การแพร่พันธุ์ ขยายพันธุ์ และการผสมพันธุ์ของพืช - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 17
เล่มที่ ๑๗
เรื่องที่ ๑ ช้างเผือก
เรื่องที่ ๒ ฉันทลักษณ์ไทย
เรื่องที่ ๓ ระบบนิเวศ และความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับสิ่งมีชีวิต
เรื่องที่ ๔ โรคตับอักเสบจากไวรัส
เรื่องที่ ๕ ของเสียที่เป็นอันตราย
เรื่องที่ ๖ การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์
เรื่องที่ ๗ ปอแก้วปอกระเจา
เรื่องที่ ๘ พืชเส้นใย
เรื่องที่ ๙ การปรับปรุงพันธุ์พืช
เรื่องที่ ๑๐ ข้าวสาลี
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๗ / เรื่องที่ ๙ การปรับปรุงพันธุ์พืช / การแพร่พันธุ์ ขยายพันธุ์ และการผสมพันธุ์ของพืช

 การแพร่พันธุ์ ขยายพันธุ์ และการผสมพันธุ์ของพืช
การทาบกิ่ง
การทาบกิ่ง

การเสียบยอด
การเสียบยอด

ทิวลิปเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ด้วยหัว
ทิวลิปเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ด้วยหัว

พืชที่ผสมตัวเอง : ดอกถั่วเขียว
พืชที่ผสมตัวเอง : ดอกถั่วเขียว
การแพร่พันธุ์ ขยายพันธุ์ และการผสมพันธุ์ของพืช

พืชสามารถแพร่พันธุ์ หรือขยายพันธุ์ให้ดำรงชีวิตสืบต่อไปในช่วงหลังๆ ได้ ๒ วิธี คือ

๑. วิธีที่ไม่ผ่านการผสมเกสร

ซึ่งวิธีนี้ยังแบ่งออกเป็น ๒ วิธี คือ
 
ก. ขยายจากส่วนที่ใช้ในการเจริญเติบโต เช่น ขยายด้วยการปักชำ การตอน การเสียบยอด การทาบยอด การติดตา การแยกหน่อและหัว เป็นต้น

ข. ขยายจากส่วนของดอกที่ไม่ผ่านการ ผสมเกสร เช่น เมล็ดมะม่วงและส้มบางชนิด ที่เมื่อเพาะเมล็ดเดียว จะงอกต้นพร้อมกันหลายต้น ต้นพืชเหล่านั้นจะมีเพียงต้นเดียวที่เกิดจากการผสมเกสร ส่วนต้นอื่นจะงอกจากส่วนของเมล็ดโดยไม่ผ่านการผสมเกสร ตัวอย่างพืชอีกชนิดหนึ่งได้แก่ เมล็ดของมังคุด ซึ่งต้นที่งอกจากเมล็ด จะเป็นต้นที่ไม่ได้ผ่านการผสมเกสรทั้งสิ้น 

๒. วิธีที่ผ่านการผสมเกสร

เป็นวิธีที่สำคัญในการปรับปรุงพันธุ์พืช เพราะพืชที่เพาะจากเมล็ด จะมีลักษณะผสมกันระหว่างต้นพ่อ และต้นแม่ และสามารถคัดเลือกลักษณะที่ดีในชั่วลูกหลานได้ แต่พืชจะเกิดเมล็ดได้ จะต้องได้รับการผสมพันธุ์ หรือการที่เรณูเกสรตัวผู้ ปลิวมาตกบนเกสรตัวเมีย และเกิดการผสมกับไข่ในรังไข่ที่อยู่บริเวณโคนเกสรตัวเมีย แล้วเจริญเติบโตเป็นเมล็ดพืชในระยะต่อมา ส่วนดอกและรังไข่ ก็จะเจริญเติบโตเป็นผลของพืชนั้น เมื่อผลสุก และเมล็ดแก่ เมล็ดพืชนั้นก็พร้อมที่จะนำไปเพาะในสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อเะจริญเติบโตเป็นพืชต้นใหม่

เนื่องจากพืชมีลักษณะดอกประเภทต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว จึงทำให้มีลักษณะการผสมพันธุ์ของพืชแบ่งออกได้เป็น ๒ ลักษณะ เราจึง สามารถแบ่งพืชออกได้เป็น ๒ ลักษณะ ตามลักษณะของการผสมพันธุ์ ดังนี้

๑. พืชที่ผสมตัวเอง

หมายถึง พืชที่เกสรตัวเมียของดอก ผสมกับเรณูเกสรของดอกเดียวกัน หรือของดอกอื่น แต่จากต้นเดียวกัน พืชที่มีลักษณะดังกล่าวนี้ เช่น ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วสิสง ยาสูบ และมะเขือเทศ เป็นต้น

สาเหตุที่ทำให้พืชผสมตัวเองมีหลายสาเหตุด้วยกัน แต่ที่สำคัญ ได้แก่

ก. การผสมเกสรระหว่างเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย เกิดก่อนดอกบาน

ข. เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย มีลักษณะพิเศษ มีส่วนที่หุ้มให้ติดกันอยู่

ค. เกสรตัวเมียอาจจะยื่นผ่านกลุ่มเกสรดอกตัวผู้ ขณะที่ดอกตัวผู้สลัดเกสร

๒. พืชที่ผสมข้ามต้น


หมายถึง พืชที่เกสรตัวเมียของดอก ผสมด้วยเรณูเกสรของดอกจากต้นอื่น พืชชนิดนี้ตัวอย่าง ได้แก่ ข้าวโพด ละหุ่ง มะม่วง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

การที่พืชต้องผสมข้ามต้น เพราะสาเหตุต่างๆ ดังนี้ คือ มีดอกเพศไม่สมบูรณ์ มีดอกสองบ้าน ดอกสมบูรณ์เพศ แต่เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย มีระยะสืบพันธุ์ไม่พร้อมกัน มีดอกที่ไม่สามารถผสมตัวเองได้ เนื่องจากลักษณะทางพันธุกรรม ทำให้เป็นหมัน

๓. พืชที่มีลักษณะเป็นทั้งผสมตัวเองและผสมข้ามต้น

พืชบางชนิดเป็นพืชที่ผสมตัวเองส่วนใหญ่ แต่จะผสมข้ามต้นบ้าง และปริมาณการผสมข้ามต้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมหลายประการ เช่น อุณหภูมิ และความชื้นของบรรยากาศ จำนวนผึ้ง และกำลังกระแสลม เป็นต้น ตัวอย่างของพืชประเภทนี้ได้แก่ ฝ้าย ซึ่งจะผสมข้ามต้นได้ประมาณร้อยละ ๕-๒๕ และข้าวฟ่าง ซึ่งผสมข้ามต้นได้ประมาณร้อยละ ๕
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป