เครื่องจักสานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 22
เล่มที่ ๒๒
เรื่องที่ ๑ ภาษาศาสตร์
เรื่องที่ ๒ เครื่องถ้วยไทย
เรื่องที่ ๓ เครื่องจักสาน
เรื่องที่ ๔ ไม้ดอกหอมของไทย
เรื่องที่ ๕ เครื่องมือทุ่นแรง และเครื่องจักรกลเกษตร
เรื่องที่ ๖ อาชีวอนามัย
เรื่องที่ ๗ ครอบครัวไทย
เรื่องที่ ๘ สัตว์ทะเลหน้าดิน
เรื่องที่ ๙ ท่าอากาศยาน
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๒ / เรื่องที่ ๓ เครื่องจักสาน / เครื่องจักสานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 เครื่องจักสานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาชนะสานด้วยหวายและไม้ไผ่
ภาชนะสานด้วยหวายและไม้ไผ่

กะต่างวง หรือตะกร้าหิ้วของชาวอีสาน
กะต่างวง หรือตะกร้าหิ้วของชาวอีสาน
เครื่องจักสานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน เป็นภาคที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ครอบคลุมหลายจังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี หนองบัวลำพู มุกดาหาร ภาคอีสานเป็นดินแดนที่แยกจากที่ราบภาคกลาง โดยมีภูเขาที่ยกขึ้นมา ประดุจขอบของที่ราบสูง หันด้านชันไปทางภาคกลาง ด้านใต้มีด้านชันทางที่ราบต่ำเขมร ที่ราบสูงอีสานจะลาดเอียงไปทางตะวันออกเฉียงใต้บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้แม่น้ำสายสำคัญๆ ของภาคนี้ ไหลจากตะวันตกไปยังตะวันออก ไปรวมกับแม่น้ำโขง

นอกจากประชากรในภาคอีสานจะมีความหลากหลายของลักษณะทางชาติพันธุ์แล้ว ยังมีวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียว เช่นเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ในภาคเหนือ แม้ว่าคนอีสานจะบริโภคข้าวเหนียวเหมือนกับคนภาคเหนือก็ตาม แต่เครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องด้วยการบริโภคข้าวเหนียวของภาคอีสาน มีลักษณะเฉพาะตน ที่ต่างไปจากของภาคเหนือ ถึงแม้จะใช้ประโยชน์ในการใส่ข้าวเหนียวเช่นเดียวกันก็ตาม

เครื่องจักสานภาคอีสาน ที่เกี่ยวเนื่องด้วยวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวที่สำคัญ คือ ก่องข้าว และกระติบ

ก่องข้าวและกระติบของชาวอีสาน ในบริเวณอีสานกลาง และอีสานใต้ มีรูปแบบเฉพาะตนที่ต่างกัน โดยมีรูปแบบ และวิธีการสานที่เป็นของตนเองตามความนิยมของท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ก่องข้าวที่ใช้กัน ในบริเวณอีสานกลาง โดยเฉพาะจังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ขอนแก่น นั้นมีลักษณะ และรูปแบบต่างไปจากกระติบข้าว ที่สานด้วยไม้ไผ่ของถิ่นอื่นๆ ก่องข้าวชนิดนี้คล้ายกับก่องข้าวภาคเหนือ ประกอบ ด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วน ฐาน ทำด้วยไม้ ตามแต่จะหาได้ เป็นแผ่นไม้กากบาทไหว้กัน เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับตั้ง บางทีก็แกะเป็นลวดลาย เพื่อความสวยงามไปด้วย ตัวก่องข้าว สานด้วยไม้ไผ่ซ้อนกัน ๒ ชั้น เป็นรูปคล้ายโถ โดยมี ฝา รูปร่างเหมือนฝาชีครอบอีกชั้นหนึ่ง ขอบฝาจะใช้ก้านตาล เหลาเป็นแผ่นบางๆ โค้งทำขอบฝา เพื่อความคงทน การสานก่องข้าวชนิดนี้ จะต้องสานตัวก่องข้าวซ้อนกัน ๒ ชั้น เพื่อให้เก็บความร้อนได้ดี โดยที่จะสานโครงชั้นในก่อน ด้วยลายสองที่ก้น เป็นแผ่นสี่เหลี่ยม เพื่อให้เกิดมุมสี่มุม สำหรับผูกกับไม้กากบาท ที่เป็นฐานได้สะดวก เสร็จแล้วจึงสานส่วนต่อขึ้นมาเป็นตัวก่องข้าว ด้วยลายขัด (ภาษาถิ่นเรียก "ลายกราว") โดยใช้ตอกตะแคงเส้นเล็กๆ จนได้ขนาดตามต้องการ แล้วจึงสานตัวก่องข้าวด้านนอกครอบอีกชั้นหนึ่งด้วยตอกปื้น เป็นลายสองยืน หรือลายสองเวียน เพื่อให้เกิดความสวยงาม ตัวก่องข้าวที่สานหุ้มนี้ จะต้องสานให้ใหญ่กว่าตัวแบบภายใน แล้วพับปากก่องข้าว หุ้มกลับเข้าไปภายในเพื่อความเรียบร้อยอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้เส้นหวายผูกคาดไว้ภายนอกเพื่อรับขอบ ของฝาไปในตัว เมื่อได้ตัวก่องข้าวแล้วจึงทำฐาน ให้ผายออกรับกับรูปทรงของก่องข้าวด้วย ไม้ฐาน นี้จะผูกติดกับส่วนก้นสี่มุมด้วยหวาย เมื่อได้ตัวก่อง ข้าวพร้อมฐานแล้วจึงสานฝา ซึ่งมักจะสานด้วย ตอกปื้นค่อนข้างใหญ่เป็นลายต่างๆ แล้วแต่จะเรียก โดยสานเป็นรูปคล้ายฝาชี เมื่อได้ส่วนประกอบที่ สำคัญพร้อมแล้วจะต้องทำหูสำหรับร้อยเชือกเพื่อ ใช้สะพายบ่าหรือใช้แขวน จากรูปทรงและวิธีการ ของก่องข้าวแบบนี้จะเห็นว่าเป็นการสร้างรูปแบบ ของเครื่องใช้ให้สนองประโยชน์ใช้สอยได้ดีนั่นเอง ก่องข้าวชนิดนี้มีความสมบูรณ์ทั้งรูปทรงที่สวย งามและใช้ประโยชน์ได้ดีด้วย

ภาชนะจักสาน สำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่งอีกแบบหนึ่ง ที่นิยมใช้กันในอีสานเหนือ คือ "กระติบ" ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่เช่นเดียวกัน แต่รูปแบบ และวิธีการสานแตกต่างออกไป กระติบมีรูปร่างทรงกระบอก คล้ายกระป๋องไม่มีขา มีเพียงส่วนตัวกระติบ และส่วนฝาเท่านั้น วิธีการสานจะสานด้วยตอกไม้เฮี้ยะ ซึ่งเป็นตอกอ่อนๆ โดยจะสานเป็นรูปทรงกระบอกให้มีความยาวเป็นสองเท่าของความสูงของตัวกระติบที่ต้องการ เสร็จแล้วต้องพับทบกลับส่วนหนึ่งไว้เป็นด้านในตัวกระติบ ก่องข้าวชนิดนี้จะสานลายด้านใน และด้านนอกต่างกันคือ ส่วนที่จะพับทบกลับไว้ด้านในนั้น จะสานด้วยลายอำเวียน ส่วนด้านนอกที่ต้องการความสวยงาม จะสานด้วยลายสองยืน หรือยกดอก เพื่อความสวยงาม ส่วนก้นจะต้องสานเป็นแผ่นกลมๆ ต่างหาก แต่นำมาผนึกติดกับตัวกระติบภายหลัง ส่วนฝากระติบก็จะทำเช่นเดียวกับตัวกระติบ กระติบชนิดนี้ บางครั้งอาจจะใช้ก้านตาล ขดเป็นวง ทำเป็นส่วนฐาน เพื่อความคงทนด้วย

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างก่องข้าวและกระติบ เกิดจากความนิยมของท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่น ที่ทำสืบทอดต่อๆ กันมาแต่บรรพบุรุษ ปัจจุบันก่องข้าว และกระติบ ยังคงรักษารูปทรง และลักษณะเฉพาะถิ่นของตนไว้ได้ เพราะผู้สานแต่ละถิ่น มักมีความถนัดและเคยชิน ในการทำตามแบบอย่างของตนมากกว่าที่จะเลียนแบบก่องข้าวถิ่นอื่น แม้ปัจจุบันเครื่องจักสานพื้นบ้านอีสาน จะมีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น เพิ่มสีสัน หรือนำวัสดุสมัยใหม่ เช่น พลาสติก เข้ามาประยุกต์ใช้ประกอบกับเครื่องจักสาน ซึ่งเป็นไปตามสมัยนิยมมากกว่าความต้องการที่เปลี่ยนแปลง รูปแบบดั้งเดิมของตน แต่ในที่สุดก่องข้าวไม้ไผ่ ก็ยังเป็นที่นิยมของชาวบ้านมากกว่าภาชนะชนิดอื่น

เครื่องจักสานพื้นบ้านที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ "ตะกร้า" หรือที่ภาษาถิ่นเรียก "กะต้า" หรือ "กะต่า" ซึ่งเป็นภาชนะจักสาน ที่ใช้กันแพร่หลายในภาคอีสาน

ตะกร้า
หรือกะต้าสาน มีประโยชน์ในการใช้สอยเช่นเดียวกับตะกร้าภาคกลาง หรือซ้าภาคเหนือ เป็นภาชนะที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในภาคอีสาน เพราะใช้ใส่ของได้สารพัด และใช้ได้ทั้งการหิ้ว หาบ และคอน ด้วยไม้คาน รูปทรงของตะกร้า หรือกะต้า ต่างไปจากตะกร้าภาคอื่น กะต้าสานด้วยไม้ไผ่ เริ่มสานก้นก่อน ด้วยลายขัด (ลายขัดบี) ตอกคู่ แล้วค่อยๆ สานต่อขึ้นมาด้านข้างของตะกร้า ด้วยลายธรรมดาเรื่อยไปจนถึงปากของตะกร้า ซึ่งจะใช้ตอกเส้นเล็ก เพื่อความแข็งแรงทนทาน ปากหรือขอบตะกร้าจะใช้วิธีเก็บนิม โดยสานซ่อนตอกเข้าในตัวตะกร้า เสร็จแล้วจะทำหูตะกร้า เพื่อใช้หิ้วหรือหาบ โดยมากจะใช้ไม้ไผ่อีกชิ้นหนึ่ง โค้งเหนือปากตะกร้า แล้วผูกปลายทั้งสองเข้ากับขอบตะกร้า ตะกร้าภาคอีสาน จะมีรูปทรงคล้ายๆ กันเป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีขนาดเล็กและใหญ่ต่างกันเท่านั้น ตะกร้าชนิดนี้จะใช้ได้ทั้งแบบเป็นคู่ และใช้หิ้วเพียงใบเดียว ตั้งแต่ใช้ใส่ผัก ผลไม้ ถ่าน และสิ่งของอื่นๆ ไปจนถึงใช้เป็นเชี่ยนหมาก สำหรับใส่หมาก เรียกว่า "คุหมาก" หรือบางครั้งใช้ชันยา ทำเป็นครุหรือคุ สำหรับตักน้ำก็ได้ ชาวอีสานนิยมใช้กะต้ากันทั่วไป เพราะมีน้ำหนักเบา ทำได้ง่าย ราคาถูกกว่าภาชนะชนิดอื่น

อย่างไรก็ตาม ตะกร้าสานของอีสานถึงแม้ว่า จะเป็นเครื่องจักสานที่มีรูปทรง และลวดลายในการสานง่ายๆ ไม่ละเอียดประณีต แต่เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนที่ใช้กันแพร่หลาย เป็นเครื่องจักสาน ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นชนิดหนึ่งของอีสาน จะพบเห็นชาวอีสานหิ้วตะกร้า หรือหาบตะกร้านี้ทั่วไป

นอกจากตะกร้า หรือกะต้า ที่ใช้กันแพร่หลายในภาคอีสาน หรือถือได้ว่า เป็นเอกลักษณ์ของเครื่องจักสานอีสานดังกล่าวแล้ว ในภาคอีสานยังมีเครื่องจักสาน ที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง แต่ส่วนมากจะเป็นเครื่องจักสานไม้ไผ่มากกว่าอย่างอื่น และเครื่องจักสานที่ใช้กันมากในชีวิตประจำวัน ก็เป็นพวกภาชนะต่างๆ เช่น กระบุง ตะกร้า กระจาด เปลเด็ก เครื่องจักสานที่จำเป็นต่อชีวิตอีกอย่างหนึ่งคือ เครื่องมือจับและดักสัตว์น้ำ เช่น ไซ ข้อง ตุ้มดักกบ ซ่อน ปุ่มขังปลา ฯลฯ นอกจากนี้มีเครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องกับการเลี้ยงไหม และการทอผ้า เช่น กะเพียดปั่นฝ้าย กระด้ง เลี้ยงไหม จ่อเลี้ยงไหม เครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องกับขนบประเพณีของชาวอีสาน ได้แก่ เบ็งหมาก สำหรับใส่ดอกไม้ และเครื่องบูชาต่างๆ และก่องข้าวขวัญ สำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่ง เป็นต้น
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป