สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 17
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๗ / เรื่องที่ ๑๐ ข้าวสาลี / การเก็บเกี่ยว
การเก็บเกี่ยว
การเก็บเกี่ยวข้าวสาลี จะมัดเป็นกำ แล้วนำไปแตกแดด
การนวดข้าวสาลีโดยใช้ไม้ตีรวงข้าวสาลี
เครื่องนวดข้าวสาลี |
การเก็บเกี่ยว
เมล็ดข้าวสาลีจะแก่จัด
พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้ภายใน
๓๐-๔๕ วันหลังจากออกรวง ซึ่งเป็นระยะที่ลำต้นและรวงมีลักษณะแห้ง
ปลายรวงจะชี้ลงดิน ข้อที่ลำต้นหมดสีเขียว เมล็ดแข็ง
เมื่อลองใช้ฟันขบเมล็ดดูจะเห็นว่า เมล็ดเปราะเกี่ยวโดยใช้เคียวตัดลำต้น
มัดเป็นกำขนาดประมาณ ๑๕-๒๐
เซนติเมตร วางกำข้าวสาลีพิงกัน โดยให้รวงอยู่ข้างบน
กองหนึ่งมีข้าวสาลีประมาณ ๑๒-๑๕ กำ วางกองข้าวสารบนพื้นดินแห้ง
ทิ้งช่องระหว่างกองพอสมควร ควรวางกองให้อยู่เป็นกลุ่มใหญ่ๆ
เพื่อความสะดวกในการดูแล ตากแดดไว้ประมาณ ๓-๕ วัน
เมื่อตากแดดได้ที่แล้ว จึงนวด วิธีนวดก็คือ
ฟาดกำข้าวสาลีกับกระบุงขนาดใหญ่ ที่มีใช้กันอยู่ทางภาคเหนือ
ใช้ไม้ตีกำข้าวที่วางอยู่บนพื้น หรือใช้สัตว์ย่ำ หรือทำยกพื้นขึ้นมา
วางกำข้าวสาลีบนยางรถยนต์ แล้วใช้ไม้ตี หรือนวดด้วยเครื่อง เมื่อนวดแล้ว
เมล็ดกับเปลือกจะหลุดออกจากกัน ต่อจากนั้น ใช้กระด้งฝัดเมล็ดให้สะอาด
ควรหาเสื่อรองพื้น ระวังขี้ดินปนติดมา
เมื่อนวดได้เมล็ดข้าวสาลีแล้ว จะต้องนำเมล็ดไปตากแดดอีก
ให้เกลี่ยเมล็ดข้าวสารบนพื้นลาด ตากในวันที่มีแดดจัด
อุณหภูมิของเมล็ดบนลานจะต้องขึ้นสูงถึง ๕๐ ๕๒ ๕๒ องศาเซสเซียส
เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า ๒ ชั่วโมง จากนั้น รวมเมล็ดให้เป็นกอง
โดยอุณหภูมิของเมล็ดในกองไม่ต่ำกว่า ๔๖ องศาเซสเซียส ทิ้งกองไว้ประมาณ ๓
ชั่วโมง ความชื้นของเมล็ดจะต่ำกว่า ๑๒ %
แล้วนำเมล็ดไปเก็บในถังพลาสติกหรือถังเหล็ก ซึ่งไม่มีอากาศถ่ายเท
ถ้าจะให้ดีควรเป็นยุ้งคอนกรีต
ฉาบตัวยุ้งและคลุมกองเมล็ดด้วยวัสดุกันความชื้นและเป็นตัวฉนวนถ่ายเทความร้อน
เพราะอุณหภูมิของเมล็ดที่เก็บไว้ในสัปดาห์แรกไม่ควรต่ำกว่า ๔๐
องศาเซสเซียส
ปัญหาใหญ่ในช่วงเก็บรักษาข้าวสาลี คือ
ความเสียหายอันเนื่องจากมอดในโรงเก็บ
มอดเหล่านี้จะเข้าทำลายความเสียหายต่อเมล็ดข้าวสาลีได้ง่าย
เพราะเมล็ดข้าวสาลีไม่มีเปลือกแข็งห่อหุ้ม
มอดที่พบมากได้แก่
มอดข้าวสาร หรือ ด้วงงวงข้าว (Rice weevil - Sitophilus oryzae L.)
