โฮมินิดส์สกุลต่างๆ ที่มีการค้นพบแล้ว - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 33
เล่มที่ ๓๓
เรื่องที่ ๑ สุนทรภู่
เรื่องที่ ๒ เพลงลูกทุ่ง
เรื่องที่ ๓ คลอง
เรื่องที่ ๔ วิวัฒนาการของมนุษย์
เรื่องที่ ๕ เซลล์เชื้อเพลิง
เรื่องที่ ๖ เปลือกโลกและหิน
เรื่องที่ ๗ อาหารกับโรคเรื้อรัง
เรื่องที่ ๘ การแพทย์แผนไทย
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๓ / เรื่องที่ ๔ วิวัฒนาการของมนุษย์ / โฮมินิดส์สกุลต่างๆ ที่มีการค้นพบแล้ว

 โฮมินิดส์สกุลต่างๆ ที่มีการค้นพบแล้ว
โฮมินิดส์สกุลต่างๆ ที่มีการค้นพบแล้ว

ได้แก่

ซาเฮลแอนโทรปัส

เป็นโฮโมนิดส์สกุลที่เก่าแก่ที่สุด แต่ค้นพบล่าสุด โดยได้ค้นพบ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔ - ๒๕๔๕  ในบริเวณทะเลทรายทางตอนเหนือ ของประเทศชาด ในทวีปแอฟริกากลาง โดยคณะนักวิจัยร่วมระหว่างฝรั่งเศสและชาด หลักฐานที่พบ ได้แก่ ชิ้นส่วนกะโหลก ขากรรไกรล่าง และฟันหลายซี่ ผลการวิเคราะห์อายุได้ค่าอายุประมาณ ๗ - ๖ ล้านปีมาแล้ว ซึ่งตรงกับสมัยไมโอซีนตอนปลาย อาจกล่าวได้ว่า ซาเฮลแอนโทรปัสเป็นโฮมินิดส์ ที่เก่าแก่ที่สุด ที่พบในขณะนี้

ซากชิ้นส่วนกะโหลกของซาเฮลแอนโทรปัส พบที่ประเทศชาด ทวีปแอฟริกา
ซากชิ้นส่วนกะโหลกของซาเฮลแอนโทรปัส พบที่ประเทศชาด ทวีปแอฟริกา

ลักษณะเด่นของ ซาเฮลแอนโทรปัส คือ กะโหลกมีขนาดเล็กใกล้เคียงกับของลิงไม่มีหาง ปริมาตรสมองประมาณ ๓๒๐ - ๓๘๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร จากการศึกษากระดูกสัตว์ที่พบในพื้นที่เดียวกัน ปรากฏว่า มีทั้งสัตว์ที่อาศัยในแหล่งน้ำจืด เช่น ปลา จระเข้ และสัตว์ที่อาศัยในป่าและทุ่งหญ้า เช่น สัตว์ไพรเมตบางชนิด หนู ช้าง วัว ควาย แสดงว่า ซาเฮลแอนโทรปัส อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อม ที่เป็นเขตป่าไม้และทุ่งหญ้า ใกล้เคียงกับเขตทะเลทราย

ความสำคัญของซาเฮลแอนโทรปัส ที่มีต่อการศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์คือ ถือเป็นโฮมินิดส์สกุลแรกๆ ที่เป็นต้นตอ ของโฮมินิดส์รุ่นหลัง นอกจากนี้ยังเป็นหลักฐาน ที่เกี่ยวกับโฮมินิดส์ชิ้นแรก ที่พบในพื้นที่ตอนกลางของทวีปแอฟริกา ซึ่งช่วยยืนยันว่า กำเนิดของโฮมินิดส์อาจมาจากแอฟริกากลาง ไม่ใช่แอฟริกาตะวันออก ดังที่นักวิชาการส่วนมากเคยเชื่อกัน อย่างไรก็ตาม หลักฐานเกี่ยวกับซาเฮลแอนโทรปัสที่พบ มีเพียงส่วนที่อยู่เหนือคอขึ้นไปเท่านั้น ได้แก่ ชิ้นส่วนกะโหลก ขากรรไกรล่างและฟัน ดังนั้น จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่า ซาเฮลแอนโทรปัส เดินสองขาเหมือนกับโฮมินิดส์รุ่นหลังหรือไม่

