ต้นกำเนิดรังสีในธรรมชาติ - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 38
เล่มที่ ๓๘
เรื่องที่ ๑ ลายไทย-ลายกระหนก
เรื่องที่ ๒ บายศรี
เรื่องที่ ๓ การอุดมศึกษา
เรื่องที่ ๔ แก้วมังกร
เรื่องที่ ๕ มะพร้าวน้ำหอม
เรื่องที่ ๖ การผลิตยารักษาโรค
เรื่องที่ ๗ รังสี
เรื่องที่ ๘ โรคกระดูกและข้อในเด็ก
เรื่องที่ ๙ โรคพันธุกรรมในเด็ก

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๘ / เรื่องที่ ๗ รังสี / ต้นกำเนิดรังสีในธรรมชาติ

 ต้นกำเนิดรังสีในธรรมชาติ
ต้นกำเนิดรังสีในธรรมชาติ

ต้นกำเนิดรังสีต่างๆ มีอยู่แล้วในธรรมชาติ ดังนั้น มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาบนโลกนี้ จะได้รับรังสีจากต้นกำเนิดรังสีตั้งแต่เกิดจนตาย อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่จะได้รับรังสีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ สิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ และพฤติกรรม ของแต่ละรายด้วย ต้นกำเนิดรังสีกลุ่มนี้ ได้แก่

๑. ต้นกำเนิดรังสีจากนอกโลก

รังสีจากนอกโลกที่เรียกว่า รังสีคอสมิก พุ่งเข้าสู่โลกที่เราอาศัยอยู่ทุกทิศทุกทาง โดยส่วนหนึ่งมาจากดวงอาทิตย์ และอีกส่วนหนึ่ง มาจากต้นกำเนิดรังสี ที่ไม่รู้แหล่งแน่นอน

อวกาศนอกโลกเป็นแหล่งแผ่รังสีคอสมิกสู่โลก
รังสีคอสมิกประกอบด้วยอนุภาคต่างๆ เช่น โปรตอน แอลฟา นิวตรอน อิเล็กตรอน ที่มีพลังงานสูงมากพุ่งเข้าสู่โลก แต่ส่วนใหญ่ ถูกบรรยากาศของโลกกั้นไว้ จึงเหลือส่งมาถึงพื้นโลกเป็นส่วนน้อย และมีพลังงานไม่สูงมากนัก ผู้ที่มีโอกาสได้รับรังสีเหล่านี้มากคือ ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่สูง และผู้ที่เดินทางโดยเครื่องบิน แม้แต่รังสีอัลตราไวโอเลต ก็เป็นรังสีที่มาจากนอกโลกเช่นกัน
๒. ต้นกำเนิดรังสีบนโลก

ต้นกำเนิดรังสีบนโลก ได้แก่ ไอโซโทปกัมมันตรังสีที่มีปะปนอยู่ทั่วๆ ไปในดิน หิน แร่ น้ำ อากาศ และวัตถุต่างๆ โดยมีทั้งไอโซโทปกัมมันตรังสีที่มีการสลายตัวเป็นอนุกรม และไอโซโทปกัมมันตรังสีอื่นๆ

ไอโซโทปกัมมันตรังสีที่มีการสลายตัวเป็นอนุกรมที่เหลืออยู่ มี ๓ อนุกรม ดังนี้

อนุกรมแรก คือ อนุกรมทอเรียม (thorium series) ที่เริ่มต้นจากทอเรียม-๒๓๒ แล้วสลายตัวไปเป็นทอดๆ จนสุดท้าย กลายเป็นตะกั่ว-๒๐๘ ซึ่งเสถียร อนุกรมทอเรียมมีไอโซโทปกัมมันตรังสีอยู่ ๑๒ ไอโซโทป

อนุกรมที่ ๒
คือ อนุกรมยูเรเนียม (uranium series) ซึ่งเริ่มต้นจากยูเรเนียม-๒๓๘ แล้วสลายตัวไปเป็นทอดๆ จนสุดท้าย กลายเป็นตะกั่ว-๒๐๖ ซึ่งเสถียร อนุกรมยูเรเนียมมีไอโซโทปกัมมันตรังสีอยู่ ๑๗ ไอโซโทป

อนุกรมที่ ๓ คือ อนุกรมแอกทิเนียม (actinium series) ซึ่งเริ่มจากยูเรเนียม-๒๓๕ แล้วสลายเป็นทอดๆ จนสุดท้าย กลายเป็นตะกั่ว-๒๐๗ ซึ่งเสถียร อนุกรมแอกทิเนียมมีไอโซโทปกัมมันตรังสีอยู่ ๑๔ ไอโซโทป

นอกเหนือจากไอโซโทปกัมมันตรังสีที่อยู่ในอนุกรมทั้ง ๓ อนุกรมดังกล่าวแล้ว มนุษย์ยังได้รับรังสีจากไอโซโทปกัมมันตรังสีอื่นๆ ที่การสลายไม่เป็นอนุกรม แต่มีอยู่แล้วในธรรมชาติบนโลกเช่นกัน เช่น คาร์บอน-๑๔ โพแทสเซียม-๔๐ รูบิเดียม-๘๗ แลนทานัม-๑๓๘ ซาแมเรียม-๑๔๗ ลูทีเชียม-๑๗๖ และรีเนียม-๑๘๗

ร่างกายมนุษย์มีไอโซโทปกัมมันตรังสีปะปนอยู่ด้วย เช่น โพแทสเซียม-๔๐ รูบิเดียม-๘๗ เรเดียม-๒๒๖ แลนทานัม-๑๓๘ วาเนเดียม-๕๐ ยูเรเนียม-๒๓๘ โดยคนที่มีน้ำหนักมาก จะมีปริมาณของไอโซโทปกัมมันตรังสีในร่างกาย มากกว่าคนที่มีน้ำหนักน้อย ดังนั้นอาจพูดได้เช่นกันว่า เราทุกคนเป็นต้นกำเนิดรังสี มีรังสีแผ่ออกจากตัวด้วยทุกคน

มนุษย์ทุกคนได้รับรังสีจากสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป