เครื่องตรวจวัดรังสี - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 38
เล่มที่ ๓๘
เรื่องที่ ๑ ลายไทย-ลายกระหนก
เรื่องที่ ๒ บายศรี
เรื่องที่ ๓ การอุดมศึกษา
เรื่องที่ ๔ แก้วมังกร
เรื่องที่ ๕ มะพร้าวน้ำหอม
เรื่องที่ ๖ การผลิตยารักษาโรค
เรื่องที่ ๗ รังสี
เรื่องที่ ๘ โรคกระดูกและข้อในเด็ก
เรื่องที่ ๙ โรคพันธุกรรมในเด็ก

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๘ / เรื่องที่ ๗ รังสี / เครื่องตรวจวัดรังสี

 เครื่องตรวจวัดรังสี
เครื่องตรวจวัดรังสี

รังสีเป็นสิ่งที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส ดังนั้น เราจะไม่มีความรู้สึกต่อรังสีเลย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เวลาที่เราไปถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด ที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่จัดให้ไปยืนที่เครื่องแล้วบอกว่าหายใจเข้า กลั้นหายใจ แล้วก็บอกว่าเสร็จแล้ว เราไม่รู้สึกเลยว่า รังสีเอกซ์ได้ผ่านหน้าอกของเราไปแล้ว ด้วยเหตุนี้เอง นักวิทยาศาสตร์จึงได้คิดค้นสร้างเครื่องมือเพื่อตรวจวัดรังสีและบันทึกรังสีขึ้น เมื่อต้องปฏิบัติงานทางรังสี จำเป็นต้องมีเครื่องมือเหล่านี้เป็นเบื้องต้น ได้แก่

๑. เครื่องสำรวจรังสี

เครื่องสำรวจรังสีเป็นอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็ก กะทัดรัด น้ำหนักไม่มาก สามารถถือเดินสำรวจไปมาได้ ใช้สำหรับตรวจหาและวัดรังสีว่า บริเวณนั้นมีระดับรังสี หรือปริมาณรังสีเท่าไร และใช้วัดดูการเปื้อนสารกัมมันตรังสีตามที่ต่างๆ และตามร่างกายเราด้วย เครื่องสำรวจรังสีมีหลายแบบ แล้วแต่ว่าจะใช้วัดรังสีอะไร ซึ่งต้องใช้ให้ถูก เช่น เครื่องวัดรังสีแกมมาหรือรังสีบีตา ไม่สามารถใช้วัดรังสีนิวตรอนได้
๒. เครื่องบันทึกรังสี

เครื่องบันทึกรังสีเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ติดตัวผู้ทำงานทางรังสีในระหว่างปฏิบัติงาน เพื่อบันทึกปริมาณรังสีที่แต่ละคนได้รับ เนื่องจากในการทำงานมักมีการเคลื่อนไหว เดินไปเดินมา เข้า-ออกบริเวณที่มีรังสีอยู่ตลอดเวลา เครื่องบันทึกรังสีนี้มีทั้งชนิดที่เป็นฟิล์ม และชนิดที่มีลักษณะคล้ายปากกาเสียบกระเป๋า บางชนิดจะมีเสียงเตือนด้วย โดยเสียงจะดังถี่ขึ้น เมื่อพบว่ารังสีมีระดับสูง

เครื่องบันทึกรังสีแบบเสียบกระเป๋า ซึ่งสามารถอ่านค่าได้ทันที
๓. เครื่องเตือนรังสี

ปกติเครื่องเตือนรังสีจะติดตั้งอยู่ในที่ประจำเพื่อตรวจวัดระดับรังสี ถ้าระดับรังสี สูงกว่าที่กำหนดไว้ เครื่องมือนี้จะส่งเสียงเตือน หรือมีไฟกะพริบให้สังเกตเห็น ปกติเครื่องเตือนรังสีนี้ จะติดตั้งในสถานที่ที่มีการใช้สารกัมมันตรังสีในปริมาณมาก และในบริเวณ ที่กว้างขวาง

การตรวจการเปรอะเปื้อน
สารกัมมันตรังสี
๔. เครื่องตรวจฝุ่นกัมมันตรังสี

เครื่องตรวจฝุ่นกัมมันตรังสีใช้ระบบการดูดอากาศผ่านแผ่นกรอง ซึ่งแผ่นกรองนี้ จะดักจับฝุ่นกัมมันตรังสีในอากาศบริเวณนั้น  จากนั้นนำแผ่นกรองไปตรวจวัด ปริมาณสารกัมมันตรังสีอีกต่อหนึ่ง
อุปกรณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ปฏิบัติงานทางรังสีมีความมั่นใจในความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม สถาบันหรือหน่วยงาน ที่มีการใช้สารกัมมันตรังสี จะต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี ทำหน้าที่รับผิดชอบประจำอยู่ตามข้อบังคับของกฎหมาย

ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้รังสี เพื่อประโยชน์ในงานต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยใช้ในทางการแพทย์มากที่สุด ถัดมาเป็นการใช้ ในทางอุตสาหกรรม การเกษตร การค้นคว้าศึกษาวิจัย ฯลฯ สิ่งของบางอย่างที่เราคาดไม่ถึงว่า มีการใช้สารกัมมันตรังสี ก็ปรากฏว่า มีการใช้สารกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบ เช่น เครื่องเตือนไฟไหม้ที่ติดตั้งตามบ้าน สายล่อฟ้า สารเรืองแสงในหน้าปัดนาฬิกา

ประเทศไทยมีหน่วยราชการหน่วยหนึ่งที่มีชื่อว่า "สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ" (Office of Atoms for Peace: OAP) มีหน้าที่ควบคุม ดูแล รับผิดชอบการใช้พลังงานปรมาณูในประเทศไทยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ตั้งอยู่ที่ ๑๖ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐ หมายเลขโทรศัพท์ ๐-๒๕๗๙-๕๒๓๐-๔, ๐-๒๕๙๖-๗๖๐๐ โทรสาร ๐-๒๕๖๑-๓๐๑๓ e-mail: pr@oaep.go.th web site: www.oaep.go.th

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
หัวข้อก่อนหน้า