ความหลากหลายของเฟิร์นในป่าเมืองไทย - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 23
เล่มที่ ๒๓
เรื่องที่ ๑ ภูมิปัญญาไทย
เรื่องที่ ๒ วัฒนธรรมทางละครไทย (ละครรำ)
เรื่องที่ ๓ การละเล่นพื้นเมือง
เรื่องที่ ๔ ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย
เรื่องที่ ๕ ชาติพันธุ์
เรื่องที่ ๖ เฟิร์นไทย
เรื่องที่ ๗ ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๑)
เรื่องที่ ๘ การทำงานใต้น้ำ
เรื่องที่ ๙ ระบบวิทยุ
เรื่องที่ ๑๐ การผลิตเบียร์
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๓ / เรื่องที่ ๖ เฟิร์นไทย / ความหลากหลายของเฟิร์นในป่าเมืองไทย

 ความหลากหลายของเฟิร์นในป่าเมืองไทย
ป่าธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์ เป็นแหล่งรวมความหลากหลายของเฟิร์น
ป่าธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์ เป็นแหล่งรวมความหลากหลายของเฟิร์น
ความหลากหลายของเฟิร์นในป่าเมืองไทย

จากการศึกษาเฟิร์นในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก พบว่า มีเฟิร์นประมาณ ๑๐,๐๐๐ ชนิด ประมาณ ๔๐๐ สกุล ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมเฟิร์นที่ยังไม่ทราบชื่อ และยังมีเฟิร์นชนิดใหม่ๆ ที่ยังไม่มีผู้ใดค้นพบ ในจำนวนนี้ประมาณ ๑๕% จะพบในเขตหนาว (Temperate) เขตอัลไพน์ (Alpine) และเขตทุนดรา (Tundra) ประมาณ ๕% พบตามทุ่งหญ้าในเขตหนาว เขตกึ่งทะเลทราย และเขตทะเลทราย ส่วนที่เหลือประมาณ ๘๐% จะพบ ในเขตร้อนชื้นของโลก

การกระจายพันธุ์ของเฟิร์น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการกระจายของสปอร์ ความสามารถในการงอกของสปอร์ การเจริญเป็นแกมีโทไฟต์ และการเจริญของสปอร์โรไฟต์ เฟิร์นบางชนิดเป็นพืชถิ่นเดียว (endemic species) กล่าวคือ มีการกระจายพันธุ์จำกัด เฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เช่น กูดเครือ(Lomagramma grossoserrata) พบเลื้อยไปตามพื้นดิน ที่ชื้นแฉะ หรือเลื้อยพันไม้ต้นในป่าเบญจพรรณชื้น ในภาคเหนือของประเทศไทย จัดเป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย เนื่องจากไม่เคยมีรายงานว่า พบในประเทศอื่น แต่เฟิร์นบางชนิด เช่น กูดเกี๊ยะ (Pteridium aquilinum) จะพบขึ้นทั่วไป ทั้งในเขตหนาว และเขตร้อนชื้นของโลก

จากการศึกษาเฟิร์นในประเทศไทย พบว่า มีประมาณ ๕๘๘ ชนิด แบ่งออกเป็น ๑๑๖ สกุล และ ๒๙ วงศ์ ซึ่งยังไม่ได้รวมพืชกลุ่มใกล้เคียงกับเฟิร์น ในจำนวนนี้มี ๒๒ ชนิด ที่จัดเป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย เฟิร์นที่พบในประเทศไทยพบขึ้นตามสภาพธรรมชาติ ตั้งแต่ริมทะเล จนถึงบริเวณที่เป็นภูเขาสูง ในภาคเหนือของประเทศ จะพบเฟิร์นได้ในป่าธรรมชาติ ทุกแบบ ในประเทศไทย ได้แก่
“ปรงทะเล” พบมากในป่าชายเลน
"ปรงทะเล" พบมากในป่าชายเลน

“เกล็ดนาคราช” พบมากในป่าชายเลนที่มีความสมบูรณ์
"เกล็ดนาคราช" พบมากในป่าชายเลนที่มีความสมบูรณ์
เฟิร์นในป่าชายเลน

พื้นที่ป่าชายเลนของประเทศไทย พบกระจัดกระจายบริเวณอ่าวไทย ทั้งในภาคตะวันออก ภาคกลาง บริเวณชายฝั่งทะเลของภาคใต้ ฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก ลักษณะของพรรณไม้เป็นสังคมพืชไม่ผลัดใบ ขึ้นอยู่ตามชายทะเล หรือตามปากแม่น้ำที่มีน้ำทะเลท่วมถึง บริเวณที่เป็นดินเลนด้านหลังของป่าชายเลน หรือบริเวณที่ป่าชายเลนถูกตัดทำลายจะพบเฟิร์นที่ขึ้นบนดิน ซึ่งจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพพื้นที่ป่าชายเลนที่มีขึ้นน้ำลง ความเค็มเปลี่ยนแปลง เป็นบริเวณที่ขาดน้ำจืด มีลมแรงซึ่งทำให้การคายน้ำของพืชเพิ่มขึ้น พืชที่ขึ้นจึงเป็นพืชทนแล้ง เฟิร์นที่จัดเป็นดัชนีของป่าชายเลนคือ ปรงทะเล ปรงทอง หรือปรงไข่ (Acrostichum aureum) เฟิร์นชนิดนี้จะขึ้นเป็นกออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีใบอ่อนสีแดง และกลุ่มอับสปอร์สีแดงซึ่งจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ปรงทะเลพบมากในพื้นที่ของป่าชายเลนเนื่องจากสร้างอับสปอร์ และสปอร์จำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีเฟิร์นเลื้อยอีกสองชนิดที่พบมากในป่าชายเลนคือ กะฉอดหนู หรือลิเภายุ่ง (Lygodium microphyllum) ผักกูดแดง ปรงสวน หรือลำเท็ง (Stenochlaena palustris) กะฉอดหนูมักจะพบขึ้นอยู่กลางแจ้ง กระจัดกระจายทั่วไปในป่าชายเลน เฟิร์นชนิดนี้ใช้ใบเลื้อยพันไม้พุ่มหรือไม้ต้น ส่วนผักกูดแดงมักจะพบบริเวณชายป่าของป่าชายเลนเฟิร์นชนิดนี้มีลำต้นทอดขนานยาวเลื้อยพันไม้ต้น มีใบอ่อนสีแดง และใบที่สร้างอับสปอร์สีแดงสะดุดตา

