ้าแกลบ
หรือขี้เถ้าฟางผสมปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก
๒. ปลูกในสภาพนา
๑) ไม่มีการเตรียมดิน
ก) ตัดตอซังข้าวให้ชิดดิน ปลูกโดยหยอดเมล็ดลงในตอซังข้าว
หรือใช้เครื่องหยอดเมล็ดเป็นแถว ระยะระหว่างแถว ๒๐ ซม. อัตราเมล็ด ๒๐
กก./ไร่ แบ่งพื้นที่เป็นแปลงๆ โดยการขุดร่องน้ำภายในกระทงนา กว้าง ๐.๕
เมตร ความกว้างของแปลงประมาณ ๒.๕-๕ เมตร ความยาวของแปลงตามขนาดของกระทงนา
แต่ไม่ควรยาวกว่า ๓๐ เมตร เมื่อหยอดเมล็ดแล้ว ให้เกลี่ยฟางคลุมดิน
อาศัยความชุ่มชื้นที่คงเหลืออยู่ในดิน เพื่อช่วยในการงอกของเมล็ด หลังจากเมล็ดงอกแล้ว จึงใส่ปุ๋ยแต่งหน้า และพูนโคน
ข) เผาตอซังข้าว แล้วจึงหว่านเมล็ดในกระทงนา แล้วเกลี่ยขี้เถ้ากลบ
๒) พลิกดินน้อยครั้ง
ในสภาพบางพื้นที่ การพลิกดินโดยการไถพรวนมากครั้งเกินไป อาจไม่เหมาะสม
จึงอาจไถครั้งเดียว ไม่ยกแปลง หว่านเมล็ด แล้วพรวนดินกลบ หรือเอาฟางข้าวเกลี่ยกลบ
๓)มีการพลิกดิน
๓.๑) สภาพนาดินเหนียว
- ควรปลูกข้าวนาปีที่เป็นข้าวอายุเบา เพื่อให้มีเวลาเพียงพอ สำหรับการเตรียมดิน หลังจากเกี่ยวข้าว ปล่อยให้ดินหมาด แล้วจึงไถดะ ๑
ครั้ง ไถพรวน ๓ ครั้ง ใช้แทรกเตอร์ยกแปลง
กว้าง ๑.๕-๒ เมตร ร่องน้ำกว้าง ๐.๕๐ เมตร
- ปลูกเป็นแถว ระยะระหว่างแถว ๒๐
ซม. อัตราเมล็ด ๒๐ กิโลกรัม/ไร่
- ถ้าดินมีสภาพเป็นกรด ใส่ปูนขาวปรับ
pH ของดิน อัตรา ๒๒๐ กิโลกรัม/ไร่
๓.๒) สภาพนาดินร่วนเหนียวปนทราย
(sandy clay loam)
- ควรปลูกข้าวนาปีที่เป็นข้าวอายุกลาง
เตรียมดินด้วยรถไถเดินตาม โดยการไถตาม
ด้วยการตีดิน โดยใช้จอบหมุนขนาดเล็ก
- ไม่ควรใช้แทรกเตอร์ขนาดใหญ่
เพราะจะย่อยดิน จนเป็นก้อนละเอียดเกินไป
อนุภาคของดินจะจับเป็นแผ่นคราบแข็งบนบริเวณผิวหน้าดิน
ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากการให้น้ำท่วมผิวดิน แล้วปล่อยให้ดินแห้ง
ปิดกั้นการโผล่ของต้นอ่อนของข้าวสาลี และยากต่อการซึมของน้ำ
เมื่อมีการให้น้ำครั้งต่อๆ ไป
- ปลูกเป็นแถว ระยะระหว่างแถว ๒๐
เซนติเมตร อัตราเป็นเมล็ด ๒๐ กก./ไร่
การกำจัดวัชพืช
การปลูกข้าวสาลีโดยอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว
เกษตรกรจะพึ่งพาได้แต่เพียงเฉพาะน้ำในดินที่จะเหือดแห้งไปเรื่อยๆ
วัชพืชเป็นตัวสำคัญที่จะแก่งแย่งน้ำในดินและปุ๋ยจากข้าวสาลี
วัชพืชยังเป็นตัวที่ทำให้การเก็บเกี่ยวมีความยากลำบากขึ้น
ต้องพยายามรักษาแปลงให้ปราศจากวัชพืชในช่วง ๔ สัปดาห์แรก หลังจากนั้น
