บายศรีภาคเหนือ
บายศรีภาคเหนือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี พระราชชายา
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าอินทวิชยานนท์ และแม่เจ้าทิพเกสร
เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
ทรงอนุรักษ์งานบายศรีไว้ตามแบบแผนดั้งเดิม
และทรงนำความรู้ที่ได้พบเห็นจากราชสำนักภาคกลาง
ตั้งแต่เมื่อครั้งเสด็จลงมาถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายในเป็นเวลาหลายปี
มาจัดรูปแบบใหม่ ทรงรวบรวมผู้มีฝีมือในการประดิษฐ์
ตัดเย็บใบตองและทำบายศรีจากที่ต่างๆ
ในนครเชียงใหม่มาเป็นครูฝึกสอนคนของพระองค์และผู้ที่สนใจทั่วไป ณ
พระตำหนักดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
โดยทรงสอนแบบอย่างไว้ให้แก่เจ้าอุ่นเรือน ณ เชียงใหม่ ผู้เป็นโอรส
ของเจ้าแก้วปราบเมือง ณ เชียงใหม่ พระเชษฐาต่างมารดา พระราชชายา
เจ้าดารารัศมี
ทรงจัดลำดับชั้นของเครื่องบายศรีไว้ดังนี้
บายศรี ๙ ชั้น สำหรับทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระมหากษัตริย์
และสมเด็จพระบรมราชินี
บายศรี ๗ ชั้น สำหรับเจ้านายชั้นสูง
บายศรี ๕ ชั้น สำหรับเจ้านายชั้นกลาง
บายศรี ๓ ชั้น สำหรับเจ้านาย หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
บายศรีธรรมดา สำหรับบุคคลทั่วไป
บายศรีของภาคเหนือจำแนกได้ดังนี้
๑. บายศรีหลวงหรือบายศรีใหญ่
๒. บายศรีนมแมว ขันผูกมือหรือขันมัดมือ
๑.
บายศรีหลวงหรือบายศรีใหญ่
นิยมใช้ในพิธีสู่ข้าวเอาขวัญ ฮ้องขวัญ หรือสู่ขวัญ ใช้กับบุคคลธรรมดาทั่วไป
เรียกว่า
การฮ้องขวัญ หรือ สู่ขวัญ กรณีที่ใช้ในพระราชพิธีต่างๆ
เรียกว่า
พิธีทูลพระขวัญ
ซึ่งบายศรีจะมีจำนวนกี่ชั้นขึ้นอยู่กับฐานันดรศักดิ์ของเจ้าของพิธี
|
บายศรีหลวง หรือบายศรีใหญ่
|
บายศรีหลวงหรือบายศรีใหญ่
๙ ชั้น นิยมใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชินีบายศรี ๗
ชั้น นิยมใช้สำหรับพระมหาอุปราช เช่น
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี บายศรี ๕ ชั้น นิยมใช้สำหรับเจ้านาย
พระราชวงศ์ ส่วนขุนนางและประชาชนนิยมทำ ๓ ชั้น
บายศรีหลวงหรือบายศรีใหญ่ของภาคเหนือ
นอกจากนำไปใช้ในพิธีสู่ข้าวเอาขวัญหรือฮ้องขวัญแล้ว
ยังนำไปใช้ในพิธีการบวงสรวงเทวดาอารักษ์ด้วย
๒. บายศรีนมแมว ขันผูกมือหรือขันมัดมือ
บายศรีนมแมว
ขันผูกมือหรือขันมัดมือนี้จะประกอบด้วย พาน หรือโตก หรือขันแดง
และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ถือว่า เป็นเอกลักษณ์ ของบายศรีภาคเหนือก็คือ
สลุง (ขัน) กาบหรือขาของบายศรีภาคเหนือจะทำยอดให้เป็นกรวยแหลม
มีความยาวประมาณ ๖-๘ นิ้ว แล้วจึงประกอบ ตัวนมสาว นมแมว หรือนิ้ว
ประกบเข้าไปในลักษณะที่เรียงลดหลั่นตามลำดับลงมา
(ส่วนที่ประกอบสำเร็จแล้วเรียกว่า นมแมว โดยจะใช้สรรพนามเรียกว่า กาบ
หรือขา) จะมีความสูงขนาดใดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับภาชนะที่ใส่
ในสมัยโบราณ ถ้าเป็นงานขึ้นบ้านใหม่หรืองานบวชนาค บายศรีจะมีความสูงเป็น "ศอก คืบ ๓ นิ้ว ของเจ้าของงาน"
(ศอก หมายถึง ความยาวของแขนตั้งแต่ปลายนิ้วกลางถึงปลายข้อศอก คืบ หมายถึง
ความกว้างของนิ้วทั้ง ๕ นิ้ว ที่เรียงชิดกันตั้งแต่นิ้วก้อย
ถึงนิ้วหัวแม่มือ ส่วน ๓ นิ้ว หมายถึง นิ้วชี้ นิ้วกลาง
และนิ้วนางเรียงชิดกัน) |
บายศรีนมแมว ขันผูกมือหรือขันมัดมือ |
เครื่องสังเวยในบายศรีทั่วไป ประกอบด้วย
๑. ข้าวเหนียว
๒. ไข่ต้ม
๓. กล้วย ผลไม้อื่น ๆ
๔. หมาก พลู
๕. เมี่ยง บุหรี่
๖. น้ำบริสุทธิ์
๗. น้ำมะพร้าวอ่อน
ประเพณีบายศรีสู่ข้าวเอาขวัญ
หรือการฮ้องขวัญของภาคเหนือเป็นประเพณีมงคลที่ต้องการให้ผู้ได้รับการทำบายศรีมีความสุขสวัสดี
เพราะขวัญได้รับการผูกไว้ไม่ให้หนีไปไหน
คนที่มีขวัญอยู่กับตัวย่อมเป็นคนมีกำลังใจดี มีสภาพจิตใจมั่นคงเข้มแข็ง
ในสมัยโบราณ จึงให้ทำการสู่ข้าวเอาขวัญหรือฮ้องขวัญ
พิธีกรรมในการสู่ข้าวเอาขวัญหรือฮ้องขวัญนั้น
ปู่อาจารย์จะเป็นเจ้าพิธีหรือผู้ทำพิธี
โดยนำบายศรีมาวางตรงหน้าผู้รับการเรียกขวัญ เพื่อปัดเคราะห์ไล่เสนียดจัญไร
แล้วกล่าวประวัติผู้ได้รับการทำบายศรีเรียกขวัญ ๓๒ ขวัญ
มัดมือให้โอวาทแก่ผู้รับบายศรี แล้วอวยพร
จากนั้นผู้รับบายศรีมอบของแก่ปู่อาจารย์ |
บายศรีนมแมว ขันผูกมือหรือขันมัดมือ |
บายศรีที่ใช้ในพิธีสู่ข้าวเอาขวัญ หรือฮ้องขวัญ เป็นบายศรีพิเศษ
สำหรับใช้กับคนทุกชนชั้น นับแต่ชาวบ้านจนถึงพระราชวงศ์
ทางภาคเหนือจะเรียกบายศรีชนิดนี้ว่า บายศรีนมแมว
ขันผูกมือหรือขันมัดมือ เครื่องสักการะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ
ด้ายหรือฝ้าย สำหรับผูกข้อมือ มักใช้ด้ายดิบ
หรือสายสิญจน์ที่พระใช้สวดมนต์ นำมารวมกันเป็น ๓ เส้น ๙
เส้น แต่ละเส้น มีความยาวประมาณ ๑ ศอกของผู้ที่จะได้รับการผูกมือ
หรือยาวประมาณ ๒๐ นิ้ว
โดยขดม้วนเป็นก้นหอยวางไว้บนพาน หรือคล้องบนพุ่มเสียบไว้ ด้ายผูกข้อมือนี้
จะมีจำนวนมากพอ สำหรับผู้เข้าร่วมพิธี
หรือตามจำนวนผู้ที่จะได้รับการผูกข้อมือ |
ความสำคัญของบายศรีนมแมว ขันผูกมือ หรือขันมัดมือ
นำไปใช้ในงานพิธีต่างๆ ได้ดังนี้
๑. พิธีเลี้ยงต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยี่ยมเยือน ผู้จะเดินทางไกล ผู้เดินทางมาถึง
๒. งานวันเกิด
๓. งานวันปีใหม่
๔. งานขึ้นบ้านใหม่
๕. พิธีบวชนาค
๖. พิธีแต่งงาน
๗. การรับขวัญผู้เจ็บป่วย รับขวัญผู้หายจากการเจ็บป่วย
๘. การรับขวัญ ผู้ได้เลื่อนยศตำแหน่ง หรือผู้ที่ย้ายมารับตำแหน่งใหม่
หรือผู้ที่จะเดินทางไปรับตำแหน่งที่อื่น
บายศรีจะใช้เฉพาะพิธีมงคลเท่านั้น ในพิธีมงคลต่างๆ ที่ไม่ใช่งานแต่งงาน
บายศรีที่ใช้จะเป็นจำนวนคี่ คือ ๓ ๕ ๗ และ
๙ ในสมัยโบราณบายศรีที่ใช้ในงานมงคลส่วนใหญ่จะใช้เป็นเลขคี่ ที่นิยมทำคือ
๕ กาบ หรือ ๕ ขา เพราะถือตามแบบอย่าง
ของงานพิธีมงคลที่นิมนต์พระเป็นเลขคี่ ส่วนงานอวมงคล เช่น งานศพ
จะนิมนต์พระเป็นเลขคู่ ปัจจุบัน นิยมทำบายศรีงานแต่งงาน เป็นจำนวนคู่ คือ
๔ ๖ ๘ โดยหมายความถึงการใช้ชีวิตครองคู่กัน ทั้งนี้
ในสลุง (ขัน) นอกจากจะมีเครื่องสังเวยแล้ว
ยังนิยมใส่เสื้อของเจ้าของพิธีลงไปด้วย แต่จะไม่ใส่ผ้าซิ่น
(ผ้านุ่ง) หรือกางเกงลงไป เพราะถือว่า "บายศรีเป็นของสูง"
ในงานบวชนาคก็นิยมใส่เสื้อของเจ้าของพิธีลงไปในสลุงเหมือนกัน
บายศรีจะมีจำนวนเท่าใดขึ้นอยู่กับขนาดของภาชนะหรือโตกที่ใส่
ส่วนจำนวนนิ้วของบายศรีนั้นไม่ได้กำหนดไว้แน่นอนตายตัว
ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความสวยงาม อาจจะมี ๑๖ นิ้ว ๑๙
นิ้ว ๒๐ นิ้ว ๒๒ นิ้ว หรือ ๓๕
นิ้วก็ได้
ซึ่งจำนวนเครื่องสังเวยที่ใส่ในบายศรีจะมีจำนวนเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และบุคคลที่เข้าพิธี
กรณีที่ใช้ประกอบพิธีสำหรับบุคคลเพียงคนเดียว เช่น การบวชนาค หรือคนโสด
จำนวนเครื่องสังเวยในบายศรีจะเป็นจำนวน ๑
เสมอ และสำหรับบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป เช่น การแต่งงาน การขึ้นบ้านใหม่
ฯลฯ เครื่องสังเวยจะจัดเป็นคู่เสมอ
|
บายศรีนมแมว ๓ ชั้น |
ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของประเพณีการสู่ข้าวเอาขวัญหรือฮ้องขวัญคือ
๑. เป็นการเรียกขวัญให้กลับคืนมา
๒. เป็นการให้กำลังใจ
๓. เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข
๔. เป็นสิริมงคล |