การผลิตยา
การผลิตยาทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกเพื่อนำมาจำหน่าย
จะต้องผ่านมาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยา ขององค์การอนามัยโลก
เพื่อประกันคุณภาพของยาทุกรุ่น โดยให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่ามีคุณภาพ
มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย และลดต้นทุนการผลิต
ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตยาในรูปแบบต่างๆ
ดังรายละเอียดตัวอย่างการผลิตยา ที่มีการใช้กันอย่างกว้างขวางต่อไปนี้
๑. การผลิตยาเม็ด
กระบวนการผลิตยาเม็ดจะเริ่มต้นจากการเตรียมวัตถุดิบเพื่อนำไปผสมกัน
แล้วเติมสารยึดเกาะ ทำให้เป็นผงแกรนูล ที่มีลักษณะเป็นส่วนผสมของยาก้อนเล็กๆ
จากนั้นจึงอบผงแกรนูลให้แห้งด้วยความร้อนหรือลมร้อน
เพื่อเตรียมตอกเป็นเม็ดยา
ซึ่งเม็ดยาอาจจะต้องผ่านการเคลือบด้วยน้ำตาลหรือฟิล์ม
เพื่อป้องกันไม่ให้สารสำคัญทางยาเสื่อมสภาพเร็ว หรือกลบรสและกลิ่น ของยา
หรือเป็นการควบคุมให้ยาไปออกฤทธิ์ที่ลำไส้ เมื่อผ่านทุกขั้นตอนการผลิตแล้ว
จะต้องนำตัวอย่างยาไปวิเคราะห์ เพื่อประกันคุณภาพและปริมาณสารสำคัญของยา
รวมทั้งป้องกันการปนเปื้อนในยาก่อนบรรจุเพื่อจำหน่าย
|
ยาเม็ดที่เคลือบด้วยน้ำตาล
|
๒. การผลิตยาแคปซูล
แคปซูลมีลักษณะเหมือนเป็นภาชนะที่บรรจุยาอยู่ภายในและเป็นภาชนะที่รับประทานได้
เพราะทำมาจากโปรตีนที่เรียกว่า เจลาติน แคปซูลแบ่งเป็น ๒ ชนิด คือ
๑) แคปซูลแข็ง
ที่มี ๒ ส่วน คือ ตัวแคปซูลและฝาปิด
ยาที่ผ่านการเตรียมเป็นผงแกรนูลเหมือนขั้นตอนของการผลิตยาเม็ดแล้ว
จะถูกบรรจุในตัวแคปซูล แล้วนำส่วนฝามาเชื่อมต่อกัน เช่น แคปซูลยาปฏิชีวนะ |
ยาแคปซูลแข็ง |
๒) แคปซูลนิ่ม
เกิดจากการผลิตเปลือกแคปซูลและบรรจุยาไปพร้อมกัน
แคปซูลที่ได้มีลักษณะขอบปิดสนิท ซึ่งน้ำและอากาศ ไม่สามารถผ่านได้
ตัวอย่างแคปซูลประเภทนี้ เช่น น้ำมันตับปลา
โดยก่อนจะนำยาแคปซูลไปบรรจุเพื่อจำหน่ายนั้น ต้องผ่านขั้นตอนการขัดแคปซูล
เพื่อกำจัดฝุ่นผงยาที่ปนเปื้อน และต้องผ่านการทดสอบวิเคราะห์
เพื่อประกันคุณภาพ และปริมาณสารสำคัญของยาด้วยเช่นเดียวกัน |
ยาแคปซูลนิ่ม |
๓. การผลิตยาน้ำ
ยาน้ำแบ่งออกเป็น
๒ แบบ คือ ยาน้ำใสที่เป็นสารละลายเนื้อเดียว
และยาน้ำที่เป็นสารเนื้อผสมของยาที่เป็นรูปแบบของแข็ง ในน้ำกระสายยา เช่น
ยาน้ำแขวนตะกอน การผลิตยาน้ำจะเริ่มต้นจากการละลายยาในตัวทำละลาย
และคนให้ทั่ว เพื่อให้สารละลายเป็นเนื้อเดียวกัน
ถ้าเพิ่มความเข้มข้นของสารละลายหรือตัวถูกละลายก็จะมีการละลายได้ช้า
อาจใช้ความร้อนช่วยในการละลายได้ แล้วเติมสารอื่นๆ
ในถังผสมลงไปตามลำดับที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มอัตราการละลาย
และตัวถูกละลายที่มีปริมาณน้อย เช่น สี หรือสารอื่นๆ
ให้ละลายเป็นสารละลายก่อน แล้วเติมส่วนผสมอื่นๆ ลงในถังผสม
เพื่อให้เกิดการละลายได้สมบูรณ์
ส่วนตำรับยาน้ำแขวนตะกอนต้องเติมสารที่ช่วยทำให้ผงยาเปียก เช่น
กลีเซอรีนไกลคอล
เพื่อให้ยาสามารถละลายและแขวนตัวกระจายในสารละลายที่มีปริมาณมากเพียงพอได้ความเข้มข้นที่สม่ำเสมอทั้งขวด |
ยาฉีดในรูปยาน้ำใสไม่มีตะกอน | ๔. การผลิตยาปราศจากเชื้อ
ยาปราศจากเชื้อ
คือ ยาที่เตรียมขึ้นให้มีคุณสมบัติปราศจากเชื้อทุกชนิด
และมีฤทธิ์ ในการรักษาโรค เช่น ยาฉีด ยาหยอดตา
ยาฉีดเป็นรูปแบบของยาที่มีลักษณะพิเศษ กว่าแบบอื่นๆ
เพราะต้องใช้ฉีดเข้าร่างกายผ่านผิวหนังหรือเนื้อเยื่อที่บอบบาง ยาฉีด
อาจอยู่ในรูปแบบของยาน้ำใสไม่มีตะกอน ยาแขวนตะกอน
หรือยาผงแห้ง ที่ต้องผสมสารละลายก่อนฉีดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีฉีด
ความคงตัวของยา และวัตถุประสงค์ ในการใช้รักษาโรคต่างๆ
แต่ต้องปราศจากเศษผงใดๆ มิฉะนั้นอาจจะไปอุดตันเส้นเลือดฝอย
ซึ่งจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย ที่สำคัญคือ ยาฉีดนั้นต้องทำให้ปราศจากเชื้อ
ยาฉีด จึงมักมีราคาแพงกว่ายาที่รับประทาน |
นอกจากตัวยาสำคัญๆ แล้ว ในยาฉีดอาจมีส่วนผสมของสารอื่นๆ เช่น
สารช่วยละลายตัวยา สารที่ช่วยให้ยามีความคงตัวทางกายภาพและทางเคมี
สารกันเสียที่ทำให้ยาคงสภาพการปราศจากเชื้อ
สารช่วยลดความเจ็บปวดหรือลดการระคายเคืองในขณะที่ฉีดยา
สารที่ช่วยให้ผงยาแขวนตัวกระจายในสารละลายแขวนตะกอนได้
ดังนั้น การผลิตยาฉีดจะต้องเริ่มจากการคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพดี
และควบคุมการเตรียมยาด้วยความระมัดระวัง ในสถานที่ที่สะอาด
เพื่อให้ได้ยาที่ปราศจากการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ ฝุ่นละออง
และสิ่งแปลกปลอมต่างๆ โดยเฉพาะ ต้องปราศจากสารก่อไข้ (pyrogen)
ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะทำให้หนาวสั่นและเป็นไข้ ขั้นตอนสุดท้าย
หลังการบรรจุผลิตภัณฑ์ยาฉีดในบรรจุภัณฑ์เฉพาะที่
อาจทำแบบใช้ครั้งเดียวหรือแบบแบ่งใช้หลายครั้งก็ตาม
จะต้องผ่านการอบฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำอีกครั้ง
เพื่อรับประกันคุณภาพและความปลอดภัยของยา |
สถานที่ผลิตยาฉีดต้องมีการควบคุมการเตรียมยาด้วยความระมัดระวัง |