การป้องกันรังสี - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 38
เล่มที่ ๓๘
เรื่องที่ ๑ ลายไทย-ลายกระหนก
เรื่องที่ ๒ บายศรี
เรื่องที่ ๓ การอุดมศึกษา
เรื่องที่ ๔ แก้วมังกร
เรื่องที่ ๕ มะพร้าวน้ำหอม
เรื่องที่ ๖ การผลิตยารักษาโรค
เรื่องที่ ๗ รังสี
เรื่องที่ ๘ โรคกระดูกและข้อในเด็ก
เรื่องที่ ๙ โรคพันธุกรรมในเด็ก

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๘ / เรื่องที่ ๗ รังสี / การป้องกันรังสี

 การป้องกันรังสี
การป้องกันรังสี

การที่รังสีมีอันตรายต่อชีวิต ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์ด้านรังสีจึงมีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งองค์กร เพื่อจัดทำคำแนะนำ และกำหนดกฎเกณฑ์มาตรฐานในเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยทางรังสี ซึ่งมีหลายองค์กรทั้งระดับระหว่างประเทศและระดับประเทศ องค์กรที่ควรกล่าวถึง ได้แก่
  • คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศ ว่าด้วยการป้องกันอันตรายจากรังสี (International Commission on Radiological Protection: ICRP)
  • ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA)
  • องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO)
  • คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยหน่วยทางรังสีและการตรวจวัด (International Commission on Radiation Units and Measurement: ICRU)
  • คณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ของประเทศไทย (Atomic Energy For Peace Committee)

องค์กรแต่ละองค์กรได้เสนอแนะแนวทางในการปฏิบัติที่เกี่ยวกับการป้องกันรังสี เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนทั่วไป ข้อเสนอแนะต่างๆ เหล่านั้น ประเทศที่มีการใช้ประโยชน์จากรังสีได้นำไปใช้ โดยอาจใช้โดยตรง หรือมีการปรับปรุงให้เหมาะกับการใช้ในประเทศของตน

ป้ายรังสี สำหรับติดบริเวณที่มีรังสี
โดยสรุป ได้มีการกำหนดปริมาณรังสีที่ยอมรับกันว่ามีความปลอดภัย ในกรณีที่ถูกรังสีทั้งร่างกาย ดังนี้
  • สำหรับผู้ทำงานทางรังสี ๒๐ มิลลิซีเวิร์ตต่อปี (สมัยก่อนใช้ ๕ เร็ม = ๕๐ มิลลิซีเวิร์ตต่อปี)
  • สำหรับประชาชนทั่วไป ๑ มิลลิซีเวิร์ตต่อปี (สมัยก่อนใช้ ๐.๕ เร็ม = ๕ มิลลิซีเวิร์ตต่อปี)
นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดปลีกย่อยต่างๆ อีกมากมาย เช่น ไอโซโทปกัมมันตรังสีแต่ละชนิดสะสมในร่างกายได้เท่าไร ในน้ำดื่มได้เท่าไร ในอากาศได้เท่าไร และถ้ามีหลายอย่างปนกันจะมีวิธีการคำนวณอย่างไร รวมทั้งเวลาเกิดอุบัติเหตุทางรังสี จะต้องปฏิบัติอย่างไร ตลอดจนการขนส่งสารกัมมันตรังสี การเก็บและการกำจัดกากกัมมันตรังสีต้องทำอย่างไร

สำนักงานทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรเลีย

แม้รังสีจะมีอันตราย แต่ก็มีประโยชน์เช่นกัน เราสามารถนำรังสีมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมาย ด้วยเหตุนี้ จึงต้องหาวิธีการ ที่จะป้องกันไม่ให้รังสีเป็นอันตรายต่อมนุษย์ แนวทางง่ายๆ คือ ต้องหาวิธีการที่จะทำให้ได้รับรังสีน้อยที่สุด โดยงานที่ต้องใช้ประโยชน์จากรังสีนั้น ไม่เสียหาย ถึงแม้ว่าระดับรังสีที่มีอยู่จะยอมรับได้ว่าปลอดภัย แต่นั่นเป็นขีดจำกัดที่กำหนดไว้ เป็นหลักในการออกแบบ และวางแผนการทำงานด้านรังสีเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ทำงานทางรังสีจะต้องป้องกันตนเอง เพื่อให้ได้รับรังสีน้อยที่สุด และต้องไม่เกินระดับที่ร่างกายสามารถรับได้

สำหรับหลักการป้องกันอันตรายจากรังสีนั้น มีข้อปฏิบัติเบื้องต้น ดังนี้

๑. กรณีต้นกำเนิดรังสีชนิดปิดผนึก (Sealed source)

ต้นกำเนิดรังสีชนิดปิดผนึก หมายถึง สารกัมมันตรังสีถูกบรรจุอยู่ในภาชนะโลหะที่ห่อหุ้มปิดมิดชิด สารกัมมันตรังสีไม่สามารถเล็ดลอดออกมาข้างนอกได้ ที่ออกมาได้มีแต่รังสีที่แผ่ออกมาเท่านั้น การทำงานกับต้นกำเนิดรังสีชนิดปิดผนึกที่จะทำให้ตนเองได้รับรังสีน้อยนั้น มีหลักปฏิบัติง่ายๆ ๓ ข้อ คือ

๑. เวลา

ใช้เวลาปฏิบัติงานในบริเวณที่มีรังสีให้น้อยที่สุด หรือถ้าจำเป็นต้องอยู่นานจะต้องคำนวณระยะเวลาว่าอยู่ได้นานที่สุดเท่าไร จึงจะรับรังสีไม่เกินระดับที่ยอมรับได้โดยปลอดภัย ปกติในบริเวณที่มีรังสีจะมีป้ายบอกระดับรังสี และถ้าระดับรังสีค่อนข้างสูง จะมีการบอกถึงระยะเวลาที่สามารถอยู่ได้ในบริเวณนั้นด้วย นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการทักทายพูดคุยที่ไม่จำเป็นในบริเวณที่มีรังสี

๒. ระยะทาง

พยายามอยู่ให้ห่างจากต้นกำเนิดรังสีให้มากที่สุด เพราะระดับรังสีจะลดลง ๔ เท่า เมื่อระยะทางห่างออกไป ๑ เท่า หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายต้นกำเนิดรังสี อย่าใช้มือจับ เพราะจะได้รับรังสีที่มือปริมาณสูงมาก ควรใช้ปากคีบหรือใช้คีมจับ ที่มีด้ามยาวๆ และต้องถือให้ต้นกำเนิดรังสีห่างจากตัวมากที่สุด

๓. เครื่องกำบังรังสี

กรณีที่ต้นกำเนิดรังสีแผ่รังสีในปริมาณสูง ต้องทำให้ระดับรังสีที่สูงนั้นลดน้อยลงจนอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ซึ่งสามารถทำได้ โดยการใช้เครื่องกำบังรังสีวางกั้น หรือวางล้อมรอบไว้ระหว่างต้นกำเนิดรังสีกับตัวเรา วัสดุที่ใช้กั้นรังสีแกมมาและรังสีเอกซ์ นิยมใช้ตะกั่วหรือคอนกรีต ส่วนรังสีนิวตรอนจะใช้น้ำหรือพาราฟิน สำหรับรังสีแอลฟาและรังสีบีตาไม่ค่อยมีปัญหา เพราะรังสีแอลฟา ใช้เพียงกระดาษหนาเล็กน้อยก็กั้นได้ ส่วนรังสีบีตาใช้แผ่นอะลูมิเนียมที่ไม่หนามากนัก
๒. กรณีต้นกำเนิดรังสีชนิดไม่ปิดผนึก (Unsealed source)

ต้นกำเนิดรังสีชนิดไม่ปิดผนึก หมายถึง สารกัมมันตรังสีที่ไม่ได้มีการบรรจุหรือห่อหุ้มปิดผนึกมิดชิดถาวร ต้นกำเนิดรังสีชนิดไม่ปิดผนึกอาจเกิดการแพร่กระจาย ฟุ้งกระจาย หกเปรอะเปื้อน หรือรั่วซึมออกจากภาชนะที่บรรจุได้

ในการทำงานกับต้นกำเนิดรังสีชนิดไม่ปิดผนึกนี้ นอกจากต้องใช้หลักการ ๓ ข้อ คือ เวลา ระยะทาง และเครื่องกำบังรังสีแล้ว ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษในการหยิบจับ และต้องระวังไม่ให้สารกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นทางจมูก ทางปาก และการสัมผัสกับผิวหนัง ปกติการทำงานกับต้นกำเนิดรังสีแบบนี้ จะทำในตู้ควันที่มีระบบการระบายอากาศผ่านแผ่นกรอง กักสารกัมมันตรังสีอย่างดี การทำงานกับต้นกำเนิดรังสีชนิดไม่ปิดผนึกจะยุ่งยากมากกว่าต้นกำเนิดรังสีชนิดปิดผนึก เพราะต้องมีความรู้ในด้านการขจัดสิ่งเปรอะเปื้อนสารกัมมันตรังสี ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุสารกัมมันตรังสีหกรดพื้น เปื้อนอุปกรณ์ เครื่องมือ และตัวเอง

ในการป้องกันอันตรายจากรังสี สิ่งสำคัญที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องทราบก่อนให้ได้ คือ บริเวณที่ปฏิบัติงานมีระดับปริมาณรังสี มากหรือน้อยเท่าไร ตัวผู้ปฏิบัติงานจะได้รับปริมาณรังสีเท่าไร และถ้าเป็นการปฏิบัติงานกับต้นกำเนิดรังสีชนิดไม่ปิดผนึก ก็ต้องทราบว่า อากาศในบริเวณที่ทำงานมีสารกัมมันตรังสีฟุ้งกระจายปนอยู่เท่าไร
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป