สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 29
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๙ / เรื่องที่ ๗ ปลาสวยงาม / การเลี้ยงปลาสวยงามเป็นงานอดิเรก
การเลี้ยงปลาสวยงามเป็นงานอดิเรก
ตู้ปลารูปแบบต่างๆ
กรวด หิน ทราย ที่นำมาประดับตู้ปลา
ไรสีน้ำตาลหรืออาร์ทีเมีย |
การเลี้ยงปลาสวยงามเป็นงานอดิเรก
๑. ความรู้เกี่ยวกับปลา
ปลาเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่
ในน้ำ ปกติจะเคลื่อนที่ไปโดยการเคลื่อนไหวของโคนครีบหาง โดยมีครีบอื่นๆ
ช่วยพยุงตัว จมูกของปลาจะใช้เฉพาะในการดมกลิ่น ไม่เกี่ยวข้องกับการหายใจ
ผิวหนังของปลาบาง ชนิดปกคลุมด้วยเกล็ด บางชนิดไม่มีเกล็ด
ตำแหน่งและรูปร่างของปาก มีลักษณะแตกต่างกันออกไปหลายรูปแบบ
ซึ่งจะชี้ถึงอุปนิสัยในการกินอาหาร และระดับความลึกของน้ำ ที่ปลาอาศัยอยู่
ปลาหายใจด้วยเหงือก โดยดูดน้ำเข้าไปทางปาก แล้วปล่อยออกผ่านทางเหงือก
ออกซิเจนในน้ำจะถูกดูดซึมผ่าน ซี่เหงือกเข้าสู่เลือด ขณะที่ของเสียจะถูก
กำจัดออกผ่านเหงือก ปลาบางชนิดมีการ พัฒนาอวัยวะช่วยหายใจ
ทำให้สามารถใช้ออกซิเจนจากอากาศที่ฮุบจากผิวน้ำได้โดยตรง
ปลาส่วนใหญ่มีถุงลมซึ่งช่วยในการลอยตัว
บางชนิดใช้ถุงลมในการสร้างเสียงหรือขยายเสียง
ปลามีประสาทสัมผัสในการดมกลิ่นค่อนข้างไว
และปกติจะมีปุ่มรับรสพิเศษบริเวณหนวดหรือครีบ ซึ่งช่วยในการหาอาหาร
ปลามีเส้นข้างตัวซึ่งทำหน้าที่รับความรู้สึกจากการสั่นสะเทือนที่สะท้อนกลับมายังตัวปลา
ทำให้ปลาสามารถเดินทางและหาอาหารได้แม้ในที่มืด
รูปร่างของปลาแตกต่างกันไปหลายรูปแบบ
เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมในแหล่งน้ำนั้นๆ โดยปกติปลาจะ
อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่สะอาด อย่างไรก็ตาม
ปลาแต่ละชนิดสามารถทนทานต่อสารมลพิษ และการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำอื่นๆ
แตกต่างกันไป
๒. ตู้ปลาและอุปกรณ์
ตู้กระจกสำหรับเลี้ยงปลาสามารถหา
ซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายตู้ปลาและอุปกรณ์ ซึ่งอาจมีการออกแบบขอบตู้
และที่ตั้งตู้ให้สวยงาม อย่างไรก็ตาม การซื้อหรือสั่งทำ
ตู้ปลาขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรบรรจุน้ำมาก
จะต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการออกแบบความหนาของกระจก และการเชื่อมยึดกระจก
