สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 18
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๑๘ / เรื่องที่ ๖ ภาษา และอักษรไทย / ภาษาและอักษรไทย
ภาษาและอักษรไทย
ภาษาเป็นระบบการสื่อสารที่ใช้ในการติดต่อกัน :การใช้โทรศัพท์
ภาษาเป็นระบบการสื่อสารที่ใช้ในการติดต่อกัน :ภาษามือ สำหรับคนหูหนวก
การเล่นโขน |
ภาษา เป็น ระบบการสื่อสาร ที่มนุษย์ใช้ในการติดต่อกัน
โดยธรรมชาติแล้ว ภาษาเป็นเสียง เป็นการพูด
เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์โลกอื่นๆ ทั้งปวง
ไม่มีสัตว์โลกอื่นใดอีก ที่สามารถใช้ภาษาได้ในลักษณะเดียวกับมนุษย์
ภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุด ที่มนุษย์ใช้พัฒนาตัวเอง
ความเจริญและอารยธรรมต่างๆ
เกิดขึ้นมาได้ก็เพราะมนุษย์มีภาษาใช้เป็นเครื่องมือทั้งสิ้น
ภาษาทำให้มนุษย์สามารถคิด วิเคราะห์ แยกแยะสิ่งต่างๆ สร้างจินตนาการ
หาเหตุผล ให้เหตุผลและแสดงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ให้ผู้อื่นรับทราบได้
ถ้าเราไม่มีภาษาการคิดหรือการคิดค้นใดๆ ก็คงมีขึ้นไม่ได้
และเราคงไม่มีศาสนา การปกครอง วรรณกรรม ปรัชญา และศิลปะต่างๆ
ดังที่เรามีอยู่ในทุกวันนี้
ภาษาเป็นของคู่กับสังคมมนุษย์ ที่ใดมีสังคม
ที่นั่นย่อมต้องมีภาษาใช้
มนุษย์ในสังคมต้องใช้ภาษาเป็นสื่อกลาง สำหรับติดต่อกันในทุกๆ ด้าน
คนที่เป็นเพื่อนกันใช้ภาษาคุยกัน
คนที่ทำงานด้วยกัน ใช้ภาษาเป็นสื่อกลางในการทำงาน
คนที่เป็นพ่อแม่ใช้ภาษาสั่งสอนลูก คุยกับลูก
คนที่เป็นลูกใช้ภาษาเพื่อเข้าใจ แสดงวามคิดเห็น ความต้องการ
คนที่เป็นครูอาจารย์ใช้ภาษาถ่ายทอดความรู้ และวิชาการต่างๆ ฯลฯ
เหล่านี้เห็นได้ว่า การใช้ภาษาต้องมีสองฝ่ายหรือสองคนขึ้นไปเสมอ
ภาษาจึงเป็นเรื่องของังคมด้วย
เด็กไทยที่เกิดในสังคมไทยเมื่อหัดพูดภาษาไทยนั้น
นอกจากเรียนออกเสียงพูดให้ชัด ใช้คำ ใช้ประโยคให้ถูก หมือนภาษาไทยของผู้ใหญ่แล้ว
ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้ไปด้วยว่า จะพูดอะไร กับใคร เมื่อใด และพูดอย่างไร
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างกันไปตามแต่ละภาษา
ในแง่หนึ่ง ภาษาจึงเปรียบเสมือนแหล่งรวมพฤติกรรม และประสบการณ์ต่างๆ
ของชีวิตในแต่ละสังคม
และการหัดพูด หรือการเรียนรู้ภาษาของเด็ก จึงเป็นการเรียนรู้ถึงชีวิต และประสบการณ์ต่างๆ
ในชีวิตของสังคมนั้นๆ ไปด้วย
ในฐานะเป็นแหล่งรวมพฤติกรรม และประสบการณ์ต่างๆ
ของชีวิตของคนในสังคม ภาษาทำหน้าที่เสมือนบันทึกของสังคมด้วย
สิ่งใดที่เคยปรากฏมีในสังคม ที่คนในสังคมเคยกล่าวถึง
หรือเคยมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องด้วย สิ่งนั้นก็มีปรากฏเป็นคำใช้อยู่ในภาษา
