บายศรีภาคใต้
บายศรีของภาคใต้ในอดีตยังไม่นิยมทำกัน
แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยีและการสื่อสารมีความก้าวหน้า
ทำให้มีการถ่ายทอดและเชื่อมโยง ทางวัฒนธรรมและประเพณีมากขึ้น
ภาคใต้จึงได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมหลากหลายมากขึ้น ดังนั้น
จึงมีบายศรีใช้กัน ตามความเชื่อและความศรัทธามากขึ้นกว่าเดิม
บายศรีของภาคใต้ที่นิยมยึดถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน
เป็นบายศรี ของทางจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส
โดยบายศรีจะร่วมอยู่ในขบวนบายศรีประเพณีแห่นก ซึ่งมีการจัดพานบายศรี
(หรือที่เรียกกันในภาษาท้องถิ่นว่า บุหงาซีเระ หรือบุหงาซือรี)
โดยมีสาวสวยเข้าร่วมทูนพานบายศรี
ขบวนบุหงาซีเระ (ขบวนบายศรี)
ที่ร่วมในประเพณีแห่นก จัดเป็นขบวนที่สวยงาม ดึงดูดสายตาผู้ชม
ผู้ทูนพานบายศรีต้องเป็นสตรี ที่ได้รับการคัดเลือกว่า
เป็นผู้มีรูปร่างงดงาม ได้สัดส่วน
แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สวยงามหลากสีสันตามประเพณีท้องถิ่น พานที่ใส่บายศรี
หรือที่เรียกว่า อาเนาะกาซอ ใช้พานทองเหลือง
และนิยมใช้พานจำนวนคี่ คือ ๓ พาน ๕ พาน ๗
พาน หรือ ๙
พาน ดังนั้น ในประเพณีแห่นก ถือเป็นการส่งเสริม และอนุรักษ์ศิลปะ
การจัดพานบายศรีบุหงาซีเระ ให้ดำรงอยู่สืบไป
|
 บุหงาซึเระ
|
บุหงาซีเระ หมายถึง บายศรีประดิษฐ์แบบชาวไทยมุสลิมลักษณะหนึ่ง
โดยการนำดอกไม้สด ใบพลูมาประดิษฐ์ในลักษณะต่างๆ ให้สวยงามหลายรูปแบบ ตั้งแต่แบบดั้งเดิมจนถึงแบบสมัยใหม่ |
บุหงา แปลตามภาษามลายู คือ "ดอกไม้"
ซีเระ แปลตามภาษามลายู คือ "พลู"
พานบายศรี
(บุหงาซีเระ หรือบุหงาซือรี) เป็นการจัดพานบายศรีที่ใช้ร่วมในประเพณีแห่นก
โดยเล่าต่อๆ กันมาว่า
บรรพบุรุษของชาวไทยมุสลิมมีชื่อเสียงในงานศิลปะและงานประดิษฐ์อย่างมาก
โดยเฉพาะการประดิษฐ์บุหงาซีเระ เป็นที่ขึ้นชื่อมาแต่โบราณ
และเป็นที่นิยมจัดทำกันสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่ไม่มีหลักฐานใดๆ
ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ ประวัติความเป็นมา
มีแต่คำบอกกล่าวของบรรพบุรุษที่ว่า
ชาวไทยมุสลิมส่วนใหญ่เมื่อจะจัดงานแทบทุกงาน ไม่ว่าจะเป็น งานแต่งงาน
พิธีขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย
(เข้าสุหนัต) พิธีสู่ขอ พิธีรับขวัญเด็ก พิธีการจัดงานมหกรรมต่างๆ
หรือขบวนแห่ ตามประเพณีของชาวไทยมุสลิม
มักจะใช้บายศรีบุหงาซีเระมาประกอบพิธีการเหล่านี้
เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลของเจ้าภาพ ถือเป็นสิ่งนำโชค
และเพื่อความสวยงาม บางหมู่บ้านหรือบางตำบลก็จัดแข่งขัน
การประดิษฐ์บุหงาซีเระขึ้น เพื่อคงศิลปะนี้ไว้ ไม่ให้สูญหายไป
ปัจจุบัน การทำบายศรีของภาคใต้
มีลักษณะเป็นการผสมผสานรูปแบบของบายศรีภาคกลางและภาคอีสานเข้าด้วยกัน
และเป็นการทำบายศรีในรูปแบบของการประยุกต์ ตามจินตนาการของผู้ทำบายศรี
ยกเว้นบายศรีของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
ที่ยังคงทำบายศรีเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง |

ขบวนบุหงาซึเระ (ขบวนบายศรี) |
ความสำคัญของพานบายศรี (บุหงาซีเระ)
ใช้ในโอกาสต่างๆ ดังนี้
๑.
บุหงาซีเระ ๓ ชั้น ใช้ในโอกาสพิธีการที่ไม่สำคัญมาก เช่น
พิธีเข้าสุหนัต พิธีแต่งงาน พิธีสู่ขอ พิธีขึ้นเปลรับขวัญเด็ก พิธีที่ต้องใช้ถือเดินร่วมในขบวนแห่ต่างๆ
๒.
บุหงาซีเระ ๕ ชั้น ใช้ในพิธีที่ต้องตั้งอยู่กับที่ เช่น บนขบวนรถแห่
เพราะมีขนาดใหญ่ ตั้งประดับขบวนรถ ใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
ใช้ในงานพิธีการต่างๆ
เพื่อเป็นเกียรติเช่น มหกรรมกินปลากะพง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
๓. บุหงาซีเระ ๗ ชั้น ใช้ในพิธีที่จัดยิ่งใหญ่งานมหกรรมต่างๆ เช่น
ประเพณีแห่นก
๔. บุหงาซีเระ ๙ ชั้น จัดทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระบรมราชินีนาถ
การประกอบบุหงาซีเระ
เริ่มจากการนำโครงไม้ไผ่มาตั้งบนขอบพานด้านใน
โดยทำเป็นรูปกากบาท แล้วมัดด้วยลวดตรึงติดกับตัวพาน ชั้นที่ ๑
(นับจากพาน) ให้นำวงกลมที่ทำด้วยกระดาษมาสวมลงที่โครงไม้ไผ่ติดกับตัวพาน
จากนั้นจึงนำใบพลูประมาณ ๓-๕ ใบ เรียงสอดระหว่างช่องไม้ไผ่โดยรอบให้แน่น
โดยให้ใบพลูตั้งยืนประมาณ
๔๕ องศา แล้วนำใบมะยมที่เด็ดเป็นใบๆ มาสอดไว้ด้านใน
ระหว่างโครงไม้กับกระดาษทุกชั้น
(ใบมะยมที่ใส่ด้านในโครงไม้ไผ่เพื่อให้ใบพลูมีความเย็น
ไม่เหี่ยวง่าย และทำให้ใบพลูทรงตัวได้ดี) ชั้นที่ ๒
วางขอบกระดาษวงกลมบนใบพลู ขั้นตอนต่อไปทำเหมือนชั้นที่
๑ และชั้นต่อๆ ไป จะสลับระหว่างขอบกระดาษวงกลมกับใบพลู
ใบพลูตั้งลดหลั่นตามจำนวนชั้นที่วางเรียงลดหลั่นกัน
จะทำกี่ชั้นก็เหมือนกัน แล้วนำต้นกล้วยใส่ลงด้านบนของปากกระบอกไม้ไผ่
โดยให้ยอดของต้นกล้วยที่มีใบอยู่เหนือปากกระบอกไม้ไผ่ (ฐานต้นกล้วย
จะวางอยู่บนพานพอดี) จากนั้นตกแต่งด้วยดอกไม้หรือมาลัย อุบะ ทัดหู
ให้สวยงาม บุหงาซีเระนิยมทำเป็นเลขคี่ คือ ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น หรือ ๙
ชั้น |

ขบวนบุหงาซึเระในประเพณีแห่นก |
ความสวยงามของบุหงาซีเระขึ้นอยู่กับสิ่งต่อไปนี้
๑.
การซ้อนใบพลู เรียงซ้อนให้ได้ระเบียบสวยงาม ปลายใบพลูเท่าๆ กัน
ชั้นแรกใบพลูแต่ละใบใช้ขนาดใหญ่
และชั้นต่อไป ใช้ใบพลูขนาดกลาง เล็ก และเล็กที่สุด ตามลำดับ
การวางใบพลูให้จัดปลายตั้งยืนประมาณ ๔๕ องศา ระหว่างกลีบ
ให้จัดซ้อนกันตามลำดับให้แน่น
๒. สีสันของใบพลูต้องมีสีเขียวอมเหลืองนวล
๓. กระดาษแต่ละชั้นต้องให้ขอบชั้นสมดุลกัน โดยให้วงของกระดาษจากใหญ่ไปเล็กสุด
และระหว่างชั้น ใช้มาลัยหรือดอกไม้ ตกแต่งให้สวยงาม
๔. ต้นกล้วยต้องมียอดและมีใบเล็กประมาณ ๓-๔ ใบในลำต้นเดียวกัน
ข้อควรระวัง
ไม่ควรให้ใบพลูถูกน้ำมากเพราะจะเปื่อยง่าย การจัดวางต้องระวังไม่ให้ยอดใบพลูขาด เพราะจะดูไม่สวย
การทำโครงไม้ไผ่ ถ้าเป็นแบบโบราณจะใช้โครงไม้ไผ่ผ่าเป็นซี่
แต่ถ้าเป็นแบบประยุกต์จะใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นซี่ๆ โดยเหลาปลายให้แหลม
แล้วแทงต้นกล้วยจากยอด
ระหว่างซี่จะห่างกันประมาณ ๑ นิ้ว กางซี่ไม้ไผ่ให้กว้างเท่าขอบพานด้านใน
นำซี่ไม้ไผ่แทงฐานต้นกล้วยให้เป็นรูปกากบาทแล้วมัดตรึงกับพานให้แน่น
การประกอบก็จะประกอบเหมือนกันทุกประการ
แต่การทำโครงไม้ไผ่แบบประยุกต์จะทำให้ต้นกล้วยช้ำ
|