ออร์โรริน

เป็นโฮมินิดส์อีกสกุลหนึ่ง ค้นพบใน พ.ศ. ๒๕๔๓ เมื่อคณะนักวิจัยชาวฝรั่งเศสร่วมกับ นักวิจัยจากประเทศเคนยา ได้ค้นพบกระดูกร่างกายจำนวน ๑๔ ชิ้น จากชั้นทับถม ที่กำหนดอายุได้ประมาณ ๖ ล้านปีมาแล้ว ในบริเวณเนินเขาทูเจน (Tugen Hill) ทางตอนเหนือของประเทศเคนยา คณะนักวิจัยได้ตั้งชื่อซากดึกดำบรรพ์นี้ ตามชื่อบริเวณที่ค้นพบ ออร์โรริน มีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างจากโฮมินิดส์สกุลอื่น คือ มีเคลือบฟันหนากว่าอาร์ดิพิเทคัสรามิดัส ฟันเล็กและเรียวยาวกว่าฟันของออสตราโลพิเทคัส กระดูกต้นขามีลักษณะคล้ายกับของมนุษย์มากกว่าของออสตราโลพิเทคัส และลิงไม่มีหาง ส่วนลักษณะทางพฤติกรรมของออร์โรรินนั้น เรายังไม่มีข้อมูลมากนัก เนื่องจาก ซากดึกดำบรรพ์ที่พบ ส่วนมากเป็นเศษแตกหัก อย่างไรก็ตาม ลักษณะของชิ้นส่วนกระดูกส่วนขาบ่งชี้ว่า ออร์โรรินน่าจะเดินสองขา เหมือนกับโฮมินิดส์รุ่นหลัง

อาร์ดิพิเทคัสรามิดัส

เป็นโฮมินิดส์รุ่นแรกๆ อีกสกุลหนึ่ง ค้นพบโดยคณะนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน และชาวเอธิโอเปีย ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๕ - ๒๕๓๗ ที่แหล่งอารามิส (Aramis) ในประเทศเอธิโอเปีย ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา จากการสำรวจได้พบชิ้นส่วนกระดูกส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ฟัน ขากรรไกรล่าง กะโหลก เชิงกราน ซากที่พบส่วนมาก คือ ฟัน ซึ่งมีขนาดใหญ่คล้ายฟันของลิงไม่มีหาง เคลือบฟันบาง ซึ่งแสดงว่า กินพืชมากกว่าเนื้อ หรืออาหารที่เหนียว และแข็ง ส่วนกะโหลกคล้ายกับของลิงไม่มีหาง แต่ตำแหน่งของโพรงที่ฐานของกะโหลก ซึ่งเป็นช่องให้เส้นประสาทจากไขสันหลังเข้าไป อยู่ค่อนไปตรงกลาง แสดงว่า สายพันธุ์นี้เดินสองขา ด้วยลักษณะดั้งเดิมที่มีอยู่ผนวกกับลักษณะที่คล้ายกับบรรพบุรุษ ของมนุษย์ ที่ไม่เคยพบมาก่อน คณะนักวิจัยจึงได้ตั้งชื่อโฮมินิดส์สกุลนี้ว่า อาร์ดิพิเทคัสรามิดัส มีความหมายว่า เป็นโฮมินิดส์ที่จัดอยู่ในลำดับล่างหรือเก่าแก่ที่สุด (คำว่า ardi หมายถึง พื้น หรือ floor ส่วนคำว่า ramid หมายถึง ราก หรือ root) โฮมินิดส์สายพันธุ์นี้กำหนดอายุได้ ๔.๔ ล้านปี มาแล้ว

ชิ้นส่วนฟันของอาร์ดิพิเทคัส รามิดัส
ชิ้นส่วนฟันของอาร์ดิพิเทคัส รามิดัส

ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๕๔๔ คณะวิจัยชุดเดิม ก็ได้ค้นพบซากชิ้นส่วน ของอาร์ดิพิเทคัสรามิดัสเพิ่มขึ้นอีก เป็นชิ้นส่วนกระดูกแขน คาง ข้อเท้า และนิ้ว ซึ่งกำหนดอายุได้ถึง ๕.๘ - ๕.๒ ล้านปีมาแล้ว

