เครื่องปั้นดินเผาสมัยลวปุระ (ลพบุรี) - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 22
เล่มที่ ๒๒
เรื่องที่ ๑ ภาษาศาสตร์
เรื่องที่ ๒ เครื่องถ้วยไทย
เรื่องที่ ๓ เครื่องจักสาน
เรื่องที่ ๔ ไม้ดอกหอมของไทย
เรื่องที่ ๕ เครื่องมือทุ่นแรง และเครื่องจักรกลเกษตร
เรื่องที่ ๖ อาชีวอนามัย
เรื่องที่ ๗ ครอบครัวไทย
เรื่องที่ ๘ สัตว์ทะเลหน้าดิน
เรื่องที่ ๙ ท่าอากาศยาน
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๒ / เรื่องที่ ๒ เครื่องถ้วยไทย / เครื่องปั้นดินเผาสมัยลวปุระ (ลพบุรี)

เครื่องปั้นดินเผาสมัยลวปุระ (ลพบุรี)
ประติมากรรมดินเผาเคลือบสีเขียวน้ำแตงกวา ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๗
ประติมากรรมดินเผาเคลือบสีเขียวน้ำแตงกวา ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๗


คนโทเคลือบสองสี รูปหน้าบุคคล สมัยลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ จากแหล่งเตาเผาบุรีรัมย์
เครื่องปั้นดินเผาสมัยลวปุระ (ลพบุรี)

วัฒนธรรมของรัฐลวปุระ หรือละโว้ ในประเทศไทยนั้น เป็นวัฒนธรรมที่กล่าวได้ว่า ในระยะแรก สืบทอดมาจากวัฒนธรรมทวารวดี จนเมื่อเมืองพระนคร หรือขอมโบราณ มีอำนาจแผ่อิทธิพลมาทางตะวันออกเฉียงเหนือสู่ภาคกลางของรัฐทวารวดี ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ รูปแบบศิลปกรรมในศาสนาฮินดูและพุทธศาสนา ลัทธิมหายานจากเมืองพระนครได้เข้ามาเป็นที่นิยม และเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ในช่วงพุทธศตวรรษ ที่ ๑๘ ในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งเมืองพระนคร โดยมีศูนย์กลางความเจริญอยู่ที่เมืองลวปุระ (ละโว้) ดังนั้นศิลปกรรมของภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในประเทศไทย ที่มีรูปแบบที่คล้ายกับขอมโบราณ เรียกว่า "ศิลปะ ลวปุระหรือลพบุรี" แม้ว่าจะมีรายละเอียดของลักษณะงานศิลปกรรม ที่แตกต่างออกไปบ้างตามรสนิยมของคนท้องถิ่นนี้ ที่นิยมความอ่อนช้อย นุ่มนวล มากกว่าความแข็งกระด้าง ที่แสดงพลังแห่งอำนาจ ที่แฝงอยู่ภายใน อันเนื่องจากพลังแห่งตรีมูรติ ในศาสนาฮินดูร่วมกับหลักธรรมของพุทธศาสนามหายาน ลัทธิวัชรยาน อันก่อให้เกิดลัทธิเทวราชา และพุทธราชาขึ้น

