สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 28
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๘ / เรื่องที่ ๖ พิษภัยของบุหรี่ / ผลกระทบของการสูบบุหรี่
ผลกระทบของการสูบบุหรี่
ผลกระทบของการสูบบุหรี่
ผลกระทบของการสูบบุหรี่ต่อสุขภาพร่างกาย
สารต่างๆ
ซึ่งมีอยู่ในบุหรี่ และในควันบุหรี่ ที่กล่าวมาแล้ว
เมื่อผู้สูบบุหรี่สูดเข้าสู่ร่างกายพร้อมๆ กัน จะก่อให้เกิดพิษ
ที่ทำอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งผลกระทบต่อร่างกาย ทำให้เกิดอาการดังนี้
ก. ผลกระทบระยะสั้น
- ประสาทสัมผัสของการรับรู้กลิ่นและรส จะทำหน้าที่ได้ลดลง
- แสบตา น้ำตาไหล
- ขนอ่อนที่ทำหน้าที่พัดโบก เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมภายในหลอดลมเป็นอัมพาต หรือทำงานได้ช้าลง
- ระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ในปอด และในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- หัวใจเต้นเร็วขึ้น และความดันโลหิตสูงขึ้น
- มีกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น
- เกิดกลิ่นที่น่ารังเกียจตามร่างกาย และเสื้อผ้า
- ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น และมีกลิ่นปาก
ข. ผลกระทบระยะยาว
เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ ได้แก่
- โรคมะเร็งปอด และมะเร็งในส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น กล่องเสียง ลำคอ หลอดอาหาร และกระเพาะปัสสาวะ
- โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ และโรคหัวใจขาดเลือด มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการ หัวใจวาย
- โรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดส่วนอื่นๆ ตีบตัน และหลอดเลือดใหญ่ทรวงอก และช่องท้องโป่งพอง
- โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลม อักเสบเรื้อรัง
- ทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อม จากการอุดตันของเส้นเลือดขนาดเล็ก ที่ไปเลี้ยงประสาท ที่เกี่ยวกับการควบคุมการแข็งตัวของอวัยวะเพศ
- เกิดอาการเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงแขนและขาตีบตัน อาจต้องตัดแขนหรือขาทิ้ง
|
|
โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ
หลายชนิด ทำให้อัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ สูงขึ้นเป็น ๒ เท่า
อัตราเสี่ยงของการเกิดโรคถุงลมโป่งพอง สูงขึ้นเป็น ๖ เท่า
และอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอด สูงขึ้นเป็น ๑๐ เท่า การสูบบุหรี่
ทำให้ผู้สูบอายุสั้นลง โดยเฉลี่ย ๕ - ๘ ปี
ผู้สูบบุหรี่ที่เริ่มสูบตั้งแต่วัยรุ่น และไม่หยุดสูบ ร้อยละ ๕๐
จะเสียชีวิต ด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ และครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้
จะเสียชีวิตในวัยกลางคน ก่อนอายุ ๗๐ ปี
โรคต่างๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้
ก. โรคมะเร็ง
ผู้สูบบุหรี่มีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งในอวัยวะต่างๆ
เพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ได้แก่ มะเร็งช่องปาก โพรงจมูก
กล่องเสียง หลอดลม ปอด หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ตับอ่อน ตับ ไต
กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก เต้านม ปากมดลูก รังไข่ ต่อมลูกหมาก
ทั้งนี้ ผู้ที่สูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารเพิ่มขึ้นอีก สาเหตุที่การสูบบุหรี่
ทำให้เกิดโรคมะเร็งในอวัยวะหลายๆ แห่ง
ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่สารก่อมะเร็งในควันบุหรี่ สัมผัสกับอวัยวะโดยตรง
เช่น กล่องเสียง และปอด หรือสารก่อมะเร็งถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด
แล้วไหลเวียนไปตามอวัยวะต่างๆ เช่น ตับอ่อน และกระเพาะปัสสาวะ โดยในภาพรวม
พบว่า ประมาณร้อยละ ๓๐ ของมะเร็งที่เกิดในคน มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่
มะเร็งปอด
ร้อยละ
๙๐ ของมะเร็งปอด มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
ที่เป็นมะเร็งปอด ประมาณร้อยละ ๓๐
เป็นผลจากการที่ได้รับควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ มีการศึกษาพบว่า
ผู้สูบบุหรี่จัดมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบถึง ๕๐
เท่า เนื่องจากปอดเป็นอวัยวะที่รับควันบุหรี่มากที่สุด
ความเสี่ยงต่อพิษภัยของควันบุหรี่ ขึ้นอยู่กับปริมาณบุหรี่ที่สูบ
และวิธีการสูดควันบุหรี่ การเกิดโรคมะเร็งปอดระยะแรก จะไม่มีอาการ
เมื่อใดที่มีอาการแสดงว่า โรคเป็นมากแล้ว อาการที่พบคือ ไอเรื้อรัง
เสมหะมีเลือดปน น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีไข้เล็กน้อย เจ็บหน้าอก
ซึ่งเป็นอาการร่วมของโรคต่างๆ ได้หลายชนิด จึงมักทำให้ผู้ป่วยมาหาแพทย์ช้า
และการวินิจฉัยโรคล่าช้า สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งปอด
ในระยะที่เป็นมากแล้ว จะมีอาการไอเป็นเลือด น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
ปวดกระดูกซี่โครง และไหปลาร้า หรือสะบ้า อาจมีอาการหอบเหนื่อย
บวมบริเวณหน้า คอ แขน และอกส่วนบน ปวดศีรษะ ซึม กลืนอาหารลำบาก
ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะ และอุจจาระได้
โดยเฉลี่ยผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งปอด
จะมีชีวิตอยู่ได้ หลังจากเริ่มมีอาการเป็นเวลาประมาณ ๖ เดือน โดยร้อยละ ๘๐
จะเสียชีวิตภายใน ๑ ปี และถึงแม้จะให้การรักษาอย่างดี
ก็มีอัตราการรอดชีวิตเพียงร้อยละ ๒ - ๕ เท่านั้น
ข. โรคหัวใจและหลอดเลือด
โรคหัวใจ
ขณะนี้โรคหัวใจ
เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย
โดยส่วนใหญ่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ซึ่งการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุที่สำคัญ
ผู้สูบบุหรี่มีโอกาสหัวใจวายตายในอายุ ๓๐ - ๔๐ ปี สูงกว่าผู้ไม่สูบถึง ๕
เท่า สารพิษในควันบุหรี่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดทั่วร่างกาย
โดยที่รูหลอดเลือดค่อยๆ ตีบลง จากการหนาตัวของผนังหลอดเลือด
จนเกิดการตีบตันของเส้นเลือด เป็นเหตุให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ
ของร่างกายได้น้อยลง จึงเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือโรคหัวใจขาดเลือดได้
เมื่อหลอดเลือดตีบ จนมีผลให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้
จะเกิดอาการจุกเสียด เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเวลาออกกำลัง
และถึงขั้นหัวใจวายได้ในที่สุด
โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
สาเหตุที่สมรรถภาพทางเพศเสื่อม
เกิดจากเส้นเลือด และเส้นประสาท ที่ควบคุมการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายเสื่อม
ซึ่งควันบุหรี่ มีสารที่ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง การทำงานจึงเสื่อมลง
นอกจากนี้ ยังพบตัวอสุจิในผู้สูบบุหรี่ มีการเคลื่อนไหวผิดปกติ
มากกว่าในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ รวมทั้งจำนวนอสุจิลดลงด้วย ในขณะเดียวกัน
การเจ็บป่วยอื่นๆ ของผู้ที่สูบบุหรี่ ก็ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้
เพราะโรคที่เกิดล้วนเป็นโรคเรื้อรัง ทำให้เหนื่อยหอบรักษาไม่หาย เช่น
โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งของอวัยวะต่างๆ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีความกังวลกับโรคที่เป็น และมีผู้ป่วยหลายราย
ที่เกิดอาการหอบ ขณะมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดความกลัว
ไม่กล้าที่จะมีเพศสัมพันธ์อีก
โรคหลอดเลือดในสมองตีบ
การเสื่อมของหลอดเลือดในสมอง
มีกลไกในการเกิดเหมือนกับที่เกิดกับเส้นเลือดหัวใจ
และอวัยวะอื่นของร่างกาย ผู้ป่วยอาจเป็นอัมพาตจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยง
หรือมีความจำเสื่อมลง
ค. โรคระบบทางเดินหายใจ
ควันบุหรี่
ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจอย่างมาก
และทำให้เนื้อปอดเสื่อมสมรรถภาพลง
เมื่อมีการสะสมของควันบุหรี่ในปอดอย่างต่อเนื่อง โรคที่พบ คือ
ถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง
เป็นหวัดและหลอดลมอักเสบง่าย และโรคทางเดินหายใจอื่นๆ
โรคถุงลมโป่งพอง
โรคถุงลมโป่งพอง
เป็นโรคที่เนื้อปอดค่อยๆ เสื่อมสมรรถภาพ จากการได้รับควันบุหรี่
ตามปกติแล้ว พื้นที่ในปอดจะมีถุงลมเล็กๆ กระจายอยู่เต็มทั่วปอด
เพื่อทำหน้าที่รับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย
สารไนโตรเจนไดออกไซด์ในควันบุหรี่ จะทำลายเนื้อเยื่อในปอด
และในถุงลมให้ฉีกขาดทีละน้อยๆ และรวมตัวกลายเป็นถุงลม ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
เกิดโรคถุงลมโป่งพอง มีผลทำให้พื้นที่ผิวเนื้อเยื่อภายในปอด
ซึ่งเป็นที่รับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายมีขนาดเล็กลง จึงต้องหายใจเร็วขึ้น
เพื่อให้ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพียงพอ โรคถุงลมโป่งพองนี ้ในระยะท้ายๆ
ของโรค จะทำให้ผู้ป่วยทรมานมาก เนื่องจากเหนื่อย จนทำอะไรไม่ได้
ต้องนอนอยู่กับที่ และอาจต้องได้รับออกซิเจนจากถังตลอดเวลา
จากรายงานการศึกษาพบว่า
ร้อยละ ๗๐ ของผู้ป่วยที่อาการอยู่ในระยะสุดท้าย จะเสียชีวิตภายใน ๑๐ ปี
โดยมีอาการเหนื่อยหอบตลอดเวลา จนกว่าจะเสียชีวิต
ง. โรคอื่นๆ
มารดาที่สูบบุหรี่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์
จากผลของควันบุหรี่ที่มีต่อรก เช่น คลอดก่อนกำหนด แท้งง่าย และมีบุตรยาก
รวมทั้งยังทำให้ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย อัตราตายทารกแรกเกิดสูง
และภาวะเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันของทารกเกิดได้มาก นอกจากนี้
การสูบบุหรี่ยังทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ง่ายอีกด้วย
เนื่องจากสารเคมีในควันบุหรี่ กระตุ้นกระเพาะอาหาร
ให้มีการหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ |
| ผลกระทบของการสูบบุหรี่ต่อสุขภาพของคนข้างเคียง
ควันบุหรี่ สามารถก่อให้เกิดผลกระทบ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ แต่ได้รับควันบุหรี่ได้ ดังนี้
ก. ผลกระทบระยะสั้น
- เกิดการระคายเคืองต่อจมูก ตา คอ ปวดศีรษะ ไอ คลื่นไส้ เกิดความรู้สึกไม่สบาย
- ทำให้มีอาการกำเริบมากขึ้นในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด และโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ โดยจะมีอาการหายใจติดขัด หรือถึงขั้นเหนื่อยหอบ
- ในผู้ได้รับควันบุหรี่ที่เป็นโรคหัวใจ จะทำให้เกิดอาการเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอมากขึ้น เกิดอาการจุกเสียดหน้าอกได้
ข. ผลกระทบระยะยาว
- ในห้องที่อากาศไม่ถ่ายเท
การสูบบุหรี่ทุกๆ ๒๐ มวน
จะทำให้ผู้ไม่สูบบุหรี่ต้องหายใจเอาควันบุหรี่เข้าไป
เป็นปริมาณเท่ากับการสูบบุหรี่ ๑ มวน
- ผู้ไม่สูบบุหรี่ที่อยู่ในห้องทำงาน
ที่มีควันบุหรี่ประมาณครึ่งชั่วโมง
จะมีปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ในเลือดเท่ากับคนที่สูบบุหรี่เอง ๑ มวน
- ผู้ไม่สูบบุหรี่
ที่ต้องอยู่ในห้องทำงาน หรือในสถานที่แออัดที่มีควันบุหรี่เป็นเวลานาน
จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นจากคนทั่วไป เฉลี่ยร้อยละ ๑๐ - ๓๐
- ในหญิงมีครรภ์
และทารก ทำให้เกิดความเสี่ย งที่ทารกแรกคลอด จะมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าปกติ
ทารกมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตระหว่างคลอด
หรือเกิดความพิการแต่กำเนิดเพิ่มขึ้น
และมีความเสี่ยงของอาการเกิดโรคไหลตาย ในเด็กสูงขึ้น เช่นเดียว
กับที่มารดาสูบบุหรี่เอง
- ในเด็กเล็ก
ทำให้เกิดความเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ
และปอดบวม บ่อยกว่าเด็กทั่วไป และมีอัตราการเกิดโรคหืดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้
ยังทำให้เกิดการติดเชื้อของหูส่วนกลางง่าย และในระยะยาว
เด็กที่ได้รับควันบุหรี่ พัฒนาการของปอดจะน้อยกว่า และพัฒนาการทางสมอง
จะช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้รับควันบุหรี่
- ในผู้ใหญ่
จากการศึกษาทางการแพทย์ พบว่า การได้รับควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ
ทำให้เกิดโรคมะเร็งในปอดได้ ผู้หญิงที่ได้รับควันบุหรี่วันละ ๓
ชั่วโมงขึ้นไป จะมี
อัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งที่ลำคอมากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับควันบุหรี่ ๓
เท่า และมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งในส่วนอื่นๆ มากกว่าคนปกติ ๒ เท่า
ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่ จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือดสูงกว่าคนทั่วๆ ไป
ผู้หญิงที่สามีสูบบุหรี่ มีความเสี่ยงที่จะมีอาการหัวใจขาดเลือด
สูงกว่าผู้หญิงที่สามีไม่สูบบุหรี่ ๓ - ๔ เท่า
และจะตายเร็วกว่าผู้หญิงที่สามีไม่สูบบุหรี่ โดยเฉลี่ย ๔ ปี
| | ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับครอบครัวและประเทศ
ก. ความสูญเสียที่สามารถคำนวณได้
ได้แก่
ค่าใช้จ่ายในการสูบบุหรี่
ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
จะมีค่าใช้จ่ายประมาณวันละ ๑๐.๘ บาทต่อคน
โดยผู้ชายมีรายจ่ายสูงกว่าผู้หญิงเกือบเท่าตัว คือ ประมาณ ๑๑.๐ บาท
และผู้หญิงประมาณ ๖.๗ บาท ถึงแม้รายจ่ายต่อคนต่อวัน จะไม่สูงมากนัก
แต่ถ้าพิจารณาใน พ.ศ. ๒๕๔๔ มีผู้สูบบุหรี่เป็นประจำจำนวน ๑๐,๕๕๗,๑๐๐ คน
ดังนั้น ผู้สูบบุหรี่ทั้งหมด ต้องเสียเงินเป็นค่าใช้จ่าย รวมกันถึง ๔
หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี
ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่
จากการวิเคราะห์ของธนาคารโลกเกี่ยวกับรายได้
และความสูญเสียจากการสูบบุหรี่ ใน พ.ศ. ๒๕๓๘ พบว่า ในทุกๆ ๑,๐๐๐ ตัน
ของยาสูบที่ผลิตออกมา จะทำรายได้ หรือผลกำไรสุทธิ ให้แก่ผู้ผลิต ๖๕
ล้านบาท แต่ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๖๕๐ คน และเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ๗๔๕
ล้านบาท
ดังนั้น ความสูญเสียจากยาสูบเพียง ๑,๐๐๐ ตัน จึงมากกว่ารายรับถึง ๖๘๐ ล้านบาท (๗๔๕ - ๖๕ ล้านบาท)
ขณะนี้ ทั่วโลกผลิตยาสูบได้รวมกันปีละ ๗,๓๐๐,๐๐๐ ตัน จึงคิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของโลก ถึงปีละประมาณ ๕ ล้านล้านบาท
ธนาคารโลกได้สรุปว่า
การลงทุนเรื่องการป้องกันไม่ให้ผู้คนติดบุหรี่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด
ในการลดค่าใช้จ่าย ในด้านการรักษาโรคภัยไข้เจ็บของประชาชน
รองจากการฉีดวัคซีนให้แก่ทารกแรกเกิด
จากความสูญเสียทางเศรษฐกิจเหล่านี้
ทำให้ปัจจุบัน ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย
ได้งดการให้สินเชื่อแก่ประเทศที่ขอกู้ไปลงทุนเรื่องยาสูบทุกชนิด
ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก การส่งออก หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
แต่สนับสนุนการกู้ยืมเงิน เพื่อใช้ในการควบคุมการสูบบุหรี่
ข. ความสูญเสียที่ยากจะคำนวณได้
ได้แก่
- เวลาและแรงงาน ที่ญาติหรือครอบครัวต้องเสียไป ในการดูแลผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่
- ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับครอบครัว ที่ผู้นำครอบครัวป่วย หรือเสียชีวิต ก่อนวัยอันควรจากการสูบบุหรี่
- ในครอบครัวที่ยากจนอยู่แล้ว
การซื้อบุหรี่สูบ เป็นการเบียดบังเงิน ที่จะนำไปใช้
ในสิ่งที่เป็นประโยชน์กว่า เช่น การซื้ออาหาร
และการใช้จ่ายในด้านการศึกษาของบุตร
- ความสูญเสียทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น จากการที่ต้องเสียเงินตราออกนอกประเทศ ให้แก่บริษัทบุหรี่ต่างประเทศ
ค. ความสูญเสียที่ไม่สามารถจะคำนวณได้
ได้แก่
- คุณภาพชีวิตของผู้ที่ป่วยจากการสูบบุหรี่
- ความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่
- คุณภาพชีวิตของครอบครัวผู้ที่ป่วย และ/หรือเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่
- ความรำคาญ และความทุกข์ของผู้ที่ต้องรับควันบุหรี่จากผู้สูบบุหรี่
|
|