หากกล่าวโดยรวมแล้ว อาร์ดิพิเทคัสรามิดัส มีลักษณะดั้งเดิมอยู่มาก มีความสูงประมาณ ๑๐๐ เซนติเมตร น้ำหนักตัวประมาณ ๓๐ กิโลกรัม จากการวิเคราะห์ทางธรณีวิทยา และหลักฐานเกี่ยวกับซากพืชที่พบร่วมกับอาร์ดิพิเทคัสรามิดัส แสดงว่า โฮมินิดส์สกุลนี้ น่าจะมีกำเนิดในสภาพแวดล้อมที่เป็นป่า ซึ่งผลของการวิเคราะห์ดังกล่าว ขัดแย้งกับสมมติฐานเดิม ที่เชื่อกันว่า อาร์ดิพิเทคัสรามิดัสมีต้นกำเนิดในสภาพแวดล้อม ที่เป็นทุ่งหญ้า หรือป่าโปร่ง

ถ้าหากว่า อาร์ดิพิเทคัสรามิดัส เดินสองขา และอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าตามที่นักวิชาการเสนอ ก็จะช่วยให้เรามีหลักฐานเพิ่มเติมว่า บรรพบุรุษของมนุษย์เริ่มปรับตัวในการเดินสองขา ในสภาพแวดล้อมที่เป็นป่า มาก่อนการปรับตัว เพื่อใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมแบบทุ่งหญ้า

ออสตราโลพิเทคัส (Australopithecus)

เป็นโฮมินิดส์อีกสกุลหนึ่งที่มีการค้นพบหลักฐานมากกว่าโฮมินิดส์สกุลอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้ว มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาระหว่าง ๔.๒ - ๑ ล้านปีมาแล้ว หลักฐานที่พบ ส่วนมากได้มาจาก แอฟริกาตะวันออก และแอฟริกาใต้

ศาสตราจารย์เรย์มอนด์ ดาร์ต ผู้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของ ออสตราโลพิเทคัสแอฟริกานัส
ศาสตราจารย์เรย์มอนด์ ดาร์ต ผู้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของ ออสตราโลพิเทคัสแอฟริกานัส

คำว่า Australopithecus หมายถึง ลิงไม่มีหางในภาคใต้ (southern ape) เพราะซากดึกดำบรรพ์ของออสตราโลพิเทคัสชิ้นแรก ได้ค้นพบในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ หลักฐานที่พบคือ กะโหลกของเด็ก โดยพบที่หมู่บ้านท็อง (Taung) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ผู้ค้นพบคือ ศาสตราจารย์ด้านกายวิภาคศาสตร์ ชาวออสเตรเลีย ชื่อ เรย์มอนด์ ดาร์ต (Raymond Dart)

ภาพขียนชิ้นส่วนกะโหลกของ ออสตราโลพิเทคัสแอฟริกานัส ซึ่งเป็นกะโหลกของเด็กอายุราว ๖ ขวบ พบที่แอฟริกาใต้
ภาพขียนชิ้นส่วนกะโหลกของ ออสตราโลพิเทคัสแอฟริกานัส ซึ่งเป็นกะโหลกของเด็กอายุราว ๖ ขวบ พบที่แอฟริกาใต้

กะโหลกที่พบมีขนาดใหญ่กว่าของลิงบาบูนเกือบ ๓ เท่า และยังมีฟันน้ำนมติดอยู่ด้วย ซึ่งแสดงว่า เป็นกะโหลกของเด็ก และจากการเปรียบเทียบกับการขึ้นของฟันมนุษย์ในปัจจุบัน นักวิชาการสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นกะโหลกของเด็กอายุประมาณ ๖ ขวบ ลักษณะทั่วไปของกะโหลกมีรูปร่างคล้ายกับของลิงไม่มีหาง รูปแบบของฟันเป็นแบบเดียวกับฟันของมนุษย์ กล่าวโดยสรุปก็คือ กะโหลกเด็กนี้ แสดงลักษณะผสมของลิงไม่มีหางกับมนุษย์ ดังนั้น ศาสตราจารย์ดาร์ตจึงเชื่อว่า กะโหลกนี้เป็นตัวเชื่อมที่หายไป (missing link) ระหว่างลิงไม่มีหางกับมนุษย์ และใน พ.ศ. ๒๔๖๘ ศาสตราจารย์ดาร์ตได้ประกาศให้โลกรู้ว่า เขาได้พบบรรพบุรุษ ของมนุษย์ ที่ยังไม่ใช่มนุษย์เต็มสมบูรณ์ และตั้งชื่อกะโหลกของบรรพบุรุษของมนุษย์นี้ว่า ออสตราโลพิเทคัสแอฟริกานัส อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ ของโฮมินิดส์ หรือบรรพบุรุษของมนุษย์อีกมากมายในหลายพื้นที่ ของทวีปแอฟริกา จนทำให้มีการจัดจำแนกสายพันธุ์ออกเป็นกลุ่มต่างๆ

