ชนิดของบายศรีที่ใช้ในพิธี
บายศรีนำไปใช้ในพิธีต่างๆ
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต
แม้แต่พิธีที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน การทำขวัญ เช่น ทำขวัญนาค
ทำขวัญเดือน ทำขวัญแต่งงาน ฯลฯ การบวงสรวงสังเวย เช่น ตั้งศาลพระภูมิ
วางศิลาฤกษ์ บวงสรวงเทวดาอารักษ์ บูชาครู ไหว้ครูช่าง ไหว้ครูศิลปิน
และการสมโภชในโอกาสต่างๆ เช่น สมโภชฉลองพระพุทธรูป ทำขวัญช้าง
ทำขวัญกระบือ ทำขวัญข้าว ทำขวัญนา ทำขวัญแม่โพสพ
พิธีเหล่านี้ใช้บายศรีเป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมทั้งสิ้น เนื่องจาก
บายศรีมีทั้ง บายศรีปากชามและบายศรีต้น
การเลือกใช้บายศรีชนิดใดและโอกาสใดนั้น
มักนิยมปฏิบัติสืบต่อกันเป็นแบบแผนประเพณี โดยมีข้อสังเกตง่ายๆ คือ
๑. บายศรีปากชาม
มักใช้ในพิธีทำขวัญกันภายในครัวเรือนอย่างเรียบง่าย
ไม่ใช่งานใหญ่ เช่น การทำขวัญเด็กแรกเกิด ทำขวัญเดือน
หรือใช้เป็นเครื่องบวงสรวงสังเวยเทวดา เช่น การตั้งหรือการถอนศาลพระภูมิ
๒. บายศรีต้นหรือบายศรีใหญ่
มักใช้เป็นเครื่องบูชาเทพยดาตามลัทธิพราหมณ์
หรือใช้ในงานทำขวัญที่เป็นงานชุมนุมชนหรืองานใหญ่ครึกครื้น เช่น ทำขวัญนาค
โกนจุก สมโภชในการฉลองพระพุทธรูป ฉลองสมณศักดิ์
นอกจากนี้ยังใช้ในการไหว้ครูอีกด้วย
อนึ่ง บางงานหรือบางพิธีอาจใช้ทั้งบายศรีปากชามและบายศรีต้นควบคู่กันไปด้วยก็ได้
พิธีกรรมที่ใช้บายศรีเป็นองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ |
การทำขวัญข้าว | ๑) การทำขวัญ
บายศรีถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่บางท้องถิ่นใช้ในการทำขวัญ
คนไทยมีความเชื่อว่า ขวัญเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก จึงต้องมีพิธีกรรม
เพื่อไม่ให้ขวัญหนีไปจากตัว และเชื่อว่า เมื่อขวัญหนีไป
ก็ต้องทำพิธีกรรมเรียกขวัญ หรือรับขวัญ ให้กลับมาอยู่กับตัว
เมื่อมีการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือมีผู้มาเยือน
ก็จะมีการทำขวัญเพื่อความเป็นสิริมงคลทั้งสิ้น เช่น - ทำขวัญ ๓ วัน ใช้บายศรีปากชาม
- ทำขวัญเดือน โกนจุก ใช้บายศรีปากชามหรือบายศรีต้น แล้วแต่ฐานะของเจ้าภาพ และขนาดของพิธี
- ทำขวัญนาค ใช้บายศรีต้น ยอดบายศรี มักเป็นบายศรีปากชาม
- ทำขวัญแต่งงาน ในภาคเหนือและภาคอีสานนิยมทำขวัญแต่งงาน ส่วนภาคกลาง ไม่นิยม
- ทำขวัญสัตว์ สิ่งของ ใช้บายศรีปากชาม
|
๒) การบวงสรวงสังเวย
การบวงสรวงสังเวยเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่มนุษย์ใช้ในการบำบวง
เซ่นไหว้ และสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งที่ตนเคารพนับถือ
เพื่อช่วยดลบันดาลให้ประสบกับโชคลาภ ความผาสุก
และความสำเร็จในกิจการทั้งปวง ในการบวงสรวงสังเวย
จะต้องมีเครื่องสังเวยบูชาเป็นโภชนาหารต่างๆ