เนื่องจากต้องรับน้ำหนักมาก อาจแตกระเบิด และเป็นอันตรายได้
ตู้ปลาอาจเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามแนวยาว หรือรูปจตุรัส หรือทรงสูง
บางชนิดอาจออกแบบให้มีส่วนที่จัดทำระบบกรองอยู่ภายในตู้
บางชนิดเป็นเพียงตู้เปล่า เพื่อความสวยงามอาจมีฝาครอบ
เพื่อซ่อนระบบไฟส่องสว่างและเครื่องให้อากาศ
ปลาสวยงามบางชนิดอาจเลี้ยงในบ่อหรือในอ่าง
ซึ่งก็จำเป็นต้องมีระบบกรองน้ำและระบบให้อากาศเหมือนกัน
โดยปกติการให้แสงสว่าง แก่ตู้ปลานั้นจะให้แสงจากด้านบน
โดยซ่อนหลอดไฟไว้ในฝาครอบ ส่วนอัตราการให้แสง ถ้าใช้หลอดนีออน
จะให้ในอัตรา ๑๐ วัตต์ต่อตารางฟุต หากเป็นหลอดทังสเตนให้ในอัตรา ๔๐
วัตต์ต่อตารางฟุต ระยะเวลาการให้แสงควรอยู่ที่ประมาณ ๑๒ - ๑๕
ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้พรรณไม้น้ำสามารถเจริญเติบโตได้ดี
และลดปัญหาการเกิดสาหร่ายที่เกาะตามกระจก
ถ้าเกิดสาหร่ายสีเขียวเกาะตามขอบตู้ แสดงว่าให้แสงมากเกินไป
ส่วนระบบการให้อากาศมีความจำเป็นสำหรับการเลี้ยงปลาตู้
ยกเว้นปลาสวยงามบางชนิด เช่น ปลากัด ที่สามารถเลี้ยงได้โดยไม่ต้องให้อากาศ
การให้อากาศเป็นการเพิ่มออกซิเจนในน้ำให้เพียงพอ สำหรับการใช้ของปลา
พรรณไม้น้ำ และจุลินทรีย์ที่อยู่ในตู้ ปกติการให้อากาศสามารถทำได้ ๒ วิธี
คือ วิธีแรก ใช้เครื่องให้อากาศเป่าลงสู่น้ำในตู้ โดยตรงโดยผ่านท่ออากาศ
และใช้หินโปร่งกระจายอากาศ และวิธีที่ ๒ ใช้วิธีให้อากาศในระบบกรอง
ในระบบที่ใช้เครื่องสูบน้ำ ขนาดเล็กที่มีท่ออากาศดูดน้ำออกจากเครื่องกรอง
เมื่อน้ำถูกดันออกผ่านท่อ ก็จะดึงอากาศลงไปผสมกับน้ำด้วย
หรืออาจใช้วิธีสูบน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำขนาดเล็ก
เข้าระบบกรองที่มีการติดตั้งวัสดุกรองเป็นชั้นให้น้ำไหลตกลงมา
และผสมอากาศลงมาด้วย
แต่วิธีนี้ประสิทธิภาพในการเพิ่มออกซิเจนจะค่อนข้างต่ำ
ระบบกรองสำหรับตู้ปลา
เป็นระบบที่ช่วยกำจัดเศษอาหารและของเสียสิ่งขับถ่ายจากตัวปลา
ซึ่งจะเน่าสลายให้สารพิษ ทำให้ เกิดอันตรายต่อปลา และทำให้น้ำขุ่นมีตะกอน
ถ้าไม่มีการเปลี่ยนน้ำหรือดูดตะกอนอย่าง สม่ำเสมอ
ก็ต้องใช้วิธีกรองตะกอนและการ กรองแบบชีววิธี
เพื่อกำจัดตะกอนและสารพิษพวกแอมโมเนียและไนไทรต์
ระบบกรองที่สมดุลกับปริมาตรน้ำและจำนวนปลา
อาจทำให้คงคุณภาพน้ำอยู่ได้ในระยะเวลานานหลายเดือน
โดยไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำ การกรองตะกอน ส่วนใหญ่จะใช้แผ่นกรองซึ่งเป็น
ใยสังเคราะห์หรือทรายเป็นวัสดุกรอง การกรองแอมโมเนียและไนไทรต์
เป็นการบำบัดน้ำโดยใช้ชีววิธี
โดยการใส่วัสดุกรองเพื่อให้จุลินทรีย์ที่ใช้แอมโมเนียและไนไทรต์ยึดเกาะ
และทำหน้าที่กำจัดแอมโมเนียและไนไทรต์ ในขณะที่น้ำไหลผ่านวัสดุกรอง
วัสดุกรองที่ให้แบคทีเรียยึดเกาะ อาจเป็นทราย กรวด หรือวัสดุอื่นๆ
ที่มีพื้นผิวยึดเกาะมาก และไม่เป็นอันตรายต่อแบคทีเรีย เช่น
พลาสติกรูปแบบต่างๆ โดยปกติจะมีการล้างวัสดุกรองที่
กรองตะกอนสารแขวนลอยเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเน่าเสีย
แต่วัสดุที่ให้แบคทีเรียยึดเกาะไม่จำเป็นต้องล้าง
ยกเว้นในระบบกรองทรายที่อาจมีการอุดตัน และมีการเน่าของเศษอาหาร
และสิ่งขับถ่ายจากปลา
รูปแบบของการกรองสำหรับตู้ปลา แบ่ง เป็น ๒ รูปแบบหลักๆ คือ
๑) การกรองนอกตู้ ใช้ระบบสูบน้ำโดยเครื่องสูบขนาดเล็ก
ดึงน้ำออกจากตู้ปลา มาผ่านวัสดุกรอง แล้วไหลกลับเข้าตู้
หรือใช้ระบบการให้อากาศดันน้ำให้ไหลออกจากตู้เข้าเครื่องกรอง แล้วไหลกลับ
โดยระบบกาลักน้ำ ตัวเครื่องอาจเป็นภาชนะแบบปิดที่ใส่วัสดุกรอง
และประกอบด้วยเครื่องสูบน้ำขนาดเล็ก เพื่อทำหน้าที่หมุนเวียนน้ำ
หรือเป็นกล่องเปิดสำหรับใส่วัสดุกรอง ซึ่งอาจเป็นทราย กรวด หรือแผ่นกรอง
ที่ทำจากใยสังเคราะห์ ที่แขวนอยู่ข้างตู้ปลา
๒) การกรองภายในตู้ การกรองภายในตู้มีหลายรูปแบบ
เช่น อาจเป็นตัวกรองที่ใส่ใว้ในตู้ปลา
ใช้ระบบให้อากาศดึงน้ำผ่านวัสดุกรองที่อาจเป็นทราย ฟองน้ำ
หรือแผ่นกรองที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์
ซึ่งสามารถเอาออกมาล้างทำความสะอาดได้ง่าย
หรือเป็นระบบกรองภายในที่ประกอบมากับตู้ปลา
โดยการแบ่งส่วนใดส่วนหนึ่งของตู้ โดยกั้นด้วยกระจกหรือแผ่นพลาสติก
ใช้ระบบน้ำล้นจาก ตู้เข้าสู่ระบบกรอง และใช้เครื่องสูบน้ำขนาด
เล็กสูบน้ำออกจากระบบกรองไหลกลับเข้าตู้ การจัดระบบกรองภายในอีกวิธีหนึ่ง
คือ วิธีที่เรียกว่า การกรองใต้ทราย
วิธีนี้จะใช้แผ่นตะแกรงพลาสติกวางที่พื้นตู้
และมีที่สำหรับต่อเชื่อมกับท่อพลาสติก
ที่ต่อเป็นแนวตั้งขึ้นมาเหนือระดับน้ำ ตรงโคนของท่อพลาสติกจะมีท่อขนาดเล็ก
สำหรับต่อกับเครื่องให้อากาศ บนตะแกรงปูด้วยกรวดและทราย เมื่อให้อากาศ
ฟองอากาศจะดันน้ำจากท่อ ทำให้มีการดึงน้ำจากใต้แผ่นกรองขึ้นมา
น้ำในตู้ก็จะไหลลงข้างล่างผ่านทราย
ตะกอนสารแขวนลอยจะถูกกรองดักอยู่ที่ผิวทราย และถูกย่อยสลาย โดยจุลินทรีย์
แบคทีเรียอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในชั้นทราย ก็จะทำหน้าที่เปลี่ยนแอมโมเนีย
ที่ได้จากการย่อยสลายของสารอินทรีย์เป็นไนไทรต์และไนเทรต ระบบการกรองนี้
ถ้ามีการจัดให้สมดุล จะทำให้คงคุณภาพน้ำไว้ได้นาน
ปลาสวยงามบางชนิดที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ
อาจต้องใช้เครื่องทำความร้อนขนาดเล็ก สำหรับตู้ปลาใส่ไว้ในตู้
เครื่องทำความร้อนนี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ปลาตู้
อัตราการใช้อยู่ที่ประมาณ ๕๐ วัตต์ต่อน้ำ ๓๐ ลิตร
๓. วัสดุที่ใช้ตกแต่งตู้ปลา
กรวด
ทราย และหินที่ใช้สำหรับจัด ตู้ปลามีหลายประเภท และหลายขนาด
การเลือกใช้ต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ที่จะใช้ให้ชัดเจน
เพื่อให้สามารถเลือกใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งนอกจากความสวยงาม
กลมกลืนในการจัดแต่งตู้ปลาแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงหน้าที่ หรือผลกระทบอื่นๆ
ของ กรวด ทราย หรือหินเหล่านี้ ที่อาจมีต่อคุณภาพน้ำ ปลา
หรือพรรณไม้น้ำในตู้ด้วย เช่น ในกรณีของทรายแก้ว ซึ่งเป็นทรายทะเลละเอียด
มีสีขาวสวย เมื่อส่องไฟลงมาจะเห็นเป็นชั้น สวยงาม แต่ทรายชนิดนี้จะมีปัญหา
ถ้าในตู้มีการจัดพรรณไม้น้ำลงปลูก เพราะชั้นทรายจะแน่นเกินไป
ทำให้รากของพรรณไม้น้ำไม่สามารถเจริญเติบโตได้
มีเพียงบางชนิดที่สามารถทนอยู่ได้ เช่น หอมน้ำ อย่างไรก็ตาม
อาจใช้วิธีแบ่งส่วนบริเวณที่ปลูกพรรณไม้น้ำโดยใช้วัสดุคั่น
แล้วใช้ทรายหยาบหรือกรวดลงบริเวณนั้น ถ้าใช้ระบบกรองใต้ทราย
หรือปลูกพรรณไม้น้ำ ควรใช้กรวดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ - ๓ มิลลิเมตร
ปกติถ้าเป็นระบบกรองใต้ทราย จะใช้กรวดหรือทรายหนาประมาณ ๔ - ๖ เซนติเมตร
ซึ่งกรวด หิน และทรายบางชนิด อาจทำปฏิกิริยากับน้ำ
ทำให้คุณภาพน้ำเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่มีหินปูนเป็นองค์ประกอบ
จะทำให้ความกระด้าง และความเป็นกรดด่างของน้ำเพิ่มขึ้น
ซึ่งเหมาะกับปลาที่ชอบน้ำกระด้าง
แต่ถ้าจะเลี้ยงปลาที่ชอบน้ำอ่อนต้องใช้กรวด หรือทรายชนิดอื่น
ในการจัดตู้ปลาทะเล ปกติจะใช้ทรายที่เป็นซากปะการัง
หรืออาจใช้เม็ดหินปูนบดขนาดเท่ากรวด
หินที่ใช้ในการประดับตู้ปลาทะเลส่วนใหญ่จะเป็นหินปูน
หินปูนจากทะเลสามารถใช้ได้ในการจัดตู้ปลาน้ำจืดที่ชอบอยู่ในน้ำกระด้าง
ท่อนไม้และรากไม้ที่จะใช้ในการจัด ตู้ปลา
ถ้าจะให้ดีควรใช้ท่อนไม้หรือรากไม้ที่เก็บจากแหล่งน้ำ
และแช่อยู่ในน้ำมาเป็นเวลานาน ทำให้ส่วนที่เน่าเปื่อยได้ผุพังไปหมดแล้ว
และแทนนินในเนื้อไม้ก็ละลายเจือจางไปแล้ว หรืออาจใช้วิธีนำมาต้ม
ล้างในน้ำหลายๆ ครั้ง สำหรับพรรณไม้น้ำ ควรเลือกใช้ที่เป็นพรรณไม้น้ำจริงๆ
ไม่ใช่พรรณไม้บกที่อาจทนอยู่ใต้น้ำได้เพียง ๓ - ๔ เดือน
โดยทั่วไปการจัดพรรณไม้น้ำจะให้ต้นที่มีขนาดสูงอยู่ด้านหลัง
และต้นเตี้ยอยู่ด้านหน้า ไม่ควรใช้พรรณไม้น้ำในการจัดตู้ปลาของปลากินพืช
และปลาที่ชอบขุดคุ้ยพื้น
๔. การจัดตู้ปลา
ก่อนจะจัดตู้ปลา
ต้องจัดเตรียมวัสดุที่ใช้ในการจัดและตกแต่ง โดยล้างให้สะอาด
จัดตั้งขาตั้งให้เรียบร้อยได้ระดับ ตัดแผ่นโฟมขนาดเท่ากับตู้ปลา
เพื่อใช้หนุนตู้แล้ว จึงจัดวางตู้ลงบนขาตั้งที่มีแผ่นโฟมรองรับ
หลังจากนั้นจึงใส่วัสดุปูพื้น ถ้าใช้ระบบกรองใต้ทราย
ก็เริ่มต้นด้วยการวางแผ่นพลาสติกพรุนที่รองรับทราย ต่อท่อพลาสติกที่จะใช้
ดึงมวลน้ำขึ้นมา โดยการใช้ฟองอากาศ แล้วปูพื้นด้วยกรวดหรือทราย
หลังจากนั้น จึงตกแต่งด้วยท่อนไม้ รากไม้ ก้อนหิน กรวด หรือพรรณไม้น้ำ
ต่อระบบให้อากาศ แล้วจึงเติมน้ำ โดยวางแผ่นวัสดุลงบนทรายที่ปูพื้น
รองน้ำที่เทลงไป เพื่อไม่ให้รบกวนทรายที่ปูไว้ ถ้าใช้ระบบกรองอื่นๆ
ก็ติดตั้งระบบกรอง และระบบให้อากาศ หลังจากนั้น
จึงเปิดระบบกรองและระบบให้อากาศทิ้งไว้ประมาณ ๑ คืน น้ำจะใส
จึงจัดหาปลามาปล่อยลงเลี้ยง ถ้าเป็นตู้ปลาน้ำจืด และใช้น้ำประปา
น้ำที่จะใช้ควรเก็บทิ้งไว้ ๒ - ๓ วัน เพื่อให้คลอรีนสลายตัวหมด
หรือกำจัดคลอรีนโดยการกรองถ่าน หรือใช้สารโซเดียมไทโอซัลเฟต
ถ้าเป็นน้ำทะเล ควรเตรียมน้ำทะเลฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน
และกำจัดคลอรีนก่อนนำมาใช้ ชนิดของปลาที่จะปล่อยลงเลี้ยงนั้น
แล้วแต่ความชอบของผู้เลี้ยง ที่จะสร้างความสวยงามในตู้ อย่างไรก็ตาม
ถ้าจัดตู้ปลาประเภทที่ปล่อย ปลาลงเลี้ยงรวมกันหลายประเภท
ควรจะเลือกชนิดของปลา ที่กระจายครอบคลุมทุกระดับความลึกของน้ำ
และเลือกปลาชนิดที่อยู่รวมกันได้ ปลากินเนื้อที่ดุร้ายต้องแยกเลี้ยง
หรือเลี้ยงเฉพาะกลุ่มปลาบางชนิด เช่น ปลาสร้อยน้ำผึ้ง
ซึ่งชอบเล็มกินสาหร่ายตามกรวดและหิน สามารถช่วยทำความสะอาดกรวด ทราย หิน
ใบไม้ และตู้กระจกได้เป็น อย่างดี ในการเลือกซื้อปลา ควรพิจารณาปลา
ที่มีสุขภาพดี สมบูรณ์แข็งแรง ลำตัวไม่มีแผลหรือตุ่ม
ฝาปิดเหงือกปิดและไม่บวม หายใจปกติ ตาสดใส ไม่ขุ่นมัว ไม่โปน สีสดใส
เกล็ดไม่หลุดไม่พอง ครีบไม่ฉีกขาด ถ้าเป็นปลาน้ำจืด ครีบควรเหยียดตรง
ไม่มีเมือกตามตัว และไม่ว่ายกระวนกระวายผิดปกติ ไม่ควรซื้อปลาจากตู้
ที่มีปลาตาย เพราะอาจมีปัญหาเกี่ยวกับโรคและปรสิตได้
วิธีที่ดีที่สุดในการปล่อยปลาลงเลี้ยงคือ เมื่อจัดตู้ปลาเสร็จแล้ว
ควรปล่อยให้ระบบต่างๆในตู้ปลาดำเนินไปสัก ๑ - ๒ วัน จึงเริ่มปล่อยปลา
ก่อนปล่อยปลา ควรปรับอุณหภูมิของน้ำในถุงบรรจุปลา
ให้ใกล้เคียงกับอุณหภูมิของน้ำในตู้
โดยลอยถุงปลาไว้ในตู้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วเปิดปากถุงให้ปลาว่ายออกจากถุง
ตรวจสอบทำความสะอาดแผ่นกรองเป็นระยะๆ ดูแลกำจัดสาหร่าย ตัดแต่งพรรณไม้น้ำ
และเปลี่ยนน้ำบางส่วนเท่าที่จำเป็น คอยปรับระดับน้ำ
และสังเกตสุขภาพของปลาที่เลี้ยง
๕. อาหารและการให้อาหาร
ชนิดและปริมาณอาหารที่ให้ปลาเป็นสิ่งที่สำคัญ
เนื่องจากอาหารที่ปลากินไม่หมดจะเน่าสลาย ทำให้เกิดปัญหาในตู้ปลา ปกติ
ไม่ควรให้อาหารเกินปริมาณที่ปลาสามารถกินได้หมดภายใน ๒ - ๓ นาที
ปลาสามารถอดอาหารได้เป็นสัปดาห์
ถ้าก่อนหน้านั้นได้รับการดูแลให้อาหารอย่างพอเพียงมาโดยตลอด
อาหารปลาแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ อาหารสำเร็จรูป และอาหารธรรมชาติ
อาหารสำเร็จรูปเป็นอาหารผสม ที่อาจผลิตออกมาในรูปของอาหารเม็ด
ทั้งแบบลอยน้ำ และจมน้ำ หรือแบบเป็นเกล็ด โดยเป็นอาหารที่ผลิตขึ้น
ทั้งที่เป็นสูตรอาหารของปลากินพืช และปลากินเนื้อ
อาหารธรรมชาติประกอบด้วยกุ้งเคย ลูกปลาขนาดเล็ก ไรแดง ไรสีน้ำตาล ลูกน้ำ
และหนอนแดง อาหารสำเร็จรูปใช้วิธีให้โดยตรง ส่วนอาหารธรรมชาติ เช่น
หนอนแดง อาจใช้วิธีใส่ตะกร้าอาหารขนาดเล็กลอยอยู่ที่ผิวน้ำให้ปลาตอดกิน
หรือใช้วิธีแช่เย็นในน้ำให้เป็นก้อนน้ำแข็ง แล้วลอยในน้ำ ให้น้ำแข็งค่อยๆ
ละลาย ส่วนไรสีน้ำตาล ก่อนให้ปลา ควรล้างด้วยน้ำจืดเสียก่อน |
|