ออสตราโลพิเทคัสประกอบด้วยสายพันธุ์ต่างๆ ไม่น้อยกว่า ๙ สายพันธุ์ แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ กราไซล์ออสตราโลพิเทซีนส์ (Gracile Australopithecines) และโรบัสต์ออสตราโลพิเทซีนส์ (Robust Australopithecines)

ก. กลุ่มกราไซล์ออสตราโลพิเทซีนส์

มีลักษณะร่วมทั่วไปคือ รูปร่างสมส่วน ไม่ใหญ่โตเทอะทะ ประกอบด้วยสายพันธุ์ต่างๆ ดังนี้

ออสตราโลพิเทคัสอะนาเมนซิส (Australopithecus anamensis)


พบในทวีปแอฟริกาตะวันออก โดยพบครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๕๐๘ ที่แหล่งคานาปอย (Kanapoi) ใกล้กับทะเลสาบเทอร์แคนา (Turkana Lake) ในประเทศเคนยา ชิ้นส่วนที่พบเป็นส่วนปลายของกระดูกต้นแขน ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้มีการขุดค้น ที่แหล่งดังกล่าวอีก และจากการกำหนดอายุซากดึกดำบรรพ์ที่พบ ได้ค่าอายุ ๔.๒ - ๓.๙ ล้านปีมาแล้ว ซากที่พบส่วนมากเป็นฟัน แต่ชิ้นส่วนกะโหลก และชิ้นส่วนกระดูกต้นแขน  และกระดูกขา ส่วนล่างก็พบบ้างไม่มากนัก ลักษณะของกระดูกแขนและขาบ่งชี้ว่า สายพันธุ์นี้เดินสองเท้า ลักษณะของฟัน กะโหลก และขากรรไกรบน ยังมีลักษณะดั้งเดิมอยู่ เช่น ฟันเขี้ยวใหญ่เหมือนกับฟันของลิงไม่มีหาง แต่ก็เล็กกว่าฟันของ อาร์ดิพิเทคัส และมีเคลือบฟันหนากว่า

นอกจากนี้ยังพบที่แหล่งอัลเลีย เบย์ (Allia Bay) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออก ของทะเลสาบเทอร์แคนา หลักฐานที่พบประกอบด้วย ฟัน และชิ้นส่วนขากรรไกรล่าง โดยพบร่วมกับกระดูกสัตว์น้ำ เช่น ปลา จระเข้ รวมทั้งกระดูกของสัตว์อื่นๆ เช่น แอนติโลป ฮิปโปโปเตมัส

ออสตราโลพิเทคัสอะนาเมนซิส แสดงถึงการผสมผสานระหว่าง ลักษณะดั้งเดิม กับลักษณะที่พัฒนาขึ้นใหม่ เช่น ใบหน้า และขากรรไกร มีลักษณะคล้ายกับลิงไม่มีหาง แต่กระดูกแขนและขาแสดงให้เห็นว่า มีการเคลื่อนย้ายไปมาโดยการยืนบนสองเท้า และเคลือบฟันหนาคล้ายกับบรรพบุรุษของมนุษย์ ปัจจุบัน อาจมีน้ำหนักประมาณ ๔๗ - ๕๕ กิโลกรัม จากหลักฐานกระดูกสัตว์ที่พบร่วมบ่งชี้ว่า ออสตราโลพิเทคัสอะนาเมนซิส คงอาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำ และอยู่ใกล้สภาพแวดล้อม ที่เป็นป่าแล้ง หรือป่าไม้พุ่ม มีพื้นที่โล่งพอสมควร อาหารหลักอาจเป็นผลไม้ ใบไม้ และอาหารที่มีเนื้อแข็ง และค่อนข้างเหนียว

ออสตราโลพิเทคัสอะฟาเรนซิส (Australopithecus afarensis)

อาศัยอยู่ในแอฟริกาตะวันออกเช่นเดียวกับออสตราโลพิเทคัสอะนาเมนซิส ในช่วง ๔ - ๓ ล้านปีมาแล้ว ซากดึกดำบรรพ์ของสายพันธุ์นี้ เท่าที่ได้ค้นพบแล้ว มีมากกว่าซากดึกดำบรรพ์ ของสายพันธุ์อื่น และได้มาจากหลายแหล่ง ส่วนใหญ่ได้มาจากการศึกษาภาคสนามของ ดร. โดนัลด์  โจแฮนสัน (Dr.Donald Johanson) ในช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๑๐ ที่แหล่งโบราณคดี ฮาดาร์ (Hadar) ในประเทศเอธิโอเปีย มีอายุประมาณ ๓.๓ - ๒.๘ ล้านปี นอกจากนี้ก็มีตัวอย่างจากการค้นพบ ของ แมรี ลีกกี ใน พ.ศ. ๒๕๑๗ ที่แหล่งโบราณคดีแลโทลี (Laetoli) ในประเทศแทนซาเนีย ซึ่งมีอายุราว ๓.๘ - ๓.๖  ล้านปี และแหล่งอื่นๆ อีก ชื่อสายพันธุ์นี้มาจากบริเวณที่ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ครั้งแรก คือ แคว้นอะฟาร์ (Afar) ซึ่งเป็นบริเวณ ที่แหล่งโบราณคดีฮาดาร์ตั้งอยู่

ออสตราโลพิเทคัสอะฟาเรนซิส มีลักษณะทั่วไปคล้ายลิงไม่มีหาง แต่เดินด้วยสองเท้า หลักฐานสำคัญที่แสดงว่า สายพันธุ์นี้เดินสองเท้าคือ โครงกระดูกผู้หญิงที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว นักมานุษยวิทยาตั้งชื่อเล่นว่า "ลูซี" (Lucy) โดยมีที่มาจากเพลง "Lucy in the Sky with Diamonds" ของวง "เดอะ บีเทิลส์" (The Beatles) ซึ่งเป็นวงดนตรี ที่กำลังได้รับความนิยมมาก ในขณะนั้น กระดูกของ "ลูซี" ที่ค้นพบมีประมาณร้อยละ ๔๐ ของกระดูกร่างกายทั้งหมด ถือว่า ได้เป็นโครงกระดูก ของออสตราโลพิเทซีนส์ ที่สมบูรณ์มากที่สุด เท่าที่มีการค้นพบ "ลูซี" มีรูปร่างเล็ก สูงประมาณ ๙๗ เซนติเมตร หนักประมาณ ๒๗ กิโลกรัม ลักษณะของกระดูกเชิงกรานและกระดูกต้นขาแสดงว่า "ลูซี" เดินสองเท้า นอกจากนี้ ดร.โจแฮนสันยังพบกลุ่มกระดูก มากกว่า ๒๐๐ ชิ้น ที่แหล่งใกล้กับฮาดาร์ ผลการวิเคราะห์กระดูกทั้งหมดพบว่า มาจากผู้ใหญ่อย่างน้อย ๙ คน และเด็กโต ๔ คน ซึ่งได้รับการกล่าวถึงว่า เป็น "ครอบครัว" แรกของโลกด้วย กระดูกที่พบรวมกันทั้งหมด ยังช่วยให้เราทราบถึงความแตกต่าง ของร่างกาย ระหว่างเพศอีกด้วย ปัจจุบันซากดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบที่ฮาดาร์ทั้งหมดจัดเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด และสันนิษฐานว่า น่าจะมีจำนวนระหว่าง ๔๐ - ๑๐๐ คน

ภาพจำลอง "ลูซี" ซึ่งเป็นเพศหญิง และจัดเป็นสมาชิกของ ออสตราโลพิเทคัสอะฟาเรสซิสภาพจำลอง "ลูซี" ซึ่งเป็นเพศหญิง และจัดเป็นสมาชิกของ ออสตราโลพิเทคัสอะฟาเรสซิส