ข้าวสาลีจะตั้งตัวแล้ว สามารถปกคลุมวัชพืชไม่ให้แย่งน้ำและปุ๋ยได้
โดยปรกติ การกำจัดวัชพืชโดยแรงคนเพียงครั้งเดียว ในช่วง ๒ สัปดาห์แรก หลังปลูก จะพอเพียงในการป้องกัน และกำจัดวัชพืชในข้าวสาลี
ในสภาพที่มีการชลประทาน เมื่อทำการหยอดเมล็ด ทดน้ำเข้าแปลงแล้ว
ต้องป้องกันมิให้วัชพืชงอก โดยพ่นสารเคมีให้ทั่วผิวหน้าดินภายในเวลา ๓
วันหลังปลูก เพื่อทำลายเมล็ดวัชพืชที่อยู่บนผิวดิน
สารเคมีที่ใช้พ่นมีดังนี้
ตำรับที่ ๑ ใช้บิวตาคลอร์ (Butachlor) จำนวน ๐.๔ ลิตร ผสมน้ำ ๕๐ ลิตร พ่นได้ ๑ ไร่
ตำรับที่ ๒ ใช้รอนสตาร์ (Ronstar) จำนวน ๐.๕ ลิตร ผสมน้ำ ๕๐ ลิตร พ่นได้ ๑ ไร่
การให้น้ำ
ข้าวสาลีเป็นพืชที่ไม่สามารถทนต่อสภาพน้ำขัง
หรือดินเปียกชื้นได้ยาวนาน
การให้น้ำข้าวสาลีทันทีหลังจากหยอดเมล็ด จึงค่อนข้างอันตราย
ถ้าปลูกในสภาพความชื้นเหมาะสม
การให้น้ำครั้งแรก กระทำเมื่อข้าวสาลีงอกได้ประมาณ ๒ สัปดาห์
ซึ่งในเวลานั้นข้าวสาลีตั้งตัวได้เป็นอย่างดีแล้ว
การให้น้ำแต่ละครั้งควรให้ทั่วสม่ำเสมอทั้งแปลง
และปล่อยน้ำไว้ในร้องน้ำมานานจนมั่นในว่าน้ำซีมเข้าสู่ดินเป็นอย่างดีผลตามมาคือ
การเจริญเติบโตของระบบรากที่ดี
ไม่ควรปล่อยน้ำขังนานเกินไปจนทำให้ดินแฉะหรืออิ่มตัว
ข้อสังเกต
หลังจากการให้น้ำแต่ละครั้ง ถ้ามีการปฏิบัติดี
ดินจะดูดซับน้ำหมด ทำให้ไม่มีน้ำเหลืออยู่ในแปลงหลังจากให้น้ำ ๒๔ ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม การจัดการน้ำย่อมผันแปรไปกับลักษณะของดินแต่ละชนิดในแปลงเกษตรกร
ระยะวิกฤติของต้นข้าวสาลีที่ไม่ควรขาดน้ำ ได้แก่
(๑) ระยะที่ข้าวสาลีกำลังแตกรากจากข้อใต้ดิน (๑๕ วันหลังจากเมล็ดงอก)
(๒) ระยะเริ่มสร้างรวงอ่อน (๒๐ วัน
หลังเมล็ดงอก) (๓) ระยะออกรวง
(๔) ระยะสร้างเนื้อเมล็ด
ในสภาพที่มีน้ำไม่พอเพียง
การให้น้ำเพียง ๒ ครั้งในช่วง ๓๐ วันแรก
ข้าวสาลีจะสามารถให้ผลิตผลในระดับที่น่าพอใจ การให้น้ำมีความถี่มากขึ้น
เป็นการช่วยเพิ่มผลิตผลข้าวสาลีจากระดับที่น่าพอใจนี้
ในดินบางชนิด การให้น้ำท่วมแปลงอาจ
จะทำให้หน้าดินแข็ง ถ้ามีการกำจัดวัชพืช โดยใช้จอบถาก ตามหลังการให้น้ำ จะช่วยระบาย
อากาศในดินให้ดีขึ้น
การตรวจสอบความต้องการน้ำของข้าวสาลี
สามารถสังเกตจากการจับตัวของเม็ดดิน โดยวิธีขุดลงไปในดินลึกประมาณ ๑๐
เซนติเมตร หรือบริเวณที่อยู่ใต้ผิวดินใกล้บริเวณราก และจะสังเกตได้
โดยใช้นิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้จับดินมาบีบ
ถ้าหากเม็ดดินสามารถจับตัวกันได้ไม่แตกแยกออกจากกัน
แสดงว่าความชื้นกำลังพอดี ไม่จำเป็นต้องให้น้ำ ถ้าหากดินที่บีบแตกร้าว
ไม่จับตัว หรือยุ่ยเป็นผง ต้องให้น้ำทันที
ข้าวสาลีต้องการน้ำตลอดฤดูกาลประมาณ
๔๕๐ มิลลิเมตร
ธาตุอาหารที่พืชต้องการ
ไนโตรเจน
มีหน้าที่หลักในการสร้างสีเขียวของพืช คือ คลอโรฟีลล์
ซึ่งเป็นตัวปรุงอาหาร ไนโตรเจนยังสร้างความเจริญเติบโตให้กับต้นและเมล็ด
ทำให้พืชแตกกอดี มีเมล็ดมากและสมบูรณ์ หากพืชขาดไนโตรเจน ใบจะมีสีเหลือง
และซีดจากปลายใบเข้ามา ต้นจะแคระแกร็น ผลิตผลต่ำ
ข้าวสาลี เป็นพืชที่ตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจนมาก การตอบสนองนี้จะสังเกตเห็นได้ชัดเจน แม้มีการให้ปุ๋ยในอัตราต่ำ
ฟอสฟอรัส
เป็นธาตุที่ช่วยในการเจริญเติบโต
ช่วยให้รากและลำต้นแข็งแรง ไม่ล้มง่าย ผลิตผลมีคุณภาพดี
ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคบางชนิดให้กับพืชอีกด้วย
หากขาดฟอสฟอรัส รากจะไม่เจริญเท่าที่ควร ลำต้นแคระแกร็น รวงเล็ก ไม่สมบูรณ์
ในสภาพการปลูกพืช โดยอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว
การเจริญเติบโตของระบบรากมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
เพื่อให้ข้าวสาลีมีความสามารถในการใช้ความชื้น และธาตุอาหารต่างๆ
จากดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดินที่ออกสีแดงในที่สูงส่วนมากพบว่า ขาดฟอสฟอรัส
โพแทสเซียม
มีหน้าที่หลักในการช่วยสร้างน้ำตาล แป้ง และเซลลูโลส
ช่วยให้รากของพืชดูดน้ำได้ดียิ่งขึ้น
พืชที่ขาดโพแทสเซียมจะเจริญเติบโตช้า ให้ผลิตผลต่ำ คุณภาพผลิตผลก็ด้อย
กำมะถัน
เป็นธาตุที่ช่วยสร้างโปรตีน ทำให้แป้งมีคุณภาพดี
หากขาดธาตุนี้ จะทำให้การยืดลำต้นไม่ดี แตกกอน้อย ใบเหลืองซีด
แป้งมีคุณภาพไม่ดี
โบรอน
เป็นธาตุที่ช่วยในการเคลื่อนย้ายอาหารที่ได้จากการสังเคราะห์แสง
และมีหน้าที่ในการสังเคราะห์กรดนิวคลิอิก และโปรตีน เกี่ยวข้องกับเมแทบอลิซึมของออกซิเจน และแคลเซียม และการใช้ฟอสเฟตในพืช
โบรอนเป็นธาตุที่จำเป็นต่อการพัฒนาของช่อดอก
โบรอนมีส่วนช่วยให้ได้ละอองเรณูที่สมบูรณ์ และมีชีวิต
และช่วยให้การเจริญเติบโตของท่อทางเดินของละอองเรณูเป็นปรกติ
ข้าวสาลีที่ขาดโบรอนจะมีอาการแคระแกร็น ใบเหลืองซีด ใบเป็นร่อง หรือฉีกเป็นริ้ว
ขอบใบเป็นรอยย่น ออกรวงแล้วผสมไม่ติด เป็นหมันมาก
|
|