สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 28
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๘ / เรื่องที่ ๔ ทุเรียน / ทุเรียนแก่
ทุเรียนแก่
|
ทุเรียนแก่
เราทราบได้ว่าทุเรียนแก่ โดยดูจาก
๑.
สังเกตก้านผล ก้านผลจะแข็งและมีสีเข้มขึ้น เมื่อลูบจะรู้สึกสากมือ
เมื่อจับก้านผลแล้วแกว่งผลทุเรียน จะรู้สึกว่า
ก้านผลทุเรียนมีสปริงมากขึ้น ก้านผลบริเวณปากปลิงจะบวมโต เห็นรอยต่อชัดเจน
๒. สังเกตหนาม ปลายหนามแห้ง มีสีน้ำตาลเข้ม เปราะและหักง่าย
ดังนั้น เมื่อมองจากด้านบนของผล จะเห็นหนามเป็นสีเข้ม
หนามมีลักษณะกว้างออก ร่องหนามห่าง เวลาบีบปลายหนามเข้าหากันจะรู้สึกว่า
มีสปริง
๓. สังเกตรอยแยกระหว่างพู ผลทุเรียนที่แก่จัด
จะสังเกตเห็นรอยแยกบนพูได้อย่างชัดเจน ยกเว้นบางพันธุ์ที่ปรากฏไม่เด่นชัด
เช่น พันธุ์ก้านยาว
๔. การชิมปลิง ผลทุเรียนที่แก่จัด
เมื่อตัดขั้วผลหรือปลิงออก จะพบน้ำใส ซึ่งไม่ข้นเหนียว
เหมือนในทุเรียนอ่อน และเมื่อใช้ลิ้นแตะชิมดูจะมีรสหวาน
๕.
การเคาะเปลือก หรือกรีดหนาม เมื่อเคาะเปลือกผลทุเรียนที่แก่จัด
จะมีเสียงดังหลวมๆ เนื่องจากมีช่องว่างระหว่างเปลือกและเนื้อภายในผล
เสียงหนักหรือเบาแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพันธุ์และอายุของต้นทุเรียน
๖.
การปล่อยให้ทุเรียนร่วง ปกติดอกทุเรียนแต่ละรุ่นในแต่ละต้น
จะบานไม่พร้อมกัน และมีช่วงต่างกันไม่เกิน ๑๐ วัน ดังนั้น
เมื่อมีผลทุเรียนในต้นเริ่มแก่ สุก และร่วง ก็เป็นสัญญาณเตือนว่า
ผลทุเรียนที่เหลือ ในรุ่นนั้นแก่แล้ว สามารถเก็บเกี่ยวได้
๗.
การนับอายุ โดยนับอายุผลเป็นจำนวนวันหลังดอกบาน เช่น พันธุ์ชะนี ใช้เวลา
๑๐๐ - ๑๐๕ วัน พันธุ์หมอนทองใช้เวลา ๑๒๕ - ๑๓๐ วัน การนับวันหรืออายุของผล
จะแตกต่างกันเล็กน้อยในแต่ละปี และในแต่ละท้องถิ่น
ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ เช่น ถ้าปีใดมีอุณหภูมิเฉลี่ยค่อนข้างสูง
ผลทุเรียนจะแก่เร็วกว่าปีที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า
|
|