จากคำในภาษาไทยที่เป็นมรดกตกทอดกันมานานนับพันปีนั้น
เราสามารถมองเห็นลักษณะของสังคมของคนไทยโบราณได้หลายแง่มุม เช่น คำว่า นา
ข้าว ไถ หว่าน เกี่ยว บอกให้ทราบว่าคนไทยสมัยโบราณทำนาข้าว
คำเรียกชื่อสัตว์และพืชบางอย่าง เช่น เสือ ลิง ช้าง กล้วย อ้อย งา
บอกให้ทราบว่าสังคมไยโบราณอยู่ในเขตที่มีอากาศร้อน
คำเรียกชื่อของใช้บางอย่าง และคำบอกกิริยาอาการบางอย่าง
บอกให้ทราบว่า มีกิจกรรมอะไรในสังคมโบราณ เช่น เรือ ถ่อ ไหม ทอ
บอกให้ทราบว่าสังคมไทยโบราณอยู่ใกล้แหล่งน้ำ มีการใช้เรือเป็นพาหนะ
และมีการทอผ้า เป็นต้น ฯลฯ
เนื่องจากภาษา
และสังคม มีความใกล้ชิดกันมากดังได้กล่าวมาแล้วนั้น
เมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลง ภาษาก็เปลี่ยนตามไปด้วย
เมื่อคนไทยแยกย้ายกันไปอยู่ตามที่ต่างๆ กัน
และแต่ละถิ่นมีสภาพแวดล้อมที่ต่างกันไป
การเปลี่ยนแปลงของภาษาในแต่ละแห่งก็ต่างกันไปด้วย คนไทยที่ไป อยู่ใกล้ทะเล
ก็มีคำว่า "ทะเล" ใช้เพิ่มขึ้น ในภาษา
กลุ่มที่ไปอยู่ในแหล่งที่มีอากาศหนาว จนน้ำค้างกลายเป็นน้ำแข็งก็มีคำว่า "เหมย"
ใช้ ถิ่นที่ไม่มีสภาพแวดล้อมดังกล่าว ก็ไม่มีคำบอกสภาพแวดล้อมใหม่ใช้
นอกจากนี้กลุ่มคนที่ใช้ภาษาอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกัน
ก็มีอิทธิพลทำให้ภาษาไทยแต่ละแห่ง เปลี่ยนแปลงต่างกันไปด้วย เช่น
คนไทยที่อยู่ใกล้ชิดกับคนพูดภาษาเขมร ก็รับคำภาษาเขมรมาใช้
ส่วนคนไทยที่อยู่ใกล้ชิดกับภาษาจีน ก็ยืมคำจากภาษาจีนไปใช้
กลุ่มคนไทยที่รับวิทยาการความรู้ และเทคโนโลยีจากผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษ
ก็รับคำภาษาอังกฤษเข้ามาใช้พร้อมๆ กับวิทยาการความรู้เหล่านั้น
ทำให้มีคำศัพท์ และการใช้ภาษาที่แตกต่างไปจากภาษาของกลุ่มคนไทย
ที่ไม่ได้รับอิทธิพลจากภาษาอังกฤษ
การเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังกล่าว
ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเองในภาษาแต่ละแห่ง
ทำให้ภาษาไทยที่เป็นมรดกตกทอดมาจากสมัยโบราณแตกต่างกันไปตามถิ่นต่างๆ
ในประเทศไทย ภาษาที่ใช้พูดในถิ่นทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้
และภาคกลาง ก็แตกต่างกัน ทั้งการออกเสียง และการใช้คำศัพท์
สิ่งที่บอกให้รู้ได้ว่า เป็นภาษาไทยเหมือนกัน คือ
คำศัพท์ที่เป็นมรดกตกทอดมาแต่โบราณ ซึ่งมีจำนวนนับได้เป็นพันคำ ได้แก่
คำพื้นๆ ที่ใช้ทั่วไปใน ชีวิตประจำวันในสังคมโบราณที่ยังไม่เปลี่ยนไปใน
สังคมปัจจุบัน เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง นา ไถ เสือ หมา บ้าน หนึ่ง สอง สาม
เจ็ด สิบ กิน นอน คิด ฝัน รัก ได้ ไม่ มา ไป หัว ปาก ตา ผี สี ใหญ่ บาง
ยาว ฯลฯ
|
|