ลักษณะลำตัวสีน้ำตาลแก่ จนถึงสีดำ ลำตัวยาวประมาณ ๔ มิลลิเมตร
ส่วนหัวเรียวแหลมยาวออกมา ลักษณะคล้ายงวง
แมลงชนิดนี้กัดกินเมล็ด จนเป็นดักแด้ จะเจาะเมล็ดออกมา เมื่อเป็นตัวแก่
ดังนั้น เมล็ดข้าวสาลีที่ถูกแมลงนี้ทำลาย จึงเป็นรูและข้างในเป็นโพรง
ใช้ประโยชน์ไม่ได้
มอดข้าวเปลือก หรือ มอดหัวป้อม (Lesser grain borer - Phyzopertha dominica F.)
ลักษณะลำตัวสีน้ำตาลแก่ ตัวกลมป้อม และหัวสั้น ลำตัวยาวประมาณ ๓ มิลลิเมตร
ทำลายข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวสาลีและแป้งด้วย
ตัวเมียวางไข่ได้มากกว่าร้อยฟองบนผิวเมล็ด
ตัวหนอนอาศัยกินอยู่ในเมล็ด จนกลายเป็นตัวแก่
จึงเจาะรูออกมา ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน
ตัวแก่ยังแทะเล็มเมล็ดให้เป็นรอย หรือเป็นรูด้วย
และยังขับถ่ายสิ่งสกปรกออกมา
มอดแป้ง
มีสองชนิด คือ Red flour beetle (Tribolium
castancum Hbst.) และ Confused flour beetle (Tribolium confusum Duv.)
เป็นมอดสีน้ำตาลปนแดง ขนาดลำตัวยาวประมาณ ๒.๕-๔.๕ มิลลิเมตร
ลำตัวค่อนข้าวแบนชอบทำลายเมล็ดที่ถูกมอดข้าวสาร
หรือมอดข้าวเปลือกกัดกินไปแล้ว
มอดฟันเลื่อย (Saw-toothed grain beetle Oryzaephilus surinamensis L.)
เป็นมอดสีน้ำตาลแดง ลำตัวยาวประมาณ ๒.๕-๓.๐
มิลลิเมตร ชอบทำลายเมล็ดข้าวสาลีที่ถูกมอดข้าวสาร หรือมอดข้าวเปลือกกัดกินไปแล้ว
พบมากในโรงยุ้งที่สกปรกและอบ ทำลายเมล็ดธัญพืชได้หลายชนิด
ปริมาณการขยายตัวของจำนวนมอดจะลดลงได้โดย
(๑) สภาพในโรงเก็บและเมล็ดมีความชื้นต่ำ
(๒) เก็บไม่ให้มีอากาศถ่ายเท
(๓) อุณหภูมิต่ำ
ดังนั้น การเก็บรักษาข้าวสาลีที่ดีควรปฏิบัติดังนี้
(๑) ก่อนเอาเข้าโรงเก็บ เมล็ดต้องแห้ง (โดยมีความชื้นต่ำกว่าร้อยละ ๑๒)
(๒) เก็บเมล็ดไว้ในภาชนะที่ปิดได้มิดชิด เพื่อ
(๒.๑) ป้องกันไม่ให้มอดเข้าถึงเมล็ด
(๒.๒) ป้องกันความชื้นและอากาศถ่ายเท ถ้าเป็นไปได้
ถ้าเป็นถังที่มีฝาบนเปิด ให้โรยขี้เถ้ากลบเมล็ดที่ปากถัง
และใช้ผ้าพลาสติกคลุมปากถัง ก่อนปิดฝาถัง เพื่อป้องกันไม่ให้มอดเข้าทำลาย ห้ามมิให้เก็บข้าวสาลีในกระสอบ
หรือกองไว้ในโรงเก็บข้าว (เป็นแหล่งที่อยู่ของมอด)
หลังจากเก็บรักษาเมล็ดไว้ได้เป็นเวลา ๒ เดือน
ให้ตรวจสอบเมล็ดว่า มีมอดเข้าทำลายหรือไม่ โดยใช้มือคลุกเคล้าเมล็ด
แล้วรอดูผลสักครูหนึ่ง ถ้ามีมอดปรากฏขึ้นมา ให้นำเอาเมล็ดออกตากแดด
ทำความสะอาดเมล็ดใหม่ เพื่อขจัดไข่ของมอดและเศษต่างๆ
ที่เป็นอาหาร ก่อนนำเมล็ดที่ตากแดดแล้ว เข้ารักษาไว้ในโรงเก็บ
|
|