เครื่องถ้วยสมัยลพบุรี มีแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่อำเภอบ้านกรวด และอำเภอละหานทราย ได้พบแหล่งเตาเผาโบราณจำนวนมาก ลักษณะเครื่องถ้วยสมัยลพบุรีเป็นเครื่องถ้วยเคลือบสีเขียวใสแบบสีน้ำแตง กวา เครื่องถ้วยเคลือบสีน้ำตาล และเครื่อง ถ้วยชนิดไม่เคลือบ ทุกแหล่งเตาเผาจะผลิตของ คล้ายกันเกือบทุกประเภท เช่น ตลับทรงฟักทอง ตลับลูกพลับ กระปุกขนาดเล็ก กระปุกรูปนก ประติมากรรมรูปสัตว์ เช่น แพะ ช้าง ม้า กระต่าย ซึ่งมีทั้งแบบตันเป็นรูปสัตว์จริงๆ หรือทำเป็นกระปุก หรือคนทีก็มี นอกจากนี้มีชาม ถ้วย ตะคันทรง ชาม โถทรงโกศ โถทรงแตง ไหเท้า ช้าง ไหไม่มีเชิงขนาดต่างๆ ตั้งแต่ขนาดสูง ๓๐- ๘๐ เซนติเมตร ไหเหล่านี้บางครั้งก็ประดับเป็น รูปหน้าคนที่ส่วนคอไห หรือบางครั้งก็ประดับ ด้วยรูปหัวช้าง หัวม้า หรือหัวกวาง ตามบริเวณ ไหล่ของไห นอกจากนี้ลักษณะการตกแต่งภาชนะ มีทั้งการใช้ลายกลีบบัว ลายขูดขีด ลายกากบาท ชั้นเดียว ลายกากบาทสองชั้น ลายซิกแซก ลาย เส้นคดโค้ง ลายคลื่น ลายโค้งแบบระย้า และลาย หวี เครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้จะขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน รอยในเนื้อดินปั้นที่ก้นภาชนะจะมีลักษณะเป็นวง หมุนเวียนขวาซึ่งเกิดจากการใช้แป้นหมุนอย่าง เด่นชัด ส่วนลวดลายพิเศษที่ใช้ประดับ เช่น รูป หัวช้าง หัวม้า หรือรูปศีรษะคน ก็ใช้แม่พิมพ์กด ออกมาแล้วนำมาต่อเข้ากับตัวภาชนะ เช่น ไห หรือคนโท ที่ขึ้นรูปไว้แล้ว จากนั้นจึงชุบน้ำ เคลือบและนำเข้าเผา

เครื่องถ้วยเหล่านี้ โดยทั่วไปแล้วจะพบอยู่ตามโบราณสถาน ที่สร้างขึ้นในศิลปะแบบลพบุรี อันหมายถึง ศาสนสถานที่สร้างตามแบบศิลปะขอมโบราณซึ่งเรียกกันว่า ปราสาทหิน ทั้งที่อยู่ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ หรืออยู่ในจังหวัดต่างๆ ของภาคอีสานตอนใต้ หรืออีสานส่วนล่าง เช่น จังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ โดยใช้ใน พิธีกรรมภายในศาสนสถาน ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือใช้ในพิธีการเผาศพ โดยนำมาบรรจุอัฐิและ อังคาร ภาชนะดินเผาบรรจุอัฐินี้มีลักษณะพิเศษ เช่น ไหรูปช้าง โถรูปลิง หรือกระปุกที่มีฝาเป็น รูปคน ส่วนใหญ่เมื่อบรรจุอัฐิแล้วจะนำไปฝังไว้ รอบฐานอาคารศาสนสถาน นอกจากนี้พบว่า มีการเขียนข้อความไว้บนเครื่องปั้นดินเผา เช่น กระดึงผูกคอวัว และไหเคลือบสีน้ำตาล ตัวอักษรนี้เมื่อนำไปศึกษาเปรียบเทียบกับอักษรในศิลาจารึก ก็พบว่า มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๙ ทำให้พอจะสันนิษฐาน อายุของเครื่องถ้วยโบราณของจังหวัดบุรีรัมย์ได้ว่า น่าจะมีอายุร่วมสมัยกับปราสาทหิน ที่สร้างขึ้น คือ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๙

เครื่องถ้วยเหล่านี้ผลิตขึ้น เพื่อส่งไปจำหน่าย หรือส่งไป เพื่อใช้ในพิธีกรรมตามศาสนสถาน หรือปราสาทหินที่ต่างๆ ทั้งในอีสานตอนใต้ และในประเทศกัมพูชา รวมทั้งในท้องถิ่นอื่นๆ ภายในประเทศ เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่ ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๙ ทัดเทียมกับเครื่องถ้วยสังคโลกจากเตาเผา ในจังหวัดสุโขทัย ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๒๒
หัว ข้อก่อนหน้า หัว ข้อถัดไป