การสำรวจแร่ทองคำ - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 36
เล่มที่ ๓๖
เรื่องที่ ๑ มัสยิด
เรื่องที่ ๒ ละครชาตรี
เรื่องที่ ๓ เกวียน
เรื่องที่ ๔ ทองคำ
เรื่องที่ ๕ มะคาเดเมีย
เรื่องที่ ๖ หุ่นยนต์
เรื่องที่ ๗ แอนิเมชัน
เรื่องที่ ๘ โรคมาลาเรีย
เรื่องที่ ๙ โรคไต
รายชื่อผู้เขียน

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๖ / เรื่องที่ ๔ ทองคำ / การสำรวจแร่ทองคำ

 การสำรวจแร่ทองคำ
การสำรวจแร่ทองคำ

การสำรวจแร่เป็นกิจกรรมที่ใช้หลักการทางวิชาการ เพื่อค้นหาและตัดสินว่าพื้นที่ที่สำรวจมีแร่หรือแหล่งแร่อยู่หรือไม่ และมีปริมาณมากหรือน้อยเพียงใด ประกอบด้วย การสำรวจทางอากาศ การสำรวจบนผิวดิน และการสำรวจใต้ดิน ด้วยวิธีการทางธรณีวิทยา ธรณีเคมี และธรณีฟิสิกส์ โดยใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีร่วมกัน ปัจจุบัน กรมทรัพยากรธรณีเป็นหน่วยงานหลัก ที่รับผิดชอบในการสำรวจทางธรณีวิทยา ธรณีวิทยาแหล่งแร่ ธรณีฟิสิกส์ ฐานข้อมูลทรัพยากรแร่ และข้อมูลการบินสำรวจธรณีฟิสิกส์ทางอากาศ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
การสำรวจแร่ทองคำ ตามแผนที่ธรณีวิทยา
การสำรวจแร่ทองคำ ตามแผนที่ธรณีวิทยา
การสำรวจทางอากาศ

การสำรวจทางอากาศเป็นการสำรวจขั้นต้น ซึ่งสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐาน ที่ใช้สำหรับการคัดเลือกพื้นที่ให้แคบลง และนำไปวางแผนการสำรวจภาคพื้นดินต่อไป โดยการสำรวจทางอากาศ ประกอบด้วย ภาพถ่ายดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ และการสำรวจธรณีฟิสิกส์ทางอากาศ ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจทางอากาศ ต้องนำมาประมวลผล และแปลความหมาย เพื่อใช้ในการกำหนดพื้นที่เป้าหมาย สำหรับทำการสำรวจและติดตามผลภาคพื้นดินต่อไป
ตัวอย่างหิน ดิน หรือตะกอน ที่นำมาวิเคราะห์ทางเคมี
ตัวอย่างหิน ดิน หรือตะกอน ที่นำมาวิเคราะห์ทางเคมี
การสำรวจบนผิวดิน

การสำรวจบนผิวดินประกอบด้วย ๓ ส่วนหลัก คือ การสำรวจธรณีวิทยา การสำรวจธรณีเคมี และการสำรวจธรณีฟิสิกส์ ทั้งนี้วิธีการที่รวดเร็วและง่ายที่สุดในการสำรวจพื้นที่ศักยภาพของแร่ทองคำ คือ การร่อนและเลียงแร่ ซึ่งเป็นวิธีการที่ชาวบ้านในท้องถิ่นใช้กัน การสำรวจบนผิวดิน มีรายละเอียดดังนี้
ย่อยสลายตัวอย่างหิน
ย่อยสลายตัวอย่างหิน
๑) การสำรวจธรณีวิทยา

เป็นการสำรวจเก็บข้อมูลและศึกษาลักษณะของหิน ธรณีวิทยาโครงสร้างของสายแร่ หรือแหล่งแร่ และการทำแผนที่ธรณีวิทยารายละเอียด
๒) การสำรวจธรณีเคมี

เป็นการสำรวจโดยการเก็บตัวอย่างดิน หิน หรือแร่มาวิเคราะห์ทางเคมี เพื่อหาปริมาณแร่ธาตุต่างๆ และทองคำ สำหรับกำหนดพื้นที่ศักยภาพแหล่งแร่ทองคำ ทั้งนี้พื้นที่แหล่งแร่ทองคำที่มีศักยภาพสูงมักเป็นทองคำที่ปะปนอยู่ในเนื้อหิน ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จะต้องนำตัวอย่างที่เก็บได้ เช่น ตัวอย่างหิน ตัวอย่างดิน หรือตัวอย่างตะกอนธารน้ำ ไปวิเคราะห์ทางเคมี เพื่อหาปริมาณส่วนประกอบที่เป็นทองคำเท่านั้น ซึ่งต้องใช้วิธีวิเคราะห์ที่มีความละเอียดสูงมาก สามารถหาปริมาณทองคำได้ถึงระดับหนึ่งในล้านส่วน หรือหนึ่งในพันล้านส่วน
วิเคราะห์ด้วยเครื่อง GFAAS
วิเคราะห์ด้วยเครื่อง แกรไฟต์เฟอร์เนซอะตอมิกแอบซอร์ปชันสเปกโทรมิเตอร์
(Graphite Furnace Atomic Absorption Spectrometer : GFAAS)
๓) การสำรวจธรณีฟิสิกส์

เป็นวิธีการสำรวจที่ประยุกต์ใช้หลักการทางฟิสิกส์ เพื่อสำรวจแหล่งแร่ทองคำทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยอาศัยสมบัติทางฟิสิกส์ ที่แตกต่างกัน ของวัตถุธรรมชาติ เช่น สมบัติทางแม่เหล็ก สมบัติค่าแรงโน้มถ่วงโลก สมบัติค่าความต้านทานไฟฟ้า สมบัติความเร็วของการเดินทางผ่านของคลื่นเสียง ซึ่งจากสมบัติทางฟิสิกส์ที่ต่างกัน ก็จะกำหนดเป็นเครื่องมือธรณีฟิสิกส์ ที่ใช้สำรวจวัดสมบัติทางธรณีฟิสิกส์ที่แตกต่างกันของชั้นดิน หิน หรือสายแร่ จากนั้นนำข้อมูลการสำรวจที่ได้ไปประมวลผล และแปลความหมายต่อไป
แท่งหินตัวอย่างที่ได้จากการเจาะสำรวจ
แท่งหินตัวอย่างที่ได้จากการเจาะสำรวจ
การสำรวจใต้ดิน

การสำรวจใต้ดินเป็นการสำรวจที่ระดับลึกลงไปจากผิวดิน เพื่อให้เข้าใกล้แหล่งแร่ให้มากที่สุด เป็นวิธีการสุดท้าย หลังจากที่ได้ดำเนินการสำรวจ ด้วยวิธีการต่างๆ ข้างต้นแล้ว การสำรวจด้วยวิธีนี้จะได้ข้อมูลธรณีวิทยาแหล่งแร่ทั้ง ๓ มิติ คือ ความกว้าง ความยาว และความสูง ซึ่งข้อมูลการสำรวจสามารถนำไปประมวลผล และคำนวณปริมาณสำรองแหล่งแร่ และมูลค่าของแหล่งแร่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจลงทุนทำเหมืองแร่ต่อไป การสำรวจใต้ดินประกอบด้วย การขุดหลุมสำรวจ การขุดร่องสำรวจ และการเจาะสำรวจ

การเจาะสำรวจเป็นกิจกรรมสุดท้ายของการสำรวจแร่ เนื่องจากเป็นวิธีการสำรวจ ที่มีต้นทุนสูง สามารถเจาะลงไปเก็บตัวอย่างดิน หิน หรือแร่ จากระดับผิวดินลงไปได้ลึกหลายร้อยเมตร ตัวอย่างที่ได้จะเป็นเศษหิน เศษดิน และแท่งหิน ที่ระดับความลึกต่างๆ จากหลุมเจาะสำรวจ หลังจากนั้นนำตัวอย่างดังกล่าว ไปวิเคราะห์สมบัติทางฟิสิกส์ และสมบัติทางเคมี เพื่อกำหนดค่าความสมบูรณ์ ขนาด รูปร่าง และความลึกของแหล่งแร่ แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปประมวลผล สรุป และประเมินความเป็นไปได้ เพื่อการลงทุนทำเหมือง และพัฒนาแหล่งแร่ ในเชิงพาณิชย์ต่อไป
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป