สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 28
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๘ / เรื่องที่ ๔ ทุเรียน / การจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณและปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต
การจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณและปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต
|
การจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณและปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต
หลักการสำคัญคือ
การจัดการให้ผลอ่อนมีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีการชะงัก
หรือชะลอการพัฒนา อันเนื่องมาจากสาเหตุต่างๆ เช่น
การส่งธาตุอาหารในรูปของสารประกอบคาร์โบไฮเดรตจากแหล่งผลิตในต้น
ไปเลี้ยงผลอ่อนไม่เพียงพอ การขาดน้ำ หรือสาเหตุอื่นๆ
โดยใช้วิธีการดังต่อไปนี้
๑. การตัดแต่งผล
ต้องทำอย่างน้อย
๓ ครั้ง เริ่มจากตัดแต่งผลอ่อนที่มีรูปทรงบิดเบี้ยว ขนาดเล็ก
หรือต่างรุ่นออก เหลือแต่ผลอ่อน ที่มีลักษณะรูปทรงสมบูรณ์ ขั้วผลใหญ่
การตัดแต่งผลอ่อนครั้งแรก ต้องทำให้เสร็จภายในสัปดาห์ที่ ๔ หลังดอกบาน
โดยปริมาณผลที่เก็บไว้
ควรมีมากกว่าจำนวนผลที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ประมาณร้อยละ ๒๐
๒. การใส่ปุ๋ย
ใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมสอดคล้องกับช่วงพัฒนาการของผล
จะช่วยเพิ่มผลผลิต และเพิ่มคุณภาพได้ ช่วงแรกใส่ปุ๋ยสูตร ๑๒-๑๒-๑๗+๒
เมื่อผลอ่อนมีอายุระหว่าง ๕ - ๖ สัปดาห์ หลังดอกบาน และใส่ปุ๋ยสูตร ๐-๐-๕๐
เมื่อผลอ่อนมีอายุระหว่าง ๗ - ๘ สัปดาห์ หลังดอกบาน การใส่ ปุ๋ยทั้ง ๒
สูตรในช่วงที่กำหนดนี้ จะช่วยเพิ่มขนาดผลเนื้อมีการพัฒนาได้ดี และสุกแก่
(เข้าสี) ได้เร็วขึ้น
๓. การจัดการเสริมด้วยปุ๋ย “สูตรทางด่วน”
ช่วยให้ผลอ่อนของทุเรียนเจริญเติบโตดี ผลแก่เร็ว มีคุณภาพสูง ควรฉีด “สูตรทางด่วน” ติดต่อกันทุกสัปดาห์จำนวน ๕ ครั้ง เริ่มตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุ ๕ สัปดาห์หลังดอกบานเป็นต้นไป
๔. การป้องกันการแตกใบอ่อน
การป้องกันไม่ให้ทุเรียนแตกใบอ่อน
ในระหว่างพัฒนาการของผลอ่อนเป็นสิ่งจำเป็น
เพราะหากมีการแตกใบอ่อนในช่วงนี้ ผลอ่อนจะไม่สามารถแข่งขัน
เพื่อแย่งอาหารสะสมกับใบอ่อนได้ ผลอ่อนที่กำลังพัฒนาก็จะหยุดชะงัก
และเกิดผลกระทบในด้านคุณภาพของผลติดตามมา
๕. การโยงผลทุเรียน
วิธีการโยงผลทุเรียนที่ถูกต้อง
สามารถลดการร่วงของผล และกิ่งหัก หรือกิ่งฉีก เนื่องจากลมแรงได้
การโยงผลทุเรียนต้องผูกเชือกโยงกับกิ่งทุเรียน
ให้เลยตำแหน่งเชื่อมต่อระหว่าง ขั้วผลกับกิ่ง ไปทางด้านปลายยอดของกิ่ง
โดยพยายามสอดดึงเชือก โยงเหนือกิ่ง ทำมุมกว้าง ในแนวขนานกับกิ่งนั้น
แล้วดึงปลายเชือก ผูกรั้งกับต้นให้ตึงพอประมาณ สังเกตได้จากกิ่งนั้น
ยกระดับสูงขึ้นเล็กน้อย และสามารถเคลื่อนไหวได้ค่อนข้างเป็นอิสระ
เชือกโยงกิ่ง หรือผลทุเรียน ต้องเป็นวัสดุ ที่ทนทานต่อแรงดึงค่อนข้างสูง
ควรใช้เชือกโยงหลายสี ในกรณีที่มีผลทุเรียนหลายรุ่น ในต้นเดียวกัน
๖. การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
ในระหว่างที่ผลอ่อนกำลังพัฒนาเป็นสิ่งจำเป็น หากละเลย จะทำให้ปริมาณผลผลิต
และคุณภาพของผลทุเรียนลดลง โรคและแมลงที่สำคัญ ได้แก่ โรคผลเน่า
หนอนเจาะผล ไรแดง เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยหอย
|
|