โดยต้องมีบายศรีเป็นองค์ประกอบหลัก การบวงสรวงจึงเป็นการบอกกล่าวเทวดา
อัญเชิญมาร่วมในพิธีและเสวยอาหารในบายศรีและเครื่องสังเวย
การบวงสรวงสังเวย จะมีทั้งพระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับ พระมหากษัตริย์
และพิธีที่ราษฎรจัดทำขึ้น ในการบวงสรวงของราษฎรมักใช้บายศรีปากชาม
เครื่องบวงสรวงสังเวย ได้แก่ โภชนาหารที่มีพวกเนื้อสัตว์ ที่เรียกว่า
เครื่องมัจฉมังสาหาร เช่น หัวหมู เป็ด ไก่ กุ้ง ปู ปลา
ซึ่งส่วนใหญ่ต้มสุกแล้ว และพวกที่ไม่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ เรียกว่า
เครื่องกระยาบวช เช่น มะพร้าวอ่อน กล้วยน้ำไท ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว
เผือกต้ม มันต้ม แกงบวด ถั่ว งา และนมเนย
ถ้าเป็นบายศรีในศาลพระภูมิต้องมีไข่ต้มสุกอีก
๓ ฟอง การทำพิธีบวงสรวงสังเวยของราษฎร เช่น
การบวงสรวงสังเวยตั้งหรือถอนศาลพระภูมิเจ้าที่
ใช้พราหมณ์หรือผู้รู้เป็นผู้ประกอบพิธี แล้วแต่จะทำในโอกาสใด |
พิธีบวงสรวง |
พิธีบวงสรวงของหลวงมักใช้บายศรีต้น
๓ ชั้น ไม่ใช้บายศรีปากชามอย่างของราษฎร เครื่องประกอบบายศรีมีหัวหมู เป็ด
ไก่ กุ้ง ปู ปลาช่อน แป๊ะซะ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว
ไข่ เมี่ยงส้ม ผลไม้ กล้วยน้ำไท มะพร้าวอ่อน เครื่องประกอบบายศรีเหล่านี้
อาจงดเว้นบางอย่างก็ได้ ไม่ได้บังคับว่า ต้องมีตามรายการนี้ทั้งหมด
การทำพิธีนั้น พราหมณ์เป็นผู้ทำพิธี
โดยกล่าวคำชุมนุมเทวดาและอ่านคำประกาศบวงสรวง
พิธีบวงสรวงของหลวงเป็นพิธีใหญ่ และมักเกี่ยวกับ เรื่องของพระมหากษัตริย์
เช่น พิธีบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่อำเภอดอนเจดีย์
จังหวัดสุพรรณบุรี พิธีบวงสรวงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า การบวงสรวงสังเวยพระภูมิเจ้าที่ ที่วังไกลกังวล
หัวหิน
๓) การไหว้ครู
การไหว้ครูที่ต้องใช้บายศรี
ได้แก่
การไหว้ครูของกลุ่มศิลปินและช่างสาขาต่างๆ งานช่างศิลปกรรมนั้น
ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องสร้างสรรค์ ด้วยความประณีตและวิจิตรบรรจง
งานช่างบางอย่างยุ่งยากซับซ้อน
จะต้องหาที่พึ่งทางจิตใจเพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้มั่นคง
จึงจะสำเร็จลุล่วงได้ ส่วนงานด้านนาฏศิลป์ก็เช่นกัน
มีการกำหนดขั้นตอนไว้เป็นแบบแผน ทั้งยังยึดถือปฏิบัติ
ด้วยความเชื่อมั่นศรัทธา
เพราะผู้เรียนต้องได้รับการถ่ายทอดความรู้จากง่ายไปสู่ยาก
จากการเป็นผู้ไม่รู้ไปสู่ผู้รู้ และยังนำความรู้นั้น ไปประกอบอาชีพ
ด้วยความมั่นใจ ทำให้มีความผูกพันและให้ความสำคัญยกย่องครูมาก ดังนั้น
การไหว้ครูของพวกช่างและศิลปิน จึงเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อครู
ด้วยความศรัทธาและเคารพอย่างแท้จริง
เครื่องประกอบพิธีกรรมในการไหว้ครูช่างและโขนละคร ประกอบด้วยเครื่องบูชา
เครื่องสังเวย ได้แก่ อาหารคาว-หวานต่างๆ เครื่องกระยาบวช
นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือช่าง (ไหว้ครูช่าง) และหัวโขนละครต่างๆ
(ไหว้ครูโขนละคร) สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ บายศรี ส่วนจะใช้บายศรีชนิดใดนั้น
ขึ้นอยู่กับฐานะของผู้จัดและขนาดของพิธี
หากเป็นการไหว้ครูระดับธรรมดามักใช้บายศรีปากชาม
ถ้ามีการเวียนเทียนจะใช้บายศรีต้น ซึ่งจะมีกี่ชั้นแล้วแต่จะกำหนด |
บายศรีเป็นเครื่องสักการบูชาสำคัญในพิธีไหว้ครู |
ในการไหว้ครูดังกล่าวนั้นมักประกอบพิธีด้วยการบูชาเทวรูป
สรงน้ำเทวรูป กล่าวคำชุมนุมเทวดา อัญเชิญเทพเจ้า และครูผู้ล่วงลับไปแล้ว
มาร่วมพิธี รวมทั้งร่วมรับเครื่องสักการะและเครื่องสังเวย
การประกอบพิธีกรรม เป็นไปตามการไหว้ครูของศิลปะแต่ละประเภท
และมีพิธีครอบครู ซึ่งเป็นพิธีการประกาศยอมรับความเป็นศิษย์ ซึ่งเป็นโอกาส
ที่จะฝึกหัดวิชาการขั้นสูงต่อๆ ไป
นอกจากนี้ยังมีบายศรีซึ่งใช้สักการะเทพเจ้าชั้นพรหม
ชั้นเทพ ที่แพร่หลายอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน
พิธีไหว้ครูมักกระทำเป็นประจำปี
หรือกำหนดวัน-เวลาแตกต่างกันไปในแต่ละสำนัก เช่น ไหว้ครู ยกครู
ในการประกอบพิธีดังกล่าว
อาจมีทั้งพิธีทางพระพุทธศาสนาและพิธีพราหมณ์ควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้
เท่ากับเป็นการเชื่อมโยงพระพุทธศาสนา เข้ากับคติความเชื่อของพราหมณ์
ซึ่งยังคงยึดถือและเชื่อมั่นไม่เสื่อมคลาย
พิธีไหว้ครูประจำปีหรือสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว
นอกจากจะมีบายศรีต้นอันเป็นบายศรีหลักแล้ว ยังมีบายศรีที่ประดิษฐ์ขึ้น
เพื่อบูชาเป็นการเฉพาะ และมีบายศรีบริวารอีกเป็นจำนวนมาก
ความยิ่งใหญ่อลังการขึ้นอยู่กับระดับความสำคัญของเทพเจ้านั้นๆ
๔) การสมโภช
เป็นงานฉลองในพิธีมงคลเพื่อความรื่นเริงยินดี
การสมโภชส่วนใหญ่จะเป็นพิธีของหลวง เช่น
พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่
พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ส่วนการสมโภชของราษฎร
ใช้ในพิธีสมโภชฉลองพระพุทธรูป ฉลองสมณศักดิ์
บายศรีที่ใช้ในการสมโภชมีทั้งบายศรีปากชามและบายศรีต้น ในพิธีของหลวง
ใช้บายศรีแก้ว ทอง เงิน ตามแบบแผนที่มีการกำหนดไว้ในราชประเพณี
บางพิธีอาจใช้บายศรีต้น และบายศรีตองรองทองขาว ควบคู่ไปด้วย
บายศรีนอกจากจะใช้ในโอกาสต่างๆ
ตามที่กล่าวมาแล้ว ยังได้ขยายวงกว้างออกไป โดยนำไปสักการบูชาพระพุทธรูป
หรือถวายแก้บน
ดังที่พบเห็นกันทั่วไปตามวัดวาอารามต่างๆ จึงกล่าวได้ว่า
บายศรีเป็นองค์ประกอบสำคัญในพิธีกรรมการทำขวัญ บวงสรวงบูชาเทพยดา บูชาครู
เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองหรือส่วนรวม ทั้งนี้
เพราะบายศรีจะนำไปใช้เฉพาะในงานพิธี ที่เป็นมงคลเท่านั้น
จะไม่ใช้ในพิธีอวมงคล |