นอกจากนี้ยังพบรอยเท้าของสายพันธุ์นี้ที่แหล่งแลโทลี ในประเทศแทนซาเนีย ซึ่งแสดงว่า สายพันธุ์นี้เดินสองเท้าอย่างไม่ต้องสงสัย หลักฐานที่พบเพิ่มเติมภายหลัง เช่น นิ้วเท้าและกระดูกแขนที่ค่อนข้างโค้ง บ่งชี้ว่า ออสตราโลพิเทคัสอะฟาเรนซิส มีความสามารถ ในการปีนป่ายด้วย

ขนาดร่างกายของออสตราโลพิเทคัสอะฟาเรนซิสนั้น เพศหญิงสูงประมาณ ๑ เมตร เพศชายสูงถึงประมาณ ๑.๕ เมตร น้ำหนักระหว่าง ๓๐ - ๗๐ กิโลกรัม รูปร่างโดยทั่วไปค่อนข้างเล็ก ลำตัวส่วนบนแสดงลักษณะดั้งเดิมบางอย่าง เช่น แขนยาวกว่าขา คล้ายกับลิงไม่มีหาง กะโหลกมีลักษณะดั้งเดิม ตรงที่ขากรรไกร ยื่นออกมาข้างหน้า หน้าผากถอยร่นไปด้านหลัง และกะโหลกค่อนข้างต่ำเหมือนกับกะโหลก ของลิงไม่มีหาง ปริมาตรสมองประมาณ ๔๓๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร 

ลักษณะฟันของ ออสตราโลพิเทคัสอะฟาเรนซิส มีลักษณะผสมระหว่างของมนุษย์กับของลิงไม่มีหาง เช่น  ฟันมีขนาดเล็กลง และไม่ยื่นออกมามาก แต่ก็มีขนาดใหญ่กว่า และยื่นออกมามากกว่าฟันเขี้ยว ของมนุษย์ปัจจุบัน ส่วนฟันกรามมีลักษณะปุ่มฟัน และขนาด ใกล้เคียงกับของมนุษย์ แต่การเรียงตัวของแถวฟันขนานกันเป็นอักษรรูปตัวยู (U) คล้ายกับของลิงไม่มีหาง ฟันบางซี่มีรอยสึก ซึ่งแสดงว่า กินอาหารที่ค่อนข้างแข็งและสาก

ขณะนี้ เรายังไม่พบหลักฐานว่า มีการใช้เครื่องมือ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ออสตราโลพิเทคัสอะฟาเรนซิส ไม่รู้จักใช้เครื่องมือ แต่อาจจะใช้เครื่องมือ ที่ทำจากอินทรียวัตถุก็ได้ ซึ่งผุพังเน่าเปื่อยไป ไม่เหลือทิ้งไว้ในแหล่งโบราณคดี หรือไม่ก็ใช้เครื่องมืออย่างง่ายที่ไม่ต้องดัดแปลงตกแต่งมาก ซึ่งมักไม่เป็นที่สังเกต ของนักวิชาการ

ออสตราโลพิเทคัสบาห์เรลกาซาลี (Australopithecus bahrelghazali)

ค้นพบใน พ.ศ. ๒๕๓๘ ที่บริเวณแหล่งบาห์เรล กาซาล (Bahrel Ghazal) ในประเทศชาด ทางตอนกลางของทวีปแอฟริกา โดยคณะนักวิจัยชาวฝรั่งเศส ซากดึกดำบรรพ์ที่พบ ได้แก่ กระดูกขากรรไกรล่าง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับขากรรไกร ของออสตราโลพิเทคัสอะฟาเรนซิส ที่พบที่ฮาดาร์ ในประเทศเอธิโอเปีย ดังนั้น จึงกำหนดอายุ โดยการเทียบเคียง กับซากดึกดำบรรพ์จากฮาดาร์ได้ว่า ราว ๓.๕ - ๓.๐ ล้านปีมาแล้ว

ภาพเขียนชิ้นส่วนฟันและขากรรไกรของ ออสตราโลพิเทคัสบาห์เรลกาซาลี พบในประเทศชาด ทวีปแอฟริกาภาพเขียนชิ้นส่วนฟันและขากรรไกรของ ออสตราโลพิเทคัสบาห์เรลกาซาลี พบในประเทศชาด ทวีปแอฟริกา

นอกจากนี้ยังพบฟันเขี้ยว ฟันกรามเล็ก และฟันหน้าอีกด้วย ซึ่งมีขนาดและสัดส่วนเหมือนกับของ ออสตราโลพิเทคัส อะฟาเรนซิส ที่พบที่แลโทลี และคานาปอย ลักษณะของฟันเขี้ยวค่อนข้างสั้นแต่แหลมและชี้ เคลือบฟันบางและฟันมีราก ๓ ราก ซึ่งต่างจากฟันของ ออสตราโลพิเทคัส สายพันธุ์อื่นที่ฟันมี ๒ ราก และเคลือบฟันหนา เชื่อกันว่า อาหารหลักของออสตราโลพิเทคัสบาห์เรลกาซาลี คงเป็นผลไม้และใบไม้ มากกว่าอย่างอื่น เนื่องจาก มีเคลือบฟันบาง แต่ก็อาจจะกินอาหารที่เหนียวและแข็ง บางอย่างด้วย ส่วนสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของออสตราโลพิเทคัสบาห์เรลกาซาลี คล้ายกับของออสตราโลพิเทคัสสายพันธุ์อื่น คือ เป็นบริเวณริมทะเลสาบ ซึ่งประกอบไปด้วยป่าไม้ และทุ่งหญ้าเปิด

ประเด็นสำคัญประการหนึ่งจากการค้นพบ ออสตราโลพิเทคัสบาห์เรลกาซาลี คือ ช่วยให้เห็นการกระจายของออสตราโลพิเทซีนส์ ได้มากยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมา ซากดึกดำบรรพ์ของออสตราโลพิเทซีนส์มักพบในแอฟริกาตะวันออก และแอฟริกาใต้ การค้นพบออสตราโลพิเทซีนส์ที่ประเทศชาด ซึ่งอยู่ทางตอนกลางของทวีปแอฟริกา และอยู่ห่างจากแอฟริกาตะวันออกประมาณ ๒,๕๐๐ กิโลเมตร แสดงให้เห็นว่า ออสตราโลพิเทซีนส์มีการกระจายตัวกว้างไกลกว่าที่เคยเชื่อกัน

ออสตราโลพิเทคัสแอฟริกานัส (Australopithecus africanus)

พบที่แอฟริกาใต้ มีอายุประมาณ ๓ - ๒ ล้านปีมาแล้ว ลักษณะเด่นคือ ใบหน้าใหญ่ ฟันเขี้ยวมีขนาดเล็กลง ปริมาตรสมองประมาณ ๔๕๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร หรือใกล้เคียงกับลิงไม่มีหาง เชื่อกันว่า ออสตราโลพิเทคัสแอฟริกานัส สืบสายพันธุ์มาจาก ออสตราโลพิเทคัสอะฟาเรนซิส นักมานุษยวิทยากายภาพบางคนเสนอว่า ออสตราโลพิเทคัสแอฟริกานัส ได้มีวิวัฒนาการต่อมา เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ในสกุลโฮโม แม้ว่าข้อเสนอนี้จะถูกท้าทาย จากการค้นพบสายพันธุ์ใหม่ ที่เรียกว่า ออสตราโลพิเทคัสการ์ฮี (Australopithecus garhi) ซึ่งเชื่อกันว่า อาจจะเป็นบรรพบุรุษของโฮมินิดส์สกุลโฮโม ก็ตาม ในขณะที่สายพันธุ์อื่นๆ ได้พัฒนาขนานไปกับสกุลโฮโม ระยะหนึ่งแล้ว ก็สูญพันธุ์ไปในที่สุด

ออสตราโลพิเทคัสการ์ฮี (Australopithecus garhi)

ค้นพบครั้งแรก โดยคณะนักวิจัยจากประเทศเอธิโอเปีย และสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่แหล่งโบรี (Bouri) ในประเทศเอธิโอเปีย ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา กำหนดอายุได้ประมาณ ๒.๕ ล้านปี

ภาพเขียนชิ้นส่วนกะโหลกและฟันของ ออสตราโลพิเทคัสการ์ฮี ซึ่งพบในประเทศเอธิโอเปีย ทวีปแอฟริกาภาพเขียนชิ้นส่วนกะโหลกและฟันของ ออสตราโลพิเทคัสการ์ฮี ซึ่งพบในประเทศเอธิโอเปีย ทวีปแอฟริกา

ซากดึกดำบรรพ์ที่พบ ได้แก่ กะโหลกและฟัน แม้ว่า ฟันจะมีขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่แสดงถึงลักษณะการใช้งานเฉพาะ นอกจากนี้ หลักฐานที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่พบร่วมกับซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าวก็คือ เครื่องมือหิน และกระดูกที่มีร่องรอยถูกตัด ดังนั้น จากลักษณะสัณฐานของกระดูกและหลักฐานอื่นๆ ที่พบร่วมกัน อีกทั้งบริเวณที่พบ และช่วงเวลา นักมานุษยวิทยากายภาพบางคนจึงเสนอว่า ออสตราโลพิเทคัสการ์ฮี อาจจะเป็นบรรพบุรุษของสกุลโฮโม

ข. กลุ่ม โรบัสต์ออสตราโลพิเทซีนส์

เมื่อราว ๓ - ๒.๕ ล้านปี ในตอนปลายสมัยไพลโอซีน ได้เกิดมีสายพันธุ์ใหม่ ของออสตราโลพิเทคัสปรากฏขึ้นอีก ๓ สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีลักษณะร่วมกัน คือ มีส่วนสูงประมาณ ๑๒๐ - ๑๕๐ เซนติเมตร มีปริมาตรสมองเฉลี่ยประมาณ ๕๐๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร มีสันกะโหลกตรงกลาง (sagittal crest) และมีรูปร่างแข็งแรงกำยำ จึงเรียกว่า กลุ่มโรบัสต์ออสตราโลพิเทซีนส์ สายพันธุ์แรกเรียกชื่อว่า ออสตราโลพิเทคัสเอธิโอปิคัส (Australopithecus aethiopicus) ค้นพบได้ที่ประเทศเคนยา และเอธิโอเปีย กำหนดอายุได้ประมาณ ๒.๗ - ๑.๙ ล้านปีมาแล้ว สายพันธุ์ที่ ๒ เรียกชื่อว่า ออสตราโลพิเทคัสบัวเซอิ (Australopithecus boisei) ค้นพบได้ที่ประเทศเคนยา แทนซาเนีย และเอธิโอเปีย ในแอฟริกาตะวันออก กำหนดอายุได้ประมาณ ๒.๓ - ๑.๒ ล้านปี เป็นสายพันธุ์ที่มีลักษณะบึกบึนแข็งแรงที่สุด ในกลุ่ม และสายพันธุ์ที่ ๓ เรียกชื่อว่า ออสตราโลพิเทคัสโรบัสตัส (Australopithecus robustus) พบในแอฟริกาใต้ อายุประมาณ ๑.๙ - ๑ ล้านปีมาแล้ว

โรบัสต์ออสตราโลพิเทซีนส์ ทั้ง ๓ สายพันธุ์นี้ มีชีวิตอยู่ในทวีปแอฟริกา เมื่อ ๒.๗ ล้านปีมาแล้ว และสูญพันธุ์ไป เมื่อประมาณ ๑ ล้านปีที่ผ่านมา ลักษณะเด่นของโรบัสต์ออสตราโลพิเทซีนส์ คือ ฟันกรามหรือฟันเคี้ยวมีขนาดใหญ่ ส่วนฟันหน้ามีขนาดเล็ก ฟันเขี้ยวไม่ยื่นออกมามาก จากการที่ฟันเคี้ยว หรือฟันกรามมีขนาดใหญ่มากกว่าฟันของมนุษย์ปัจจุบันถึง ๔ เท่า จึงสันนิษฐานว่า โรบัสต์ออสตราโลพิเทซีนส์ คงกินอาหารที่ต้องใช้ฟันกรามบดเคี้ยวมาก เช่น เมล็ดพืช หรือผลไม้เปลือกแข็ง นอกจากนี้ ลักษณะเด่นอื่นๆ คือ กะโหลกมีสันตรงกลาง กระดูกแก้มบานออก ใบหน้ามีลักษณะแบนเป็นแอ่งคล้ายจาน นักวิชาการบางคนจึงเรียกกันว่า "โฮมินิดส์หน้าจาน" (dish - faced hominids) ซึ่งลักษณะเหล่านี้ ก็สัมพันธ์กับกระดูกขากรรไกรที่ใหญ่และแข็งแรง
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป