การทำเหมืองแร่ทองคำ
การทำเหมืองแร่ทองคำโดยทั่วไปมี ๒ วิธีคือ
๑. เหมืองเปิด
การทำเหมืองแร่ทองคำแบบเหมืองเปิดเหมาะสำหรับแหล่งแร่ทองคำที่อยู่ไม่ลึกจากผิวดินมากนัก
การทำเหมืองเริ่มจาก การเปิดหน้าดินลงไปเรื่อยๆ จนถึงแหล่งแร่ทองคำ
ซึ่งต้องใช้พื้นที่หน้าเหมืองมาก ถ้าแหล่งแร่อยู่ในระดับที่ลึก
หน้าเหมืองจะต้องเปิดให้กว้างขึ้น
เพื่อให้สะดวกและปลอดภัยในการทำเหมืองและการนำแร่ขึ้นมา
การทำเหมืองแร่แบบนี้ ต้องใช้เครื่องมือหนัก เช่น เครื่องเจาะ รถขุด รถตัก
รถขนแร่ขนาดใหญ่ ตลอดจนต้องมีการระเบิดบริเวณหน้าเหมือง
เพื่อเข้าถึงแหล่งแร่ และทำเป็นขั้นบันไดวนลงไปหาแหล่งแร่ที่อยู่ลึกลงไป
รวมทั้งใช้เป็นเส้นทางลำเลียงแร่ขึ้นมา เพื่อเข้าสู่กระบวนการแต่งแร่ต่อไป |
การขุดตักและขนย้ายหินที่มีแร่ทองคำ เพื่อเข้าสู่กระบวนการแต่งแร่ |
๒. เหมืองใต้ดิน
การทำเหมืองแร่ทองคำแบบเหมืองใต้ดิน
เหมาะสำหรับแหล่งแร่ทองคำที่อยู่ลึกจากผิวดินมาก
การทำเหมืองจะใช้พื้นที่หน้าเหมืองน้อย โดยเริ่มจากการเปิดหน้าดิน
เพื่อเจาะช่องทางสำหรับเครื่องมือหนักทำงานเข้าหาแหล่งแร่
หรือทำเป็นอุโมงค์ทางเข้า หรือเส้นทางลงสู่แหล่งแร่ที่อยู่ในระดับลึก
เพื่อการนำแร่ขึ้นมา เมื่อถึงแหล่งแร่ในระดับลึกแล้ว
พื้นที่การทำเหมืองจะขยายกว้างออกไปทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง การทำอุโมงค์
เพื่อเข้าสู่แหล่งแร่โดยทั่วไปมี ๓ แบบ คือ อุโมงค์แนวราบ อุโมงค์แนวเอียง
และอุโมงค์แนวดิ่ง
|
การเจาะทำเป็นอุโมงค์ เพื่อเข้าสู่แหล่งแร่ของการทำเหมืองใต้ดิน |
ปัจจุบันเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยเปิดดำเนินการอยู่ ๒ เหมือง คือ
แหล่งแร่ทองคำชาตรี ของบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด และแหล่งแร่ทองคำภูทับฟ้า
ของบริษัททุ่งคำ จำกัด โดยทั้ง ๒ เหมืองทำเหมืองแร่ทองคำแบบเหมืองเปิด |