เฟิร์นส่วนใหญ่ที่พบในป่าชายเลนจะเป็นพืชอิงอาศัย เช่น ข้าหลวงหลังลาย (Asplenium nidus) พญานาคราช (Davallia solida) กระแตไต่ไม้ (Drynaria quercifolia) กูดฮอก หรือว่านงูกวัก (Drynaria sparsisora) กระปรอกสิงห์ (Microsorum punctatum) ยายแพก (Phymatosorus scolopendria) เกล็ดนาคราช (Pyrrosia piloseloides) ผักปีกไก่ (Pyrrosia adnascens) สะโมง (Pyrrosia longifolia) เป็นต้น เฟิร์นเหล่านี้จะพบเกาะบนไม้ต้นที่ขึ้นในป่าชายเลน เฟิร์นจะได้รับความชื้นจากน้ำฝนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงพบเฟิร์นที่เป็นพืชอิงอาศัยมากในป่าชายเลนทางภาคใต้ โดยเฉพาะทางด้านทะเลอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดระนองลงไปถึงจังหวัดพังงา กระบี่ และสตูล พื้นที่ป่าชายเลนของประเทศไทยลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เฟิร์นที่เป็นพืชอิงอาศัยลดจำนวนลงอย่างมากตามไปด้วย จึงเป็นที่น่าวิตกว่า เฟิร์นเหล่านี้จะหมดไปจากป่าชายเลนในระยะเวลาอันใกล้นี้
“กระปรอกสิงห์” เฟิร์นอิงอาศัยที่มีใบอวบน้ำ
"กระปรอกสิงห์" เฟิร์นอิงอาศัยที่มีใบอวบน้ำ

“ผักปีกไก่” ลำต้นยาวทอดขนานไปตามพื้นหิน
"ผักปีกไก่" ลำต้นยาวทอดขนานไปตามพื้นหิน
เฟิร์นในป่าชายหาด

พื้นที่ชายทะเล นอกจากจะเป็นหาดเลนแล้ว ยังเป็นหาดทราย หรือเป็นเขาหินปูน ซึ่งจะพบเป็นบริเวณแคบๆ ตามชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และภาคใต้ของประเทศ ดินทรายเป็นดินเค็ม อากาศมีไอเค็มสูง พืชที่ขึ้นอยู่บริเวณนี้จัดเป็นพืชที่ทนต่อความเค็ม ในอดีตพื้นที่ป่าชายหาดได้รับผลกระทบจากการ ท่องเที่ยว และการจัดกิจกรรมต่างๆ เป็นอย่างมาก ส่งผลให้เฟิร์นหลายชนิดได้หายไปจากพื้นที่นี้ ดังจะเห็นได้จากหาดทรายซึ่งไม่ถูกรบกวนจากการ กระทำของมนุษย์ ยังคงมีเฟิร์นที่ขึ้นบนดินทราย เช่น ตานกล่อม ตานพร้าว หรือ ตานส้าน (Schizaea dichotoma) และยายแพก (Phymatosorus scolopendria) ขึ้นกระจัดกระจายอยู่ตามหาดทราย ในภาคใต้บางแห่ง โดยมักจะขึ้นอยู่ใต้ร่มเงาของไม้พุ่ม และไม้ต้น ตานกล่อม อาจจะเป็นเฟิร์น ที่เป็นดัชนีของป่าชายหาดที่เป็นหาดทราย ดังจะเห็นได้จาก การกระจายพันธุ์ตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ ที่จะพบตามชายฝั่งทะเลของคาบสมุทรมลายู โดยเริ่มต้นจากบริเวณ คอคอดกระ ซึ่งเป็นส่วนที่แคบที่สุดของ คาบสมุทร ตรงบริเวณจังหวัดชุมพร และจังหวัด ระนอง และยื่นยาวลงไปทางใต้ จนถึงประเทศ มาเลเซีย นอกจากเฟิร์นที่ขึ้นบนดินในป่า ชายหาดแล้ว ยังพบเฟิร์นที่เป็นพืชอิงอาศัย เช่น กระแต ไต่ไม้ และเกล็ดนาคราช

บริเวณที่เป็นเขาหินปูนตามชายฝั่งทะเล ซึ่งมักจะพบตามชายฝั่งทะเลภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป เฟิร์นที่ขึ้นบริเวณนี้จะเป็นชนิดที่ทนแล้งได้ดี เช่น กระแตไต่ไม้ กระปรอกสิงห์ เนื่องจากมีส่วนของลำต้น หรือใบอวบน้ำ สามารถ สะสมน้ำเอาไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ส่วนผักปีกไก่ซึ่ง มีลำต้นขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับกระแตไต่ไม้ ลำต้นจะทอดขนานไปตามหิน กิ่งหรือลำต้นจะมี เกล็ดปกคลุมทาบติดกับลำต้นช่วยป้องกันการ สูญเสียน้ำได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ในช่วง ที่แห้งแล้งมาก ใบของเฟิร์นชนิดนี้จะบิดหรือ ม้วนงอ เพื่อลดพื้นที่ในการคายน้ำ ทำให้สามารถ ดำรงชีวิตผ่านช่วงวิกฤตที่แห้งแล้งได้
“ผักกูดขม” พบเฉพาะในป่าพรุ
"ผักกูดขม" พบเฉพาะในป่าพรุ
เฟิร์นในป่าพรุ

ป่าพรุมีสภาพพื้นดินเป็นที่ชื้นแฉะ ไม่ราบเรียบ บางบริเวณเป็นที่ลุ่มน้ำขัง ส่วนใหญ่พบในภาคใต้ บริเวณใกล้ชายฝั่งทะเล ดินมีความเป็นกรดสูง เนื่องจากมีอินทรียวัตถุปะปนมาก ป่าพรุที่มีสภาพสมบูรณ์ เช่น พรุ โต๊ะแดง พรุบาเจาะในจังหวัดนราธิวาส เป็น สังคมพืชไม่ผลัดใบ ป่าพรุมีเฟิร์นหลายชนิด ทั้งที่ขึ้นบนดิน และเป็นพืชอิงอาศัย เฟิร์นที่เป็นดัชนีของป่าพรุคือ ผักกูดขม (Blechnum indicum) เป็นเฟิร์นที่ขึ้นบนดินอยู่กระจัดกระจายทั่วไป ในบริเวณที่โล่งแจ้งที่มีน้ำขัง สังเกตได้ง่ายจากใบ อ่อนที่มีสีแดง เฟิร์นเลื้อยอีกสองชนิดที่พบขึ้น มากในป่าชายเลนและพบขึ้นในป่าพรุด้วยคือ กะฉอดหนู หรือลิเภายุ่ง และผักกูดแดง ปรงสวน หรือลำเท็ง นอกจากนี้ ยังมีเฟิร์นสกุล ใบมะขาม ๒ ชนิด คือ กูดหางปลา (Nephrolepis biserrata) และกูดโยง (Nephrolepis radicans) ขึ้น อยู่ตามชายป่าที่โล่ง กูดตีนกวาง (Helminthostachys zeylanica) พบตามชายป่าที่แฉะ เฟิร์นเงิน (Pityrogramma calomelanos) และกูดปรง หรือปรงหนู (Taenitis blechnoides) พบตามชายป่าที่ลุ่ม และชายพรุ

เฟิร์นที่เป็นพืชอิงอาศัยมีหลายชนิดที่พบขึ้น ในป่าทั่วๆ ไป เช่น เกล็ดนาคราช กระปรอกสิงห์ กูดฮอก หรือว่านงูกวัก ข้าหลวงหลังลาย ผัก ปีกไก่ สะโมง พญานาคราช ว่านหัวละมาน (Vittaria ensiformis) ห่อข้าวสีดา (Platycerium coronarium) เป็นต้น
เฟิร์นก้านดำฟิลิปปินส์
เฟิร์นก้านดำฟิลิปปินส์

“เบี้ยไม้” พบในป่าดิบชื้นที่ไม่ถูกรบกวน
"เบี้ยไม้" พบในป่าดิบชื้นที่ไม่ถูกรบกวน

“โชน” ขึ้นอย่างหนาแน่นบริเวณที่โล่งแจ้ง
"โชน" ขึ้นอย่างหนาแน่นบริเวณที่โล่งแจ้ง

“บัวแฉก” พบชื้นบริเวณสันเขาในที่โล่ง มีใบอ่อนสีแดง
"บัวแฉก" พบชื้นบริเวณสันเขาในที่โล่ง มีใบอ่อนสีแดง
เฟิร์นในป่าดิบชื้น

ป่าดิบชื้นเป็นสังคมพืชไม่ผลัดใบ พบในบริเวณที่มีปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ มม. ต่อปี และฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน จึงพบป่าดังกล่าวในภาคตะวันออก และภาคใต้เป็นส่วนใหญ่

เฟิร์นในป่าดิบชื้นมีมากมายหลายชนิด บริเวณพื้นป่าเป็นบริเวณที่ได้รับแสงน้อย เนื่องจากเรือนยอดของไม้ต้น จะปิดกั้นแสงแดด บริเวณนี้มักจะมีลำธารสายเล็กๆ อยู่ทั่วไป ตามริมลำธาร จะมีเฟิร์นหลายชนิดมากกว่าที่พบตามพื้นป่า เพราะริมลำธารเป็นบริเวณที่ได้รับแสงมากขึ้น เนื่องจากไม่มีพันธุ์ไม้ใหญ่ให้ร่มเงาในแนวลำธาร พบเฟิร์นที่ขึ้นบนดินหลายชนิด เช่น ว่านไก่น้อย หรือละอองไฟฟ้า (Cibotium barometz) ว่านกีบแรด (Angiopteris evecta) กูดต้น หรือกูดพร้าว (Cyathea latebrosa) หัวไอ้เป็ด (Cyathea contaminans) เฟิร์นเหล่านี้มักจะมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับเฟิร์นที่ขึ้นอยู่ตามพื้นป่า ตามก้อนหิน ริมลำธารมักจะพบเฟิร์นขนาดกลาง เช่น กูดเป้า (Bolbitis heteroclita) กูดหางนกกะลิง (Microsorum pteropus) กูดคำ (Pteridrys australis) เป็นต้น ในช่วงฤดูฝน เฟิร์นที่ขึ้นอยู่ริมลำธาร ตามราก ต้นไม้โคนไม้ใหญ่ หรือขึ้นบนหิน อาจจะถูก น้ำท่วมเป็นเวลานาน แต่ก็สามารถเจริญเติบโตได้เหมือนปกติ เราเรียกพืชดังกล่าวว่า พืชทนน้ำท่วม (rheophyte) เช่น กูดหางนกกะลิง (Microsorum pteropus) และกูดใบบาง (Cephalomanes javanicum

ตามสันเขาในที่ร่มและชื้น ในพื้นที่ที่ไม่สูงมากนัก มักจะพบเฟิร์นที่สวยงามชนิดหนึ่งคือ กูดขาบ (Didymochlaena truncatula) มีใบอ่อนสีแดง เฟิร์นชนิดอื่นๆ ที่มักจะพบในบริเวณนี้ เช่น กะฉอดแรด (Tectaria griffithii) เฟิร์นก้านดำ ฟิลิปปินส์ (Adiantum philippense) และกูดเคียว (Cyclopeltis crenata)

เฟิร์นที่เป็นพืชอิงอาศัยจะพบในป่าดิบชื้นทุกระดับชั้น ตอนล่างของป่า มักจะพบเฟิร์นที่มีลำต้น และแผ่นใบบาง เรียกเฟิร์นกลุ่มนี้ว่า ฟิลมี เฟิร์น (filmy fern) พบเกาะอยู่ตามลำต้น และกิ่งไม้ทั่วไป และเฟิร์นชนิดอื่นๆ เช่น ข้าหลวง- หลังลาย กระปรอกสิงห์ เกล็ดนาคราช กูดฮอก เบี้ยไม้ (Pyrrosia nummularifolia) กูดหิน (Nephrolepis falcata) ตานมังกร (Lecanopteris sinuasa) ว่านหางนกยูง (Antrophyum callifo- lium) เฟิร์นที่เป็นพืชอิงอาศัยระดับที่สูงตามกิ่งไม้ หรือคบไม้ยืนต้น จะเป็นพวกที่ชอบแสงมาก และมักจะมีขนาดใหญ่ เช่น ห่อข้าวสีดา ชายผ้า สีดาเขากวาง (Platycerium ridleyi) กูดอ้อม (Aglaomorpha coronans)

ในป่าดิบชื้นยังมีเฟิร์นหลายชนิดที่เป็นไม้ เลื้อย เช่น ผักกูดแดง กูดเป้า และเฟิร์นในสกุล Teratophyllum เฟิร์นดังกล่าวจะเลื้อยพันต้นไม้อื่น โดยอาศัยลำต้นที่ทอดขนานยาว ส่วนเฟิร์นในสกุลย่านลิเภา เช่น ย่านยายเภา (Lygodium salicifolium) กูดเครือ หรือลิเภาย่อง (Lygodium polystachyum) จะเลื้อยพันโดยใช้ใบ

ตามชายป่าดิบชื้น หรือบริเวณสันเขา ที่เปิดโล่งโดยธรรมชาติ หรือจากการตัดถนน ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่ได้รับแสงเต็มที่ จะพบเฟิร์นที่ชอบแสงหลายชนิด เฟิร์นชนิดที่พบขึ้นอย่างหนาแน่นคือ โชน (Dicranopteris linearis) กูดเกี๊ยะ (Pteridium aquilinum) กูดดอย (Blechnum orientale) เฟิร์นที่ พบรองลงไป เช่น เฟิร์นเงิน และกูดเกี๊ยะในบาง (Histiopteris incisa)

บริเวณสันเขาของป่าดิบชื้น ซึ่งมีลักษณะภูมิอากาศปกคลุมด้วยเมฆฝน มีความชื้นในบรรยากาศสูง จะพบเฟิร์นที่มักจะขึ้นบริเวณสันเขา ในที่โล่งคือ บัวแฉก (Dipteris conjugata) เฟิร์นชนิดนี้ จะมีใบอ่อนสีแดง สารสีพิเศษนี้ จะช่วยป้องกันอันตรายให้แก่ใบ จากการที่ได้รับแสงแดดจัดโดยตรง ส่วนบัวแฉกเล็ก (Cheiropleuria bicuspis) มักจะขึ้นบริเวณสันเขา ในที่ร่มและชื้น เฟิร์นทั้งสองชนิด จัดเป็นเฟิร์นที่หายาก แต่จะพบขึ้นตามธรรมชาติเป็นกลุ่มใหญ่เฉพาะที่

เฟิร์นที่อาจจัดได้ว่า เป็นดัชนีของป่าดิบชื้น คือ กะฉอดแรด กูดขาบ กูดเคียว บัวแฉก และบัวแฉกเล็ก
“กระแตไต่ไม้เล็ก” เป็นดัชนีของป่าดิบแล้ง
"กระแตไต่ไม้เล็ก" เป็นดัชนีของป่าดิบแล้ง
เฟิร์นในป่าดิบแล้ง

ป่าดิบแล้งเป็นสังคมพืชไม่ผลัดใบ พบในบริเวณที่มีปริมาณน้ำฝนไม่ น้อยกว่า ๑,๕๐๐ มม.ต่อปี และมีช่วงฤดูแล้ง ประมาณ ๓-๕ เดือน ป่าชนิดนี้ พบมากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เฟิร์นที่พบในป่าชนิดนี้ จะมีปริมาณ และความหลากหลายน้อยกว่าที่พบในป่าดิบชื้น เฟิร์นที่พบ เป็นไม้พื้นล่าง เช่น หางนาคบก (Adiantum caudatum) เฟิร์นราชินี (Doryopteris ludens) กูดกวาง (Tectaria impressa) เฟิร์นขึ้นเลื้อยพัน ไม้พุ่มและไม้ต้นขนาดเล็ก เช่น ย่านยายเภา (Lygodium salicifolium) บริเวณที่ค่อนข้างชื้น เช่น บริเวณใกล้ลำธาร หรือบริเวณน้ำซับ จะพบ เฟิร์นขนาดใหญ่ที่ขึ้นบนดิน เช่น ว่านกีบแรด มหาสแดง (Cyathea gigantea) กูดกบ (Pleocnemia irregularis) บนก้อนหินที่มีฮิวมัสปกคลุม ใน ลำธาร หรือใกล้ลำธารมักจะพบกระปรอกสิงห์ ว่านหางนกยูง กูดหินเล็ก (Bolbitis appendi culata) กูดหินใหญ่ (Bolbitis copelandii) กาโลระวา (Phymatosorus nigrescens) เฟิร์นที่เป็นพืช อิงอาศัย เช่น เกล็ดนาคราช กระแตไต่ไม้เล็ก (Drynaria bonii) กระปรอกเล็ก (Drynaria rigidula) ข้าหลวงหลังลาย ชายผ้าสีดา (Platycerium holttumii) ในจำนวนนี้ เฟิร์นที่อาจจัดเป็น ดัชนีของป่าดิบแล้งคือ กระแสไต่ไม้เล็ก
“กะฉอด” หรือ “ลิเภาใหญ่” ขึ้นบนดินในป่าเต็งรัง
"กะฉอด" หรือ "ลิเภาใหญ่" ขึ้นบนดินในป่าเต็งรัง
เฟิร์นในป่าเต็งรัง

ป่าเต็งรังเป็นสังคมพืชผลัดใบ พบในบริเวณที่มีปริมาณน้ำฝนต่อปีน้อย กว่า ๑,๒๐๐ มิลลิเมตร และมีช่วงเวลาที่แห้งแล้ง ประมาณ ๓-๕ เดือน มักจะพบในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักจะกระจาย สลับไปกับป่าผสมผลัดใบ หรือป่าเบญจพรรณ ป่าชนิดนี้มักจะมีไฟป่าเกือบทุกปี เฟิร์นที่สามารถ ขึ้นในป่าชนิดนี้ได้จึงเป็นเฟิร์นที่ทนแล้ง โดย เฉพาะพวกที่ขึ้นบนดินจะพบน้อยมาก เช่น กะฉอด หรือลิเภาใหญ่ (Lygodium flexuosum) สามารถอยู่รอดช่วงฤดูแล้ง หลังจากถูกไฟป่าไหม้ได้ แม้ว่าใบจะถูกไฟเผาทำลายหมด แต่เนื่องจากมีลำต้นอยู่ลึกลงไปใต้ดิน ลำต้นจึงไม่ได้ไหม้ไปด้วย เมื่อฤดูฝนมาถึง หลังจากที่ได้รับความชื้นจาก ฝนตกครั้งแรก ก็จะแตกใบใหม่ขึ้นมาเลื้อยพัน ไม้พุ่ม และไม้ต้นขนาดเล็ก

เฟิร์นส่วนใหญ่ ที่พบในป่าเต็งรัง จึงเป็นพืชอิงอาศัย และมักจะมีลักษณะทนแล้งได้ดี เช่น มีลำต้น หรือใบอวบน้ำ ตัวอย่างเช่น ผักปีกไก่ สะโมง กระแตไต่ไม้ชนิดต่างๆ และชายผ้าสีดา
“ชายผ้าสีดา” เป็นเฟิร์นอิงอาศัยพบเกาะตามกิ่งไม้เป็นกลุ่มในป่าเบญจพรรณ
"ชายผ้าสีดา" เป็นเฟิร์นอิงอาศัยพบเกาะตามกิ่งไม้เป็นกลุ่มในป่าเบญจพรรณ
เฟิร์นในป่าเบญจพรรณ หรือป่าผสมผลัดใบ

ป่าชนิดนี้เป็นสังคมพืชผลัดใบ ที่จะพบในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนต่อปีต่ำกว่า ๑,๕๐๐ มิลลิเมตร และมีช่วงฤดูแล้งติดต่อกันไม่ต่ำกว่า ๓ เดือน จะพบตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นไปจนสุดภาคเหนือ และต่อไปจนถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ระดับความสูงตั้งแต่ ๑,๒๐๐ เมตรลงมา

เฟิร์นหลายชนิดจะเป็นชนิดเดียวกับที่พบในป่าเต็งรัง เช่น ป่าเบญจพรรณบริเวณที่ค่อนข้างแห้งแล้ง หรือบริเวณที่มักจะเกิดไฟป่า จะพบ กะฉอด หรือลิเภาใหญ่ ผักปีกไก่ สะโมง กระแตไต่ไม้ชนิดต่างๆ ส่วนป่าเบญจพรรณในที่ ชื้นมักจะพบเฟิร์นในสกุลต่างๆ ชนิดเดียวกับที่พบ ในป่าดิบแล้ง หรือป่าดิบชื้น เช่น ว่านกีบแรด ว่านไก่น้อย มหาสแดง บนก้อนหินที่มีฮิวมัส ปกคลุม ในลำธาร หรือใกล้ลำธารมักจะพบ กูดหินเล็ก กระปรอกสิงห์ ว่านหางนกยูง กูดเป้า หรือกูดหางนกกะลิง กูดแก้ว หรือกูดแต้ม (Tectaria polymorpha) นอกจากนี้ ยังพบเฟิร์นที่เป็นไม้เลื้อย ขึ้นเลื้อยพันไม้ต้นขนาดเล็กคือ กูด เครือ (Lomagramma grossoserata) เฟิร์นที่เป็นพืชอิงอาศัย บริเวณที่ชื้นใกล้ลำธาร เช่น เกล็ด นาคราช ข้าหลวงหลังลาย ขาไก่ (Pyrrosia stigmosa) บริเวณระดับ ๖๐๐-๑,๒๐๐ เมตร ที่ มักจะเป็นแนวไฟป่าจะพบ กูดเกี๊ยะ (Pteridium aquilinum var. wightianum) กูดดอย (Brainea insignis) กูดปี้ด (Dicranopteris linearis) เฟิร์นเหล่านี้ สามารถทนไฟป่าได้ดี เนื่องจากมีลำต้นอยู่ใต้ดิน จึงรอดพ้นจากการถูกไฟไหม้

เฟิร์นที่อาจจัดเป็นดัชนีของป่าเบญจพรรณ คือ ชายผ้าสีดา (Platycerium wallichii) ชายผ้าสีดาชนิดนี้ มีขนาดเล็กที่สุด ในบรรดาเฟิร์นสกุลชายผ้าสีดา ที่พบในประเทศไทย โดยมักจะพบขึ้นอยู่รวมเป็นกลุ่ม ตามกิ่งของไม้ต้นขนาดใหญ่ ในช่วงฤดูแล้ง ใบประกบต้นจะแห้งและเปลี่ยน เป็นสีน้ำตาล ส่วนใบที่สร้างอับสปอร์ซึ่งห้อยลง จะบิดเป็นเกลียว เพื่อลดพื้นที่ใบที่จะคายน้ำ เป็นการปรับตัวของเฟิร์นชนิดนี้ให้อยู่รอดในช่วง ฤดูแล้งของแต่ละปี
“หัสแดง” แตกใบใหม่หลังจากที่ถูกไฟป่าเผาบนภูหลวง
"หัสแดง" แตกใบใหม่หลังจากที่ถูกไฟป่าเผาบนภูหลวง  

“นาคราชขอบใบลอน” เจริญตามรอยแยกบนลานหินกลางแจ้ง
"นาคราชขอบใบลอน" เจริญตามรอยแยกบนลานหินกลางแจ้ง

“นาคราชในขน” พบขึ้นอยู่ร่วมกับพืชอิงอาศัยอื่น ๆ ในป่าดิบเขา
"นาคราชในขน" พบขึ้นอยู่ร่วมกับพืชอิงอาศัยอื่นๆ ในป่าดิบเขา

“หัสดำ” พบขึ้นเป็นกลุ่มบนหินริมลำธาร
"หัสดำ" พบขึ้นเป็นกลุ่มบนหินริมลำธาร
เฟิร์นในป่าดิบเขา

เป็นสังคมพืชไม่ผลัดใบ ที่พบในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลเกิน กว่า ๘๐๐ เมตรขึ้นไป จะพบกระจายอยู่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ป่าดิบเขาระดับต่ำ พบในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๘๐๐-๑,๘๐๐ เมตร บริเวณที่โล่งแจ้ง หรือบริเวณที่เป็นสันเขาที่ได้รับแสงแดดเต็มที่ และมักจะมีลมแรง จะพบ กูดเกี๊ยะ หรือเฟิร์นในสกุลโชน เช่น กูดปี้ด ขึ้น เป็นกลุ่มใหญ่ ส่วนตามสันเขาที่ค่อนข้างแห้ง และได้รับแสงปานกลางมักจะพบกูดดอย (Blechnum orientale) กูดดอย (Brainea insignis) หรือเฟิร์นโซ่ดอยตุง (Woodwardia cochinchinensis) บริเวณที่เป็นที่ราบหรือเนินเขาเตี้ยๆ มักจะพบ สนสองใบ หรือสนสามใบขึ้นกระจัดกระจาย ทั่วไป จะพบเฟิร์นที่ขึ้นกับดินซึ่งชอบแสง เช่น กูดเกี๊ยะ กูดปี้ด กะฉอดหนู กูดเกี๊ยะใบบาง หัสแดง (Osmunda cinnamomea) หัสแดง จะพบขึ้นเฉพาะบนเขา ที่มีอากาศหนาวเย็น เนื่องจากเป็นเฟิร์นที่มีการกระจายพันธุ์ จากเขตหนาวของโลกคือ ด้านตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ มายังเอเชียตะวันออก และภูมิภาคอินโดจีน บริเวณที่เป็นป่าสนนี้มักจะเกิดไฟป่าเป็นประจำ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมเฟิร์นที่ขึ้นอยู่ บริเวณนี้จึงเป็นชนิดที่ปรับตัวให้อยู่รอดจากไฟป่า ได้โดยมีลำต้นอยู่ใต้ดินรอดพ้นจากการถูก ไฟไหม้ และเมื่อได้รับน้ำฝนครั้งแรกหลังจากที่ ไฟไหม้ ก็จะแตกใบใหม่ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

ตามลานหิน หรือเนินหินกลางแจ้ง บริเวณที่เป็นหินเกลี้ยงๆ อาจพบไลเคนขึ้นอยู่ เฟิร์นที่สามารถขึ้นในถิ่นที่อยู่แบบนี้ จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้ง โดยเฉพาะในช่วง ฤดูร้อน บริเวณนี้มักจะพบกระปรอกเล็ก และ เถานาคราชขอบใบลอน (Oleandra undulata) ขึ้นอยู่ตามรอยแตกของหิน เฟิร์นทั้งสองชนิดนี้ จะพักตัวโดยการทิ้งใบช่วงฤดูแล้ง ส่วนเหง้าจะอวบน้ำและปกคลุมด้วยเกล็ด ทำให้อยู่รอดในช่วงฤดูแล้งได้ บริเวณภูเขาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เป็นเขาหินทราย และมีอินทรียวัตถุปกคลุม จะพบเฟิร์นที่ชอบแสง เช่น กูดอ้อมลิ้นกุรัม (Pyrrosia eberhardtii) กูดหมัก (Leucostegia immersa) กูดห้อมใบย่อย หรือนาคราชตัวเมีย (Humata repens)

ถัดเข้าไปตอนในของป่าดิบเขาซึ่งมีไม้ต้นให้ร่มเงา บริเวณที่มีอินทรียวัตถุสูง จะพบเฟิร์นที่ขึ้นบนดิน เช่น กูดขนนก (Asplenium normale) กูดต้นใบฝอย (Acrophorus stipellatus) มหาสดำ (Cyathea podophylla) กูดต้นพายัพ (Dryopteris cochleata) เป็นต้น ไม้ต้นบริเวณนี้ มักจะมีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แต่มักจะมีพืชอิงอาศัยคือ มอส เฟิร์น และไม้ดอก เช่น กล้วยไม้ เกาะอยู่อย่างหนาแน่น เฟิร์นที่พบมาก เช่น นาคราชตัวเมีย เถานาคราชใบขน (Oleandra wallichii) กูดบั้ง (Loxogramme involuta) กูดเกล็ดโล่ (Lepisorus nudus) กูดท้องใบดำมาเลย์ (Elaphoglossum malayense) กูดลิ้น (Belvisia revoluta) นาคราช ใบบาง หรือนาคราชสีชมพู (Davallia trichomanoides) กระแตไต่ไม้ดอย (Drynaria propinqua) เป็นต้น

ในบริเวณที่ได้รับร่มเงาจากไม้ต้นที่ขึ้นอยู่โดยรอบ และมีความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศสูง เช่น บริเวณริมลำธารที่มีน้ำไหลผ่านตลอดปี เป็นบริเวณที่เหมาะต่อการเจริญของเฟิร์น ที่ชอบร่มเงา จะพบเฟิร์นขึ้นอยู่ริมตลิ่งบริเวณที่มีอินทรียวัตถุสูง เช่น กูดภู (Diacalpe aspidioides) กูดใบลาย (Crypsinus griffihianus) บริเวณโคน ต้นไม้หรือโขดหินมักจะพบเฟิร์นที่เป็นพืชอิงอาศัย เช่น ว่านหางนกยูง ว่านหัวละมาน เถานาคราช (Oleandra musifolia) ในลำธาร มักจะมีก้อนหิน ที่ปกคลุมด้วยซากอินทรียวัตถุที่น้ำซัดมา เป็นที่ที่เหมาะต่อการเจริญของเฟิร์นบางชนิด เช่น กูดหอม (Lindsaea adorata) และอาจจะพบเฟิร์น ถิ่นเดียวของไทยในสกุล Elaphoglossum คือ กูด ท้องใบดำ (Elaphoglossum dumrongii)

บริเวณริมลำธารในป่าดิบเขาเป็นบริเวณที่ได้รับแสงมากขึ้น จะพบกูดกิน และเฟิร์นในสกุล Osmunda เช่น หัสดำ (Osmunda angustifolia) หัสดำมักขึ้นเป็นกลุ่มบนหินริมลำธารน้ำไหล สังเกตได้ง่ายจากใบย่อยที่สร้างอับสปอร์จะมีสีแดง และหดสั้น ในบางปีที่มีฝนตกชุก น้ำในลำธาร จะมากตามไปด้วย เฟิร์นที่ขึ้นอยู่บนหินในลำธาร หรือริมลำธาร จึงอาจจมอยู่ใต้น้ำตลอดช่วงเวลา ที่น้ำท่วมสูง ซึ่งอาจจะกินเวลานานเป็นเดือน จึง จัดเป็นเฟิร์นที่ทนน้ำท่วม

ป่าดิบเขาระดับสูง พบในพื้นที่ที่มีระดับความสูงเกิน ๑,๘๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล บริเวณนี้จะไม่ค่อยมีไม้ต้น และมักจะมีขนาดเล็ก พบบริเวณภูเขาในภาคเหนือ ตามลานหิน หรือขอนไม้ล้ม มักจะถูกปกคลุมด้วยมอสนานาชนิด ป่าค่อนข้างทึบ และมีความชื้นสูง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน บ่อยครั้งที่พบว่า มีหมอกปกคลุม จนถึงเวลาบ่าย พืชที่ขึ้นในป่าดิบเขาระดับสูงจึง ต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่ผันแปรใกล้จุดเยือกแข็ง ในเวลากลางคืนของฤดูหนาว และอุณหภูมิที่สูง ในเวลากลางวันช่วงฤดูร้อน นอกจากนี้ยังมี ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศที่แตกต่างกันมากใน ฤดูฝนและฤดูร้อน คือมีความชื้นสูงมากในช่วง ฤดูฝน และค่อนข้างแห้งในช่วงฤดูร้อน

เฟิร์นที่ขึ้นบนดิน จะพบตามพื้นป่า หรือตามที่ลาดชัน ซึ่งมักจะอยู่ภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ ต้นเฟิร์นที่พบมาก เช่น กูดภู กูดต้นใบฝอย กูด ขนนก กูดเขาใบแฉก (Colysis pentaphylla) เป็นต้น

ป่าชนิดนี้มักพบพืชอิงอาศัยจำพวก มอส เฟิร์น และไลเคนเป็นจำนวนมาก เฟิร์นที่จัดเป็นดัชนีของป่าดิบเขาระดับสูง เช่น นาคราชใบ ฝอย (Araiostegia faberiana) เถานาคราชใบขน กูดฮ่อม (Crypsinus oxylobus) เฟิร์นใบมีด (Asplenium ensiforme) กูดผา (Polypodium manmeiense) กูดข้อต่อ  (Arthromeris lehmanni) ในป่าชนิดนี้ จะพบเฟิร์นขนาดเล็กที่คล้ายมอส หรือลิเวอร์เวิร์ต คือ ฟิลมีเฟิร์น เช่น กูดใบเยื่อ (Hymenophyllum polyanthos) และเฟิร์นในวงศ์ Grammitidaceae เช่น กูดใบแฉก (Prosaptia khasyana) กูดเขาใบขน (Gramitis dorsipila)

พืชอิงอาศัยจำพวกเฟิร์น จะต้องปรับตัวให้อยู่รอดในช่วงฤดูแล้ง โดยจะมีการปรับตัวต่างๆ กัน ในภาวะที่ขาดน้ำ เฟิร์นจะพักตัว และพยายามป้องกันการเสียน้ำจากต้นหรือใบ จะดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยอาศัยน้ำที่สะสมอยู่ในใบ หรือในลำต้น การป้องกันการเสียน้ำ อาจจะทำโดยการทิ้งใบในช่วงฤดูแล้ง เมื่อลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ นำลมหนาว และอากาศแห้งมา และจะแตกใบใหม่ทุกปีเมื่อได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งทำให้เกิดฝนตก เฟิร์นที่มี การปรับตัวเช่นนี้คือ นาคราชใบฝอย เถา นาคราชใบขน กูดผา กูดฮ่อม เฟิร์นบางชนิด จะไม่ทิ้งใบ แต่จะลดพื้นที่ใบที่ใช้ในการคายน้ำ โดยใบจะบิดงอ เช่น ลิ้นกุรัม จะม้วนใบตาม แนวยาวและหันด้านล่างของแผ่นใบซึ่งมีขนรูป ดาวปกคลุมหนาแน่น ให้สัมผัสกับความแห้งแล้ง และความหนาวเย็นของอากาศ ส่วนกูดใบแถบ ใบจะหดสั้นตามแนวขวางของแผ่นใบ
“กูดเกี๊ยะ” เป็นเฟิร์นที่ทนแล้ง และเจริญได้ดีในที่โล่งแจ้ง
"กูดเกี๊ยะ" เป็นเฟิร์นที่ทนแล้ง และเจริญได้ดีในที่โล่งแจ้ง
เฟิร์นในป่าหญ้า

ป่าหญ้า เป็นพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยหญ้าเป็นส่วนใหญ่ เกิดจากการที่ป่าเดิมถูกทำลาย เช่น จากการถางป่า หรือเกิดไฟไหม้ป่า ป่าหญ้าจึงพบได้ทั่วไป ในทุกภาคของประเทศ ที่ระดับความสูง จากระดับน้ำทะเลต่างๆ กัน บริเวณนี้ มักจะมีไม้ต้นขึ้นห่างๆ กัน หรือในบางท้องที่ ที่ไม่พบไม้ต้นเลย จึงเป็นบริเวณที่โล่ง กลางแจ้ง พืชจำพวกเฟิร์น ซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นในที่ร่ม จึงหาได้ยากในป่าหญ้า เฟิร์นที่ขึ้นในป่าหญ้าต้องเป็นเฟิร์นที่สามารถเจริญ ในที่กลางแจ้งได้ดี ซึ่งจะเป็นพวกที่ขึ้นบนดิน และมีลำต้นทอดขนานใต้ดิน ใบมักจะคล้ายแผ่นหนัง ได้แก่ กูดเกี๊ยะ กูดปี้ด จากลักษณะที่ทนแล้งได้ดีและขึ้นอยู่ในที่โล่งกลาง แจ้ง จึงทำให้เฟิร์นทั้งสองชนิดมีการกระจายพันธุ์ ได้กว้างกว่าเฟิร์นที่ชอบขึ้นในที่ที่มีร่มเงา โดย เฉพาะอย่างยิ่ง กูดเกี๊ยะมีการกระจายพันธุ์ได้ทั้ง ในเขตร้อนชื้นและเขตหนาวของโลก
หัวข้อก่อนหน้า