สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 33
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๔ / เรื่องที่ ๑ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ / ลักษณะสถาปัตยกรรม และประติมากรรมในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์
ลักษณะสถาปัตยกรรม และประติมากรรมในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์
เทวสถานอีกแห่งหนึ่ง คือ
เทวสถานที่ วัดวิษณุ ในเขตยานนาวา กรุงเทพฯ
ควบคุมการก่อสร้างโดยวิศวกรชาวอังกฤษ
มีการนำเทวรูปจากประเทศอินเดีย มาประดิษฐานในวัด
ภายในโบสถ์ใหญ่มีเทวรูปต่างๆ เพื่อสักการบูชา อาทิ พระราม นางสีดา พระพรต
พระลักษมัน พระศัตรุฆน์ ศรีหนุมาน ศิวลึงค์จากแม่น้ำนรมทา
พระศาลิครามจากแม่น้ำนารายณ์ พระรามทุรดา พระนารายณ์ พระแม่ลักษมี พระศิวะ
พระแม่ปารพดี พระพิฆเนศ
พระกฤษณะ และพระนางราธา |

เทวรูปที่ประดิษฐานในวัดวิษณุ - ศรีหนุมาน |
นอกจากนี้ยังมี
เทวสถานโบสถ์เทพมณเฑียร ของสมาคมฮินดูสมาช
ศิลปะในเทวสถานส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากเมืองชัยปุระ ในประเทศอินเดีย
ภายในเทวสถานประดิษฐานเทวรูปอยู่หลายองค์ด้วยกัน เช่น
พระนารายณ์และพระแม่ลักษมี พระรามและภควดีสีดา
พระกฤษณะและพระนางราธา
พระพุทธเจ้า พระศิวะหรือพระอิศวร และพระแม่ทุรคา |
 เทวรูปที่ประดิษฐานในโบสถ์เทพมณเฑียร - พระพุทธเจ้า | เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ในต่างจังหวัด
นอกจากเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ในกรุงเทพฯ
แล้วยังมีเทวสถานในต่างจังหวัด ที่สำคัญคือ
เทวสถานที่เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งปรีชา นุ่นสุข สันนิษฐานว่า
สถาปนาขึ้นในสมัยอยุธยา เทวสถานแห่งนี้ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน
ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ แต่เทวสถานเดิมนั้นพังทลายหมดแล้ว
ซึ่งจากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า
เทวสถานเดิมเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
มีขนาดใหญ่กว่าหอพระอิศวรและหอพระนารายณ์ที่อยู่ติดๆ
กันไม่มากนัก
เป็นอาคารที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ยกเว้นฐานชั้นล่าง มีเสา ๑๐
ต้น ยกพื้นสูงเล็กน้อย มีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออกเพียงทางเดียว
และมีลูกกรงไม้ล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน ระหว่างลูกกรงไม้กับผนังกั้นห้อง
สามารถเดินได้โดยรอบ สันนิษฐานว่า เมื่อผนังห้องชำรุดหักพังจึงรื้อออก
เปิดโล่งๆ
ไว้ ทำให้มีลักษณะคล้ายศาลา หลังคาเดิมมุงด้วยกระเบื้อง
หลังคาด้านหน้าทำเป็นมุขเล็กซ้อนยื่นออกมาข้างหน้า
ภายในประดิษฐานศิวลึงค์ศิลา ๔ องค์ มีฐานสำหรับรองศิวลึงค์ฐานหนึ่ง
ฐานรองเทวรูปอีกฐานหนึ่ง และเทวรูปพระคเณศองค์หนึ่ง
เดิมในเทวสถานนี้ มีกระดานจำหลัก
สำหรับใช้ฝังในหลุมตามพิธีตรียัม-พวายของพราหมณ์
แต่เมื่อเลิกพิธีตรียัม-พวายสำหรับเมืองนี้แล้ว
จึงได้นำกระดานจำหลักนี้ ไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถาน วัดพระมหาธาตุ
เมืองนครศรีธรรมราช
|
ส่วนที่เมืองเพชรบุรี
เทวสถานสำหรับเมืองที่เป็นของเก่าได้พังทลายไปแล้วเช่นกัน
เดิมตั้งอยู่ในบริเวณวัดเพชรพลี หรือวัดพริบพรี ที่ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองฯ
จังหวัดเพชรบุรี
วัดนี้เป็นวัดที่สร้างต่อเติมขึ้นจากวัดค้างคาวที่ร้างไปในสมัยอยุธยา
โดยวัดค้างคาวก็อาศัยการบูรณะโบสถ์พราหมณ์เก่า ที่สร้างไว้ในสมัยอาณาจักรขอมแล้วร้างลงเช่นกัน
ที่ดินในบริเวณนั้น ยังปรากฏฐานก่ออิฐของโบสถ์พราหมณ์และยังมีเสาชิงช้าอยู่
ภายหลังชำรุดมากจึงได้สร้างเสาชิงช้าขึ้นใหม่ใน พ.ศ. ๒๕๕๐
โดยประดิษฐานในตำแหน่งเดิม เสาชิงช้าดังกล่าวทำด้วยไม้สักทอง
ประกอบด้วยเสาประธาน ๒ ต้น สูง ๑๒ เมตร พร้อมเสาตะเกียบและหัวหมุด
รวมทั้งหมด ๖ ต้น
กระจังที่ประดับหัวเสาชิงช้าแกะสลักเป็นลายกระหนกน่องสิงห์
พร้อมหูช้างหรือกระจังหูช้างยาว ๗ เมตร หนา
๔ นิ้ว |
|