ประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย
หลักฐานเรื่องของการสะสมสิ่งต่างๆ
มีปรากฏให้เห็นในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
ซึ่งจากการขุดค้น ทางโบราณคดี พบว่า
โครงกระดูกในหลุมฝังศพมีโบราณวัตถุที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้ฝังรวมอยู่กับผู้ตาย
และบนร่างกายของผู้ตาย ก็สวมใส่เครื่องประดับ
จากการศึกษาวิเคราะห์สิ่งของเหล่านี้ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า
สิ่งของหลายชนิดโดยเฉพาะเครื่องประดับ ถือเป็นของสะสมส่วนตัวของผู้ตาย
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า แนวคิดในการสะสมสิ่งของซึ่งเป็นพื้นฐาน
ที่ทำให้เกิดเป็นพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
หรือกว่า ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
แนวคิดในเรื่องการสะสม เพื่อการพัฒนาสังคมมาปรากฏในรัชสมัย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขณะยังไม่ทรงขึ้นครองราชย์และยังทรงผนวช เมื่อเสด็จฯ ไปยังท้องถิ่นต่างๆ
ทรงรวบรวมสิ่งของไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ
ตลอดจนวัตถุทางธรรมชาติวิทยาและชาติพันธุ์วิทยา และวัตถุสิ่งของ
ที่นานาชาตินำมาถวาย เพื่อเจริญพระราชไมตรี โปรดเกล้าฯ
ให้นำสิ่งของสะสมเหล่านั้น มาจัดแสดงให้ทูตานุทูต พระราชอาคันตุกะ
และข้าราชบริพาร ได้ชม ณ พระที่นั่งราชฤดี ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมา พ.ศ.
๒๔๐๒ โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพระที่นั่งขึ้นเพื่อการนี้ โดยเฉพาะ
และพระราชทานนามว่า "พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์"
เป็นการวางรากฐาน งานพิพิธภัณฑ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตามลักษณะ
ของพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ ที่แสดงให้เห็นทั้งศักดิ์และศรีของคนไทย
และประเทศไทยได้อย่างดีเลิศ |

"มิวเซียม"
ณ หอคองคอเดีย หรือศาลาสหทัยสมาคม |
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดเกล้าฯ
ให้ย้ายพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มาที่หอคองคอเดีย หรือศาลาสหทัยสมาคม
ตั้งอยู่ที่ส่วนหน้าของพระบรมมหาราชวัง ใน พ.ศ. ๒๔๑๗ เรียกว่า "มิวเซียม"
ซึ่งเป็นการเรียกทับศัพท์ชื่อภาษาอังกฤษ และเปิดให้ประชาชนได้เข้าชม
ทำให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น
และมีโอกาสเรียนรู้ไปด้วย พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้
จึงถือเป็นพิพิธภัณฑสถาน สำหรับสาธารณชนแห่งแรกของคนไทย |
จากแนวพระราชดำริในเรื่องการจัดแสดงที่
"มิวเซียม"
ได้ขยายไปสู่การเผยแพร่เรื่องราวที่เกี่ยวกับชาติบ้านเมือง
ในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งต่างๆ ที่มีศักยภาพเหนือประเทศอื่นๆ เช่น
ทรัพยากรป่าไม้ พืชไร่ สวนสมุนไพร เป็นการจัดนิทรรศการที่เรียกว่า "เอ็กซิบิชัน"
(Exhibition) ณ ท้องสนามหลวง โดยให้ชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ
นำผลิตผล และผลิตภัณฑ์ มาจัดแสดงทำนองเดียวกับการจัดแสดงสินค้าในปัจจุบัน
ทำให้หลายประเภทกลายเป็นสินค้าที่ส่งออกไปจำหน่าย ในต่างประเทศ
นับแต่นั้นเป็นต้นมา |

การจัดแสดง "เอ็กซิบิชัน"
(Exhibition) ณ ท้องสนามหลวง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ |
รัชกาลที่
๕ ยังโปรดเกล้าฯ
ให้ส่งนิทรรศการด้านศิลปะและธรรมชาติที่ว่านี้ไปร่วมจัดแสดงในงานนิทรรศการจากนานาชาติ
ณ หลายประเทศในยุโรปหลายครั้ง
ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างชาติอย่างแพร่หลาย
ถือเป็นการใช้แนวคิด ของการดำเนินงานด้าน "พิพิธภัณฑสถาน"
มาพัฒนาและสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดสัมฤทธิผล |

พระราชวังบวรสถานมงคล สถานที่จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร
ซึ่งย้ายมาจากหอคองคอเดีย ในพระบรมมหาราชวัง ปัจจุบันคือ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
ใน
พ.ศ. ๒๔๓๐ พิพิธภัณฑสถานจากหอคองคอเดียย้ายมาที่พระราชวังบวรสถานมงคล หรือ
"วังหน้า"
เพื่อให้ประชาชน สามารถเข้าชมได้สะดวกขึ้น เปิดให้บริการสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง
มีผู้บริหารจัดการ และมี "กุเรเตอร์"
ซึ่งเรียกทับศัพท์ คำในภาษาอังกฤษว่า Curator ปัจจุบันใช้คำว่า "ภัณฑารักษ์"
ทำหน้าที่ในด้านการจัดทำเอกสารประกอบการเข้าชม ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงฟื้นฟูและพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล
ให้สามารถจัดแสดงโบราณวัตถุที่เก็บรักษา
เป็นพิพิธภัณฑสถานประเภทศิลปะและโบราณคดี มีศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดส์
(George Coedés) นักวิชาการชาวฝรั่งเศส เป็นผู้ช่วยในด้านวิชาการ
เป็นพิพิธภัณฑสถานในรูปแบบ สถาบันพิพิธภัณฑสถานรุ่นใหม่
มีการบริหารจัดการมุ่งส่งเสริมความรู้ที่แท้จริงมากขึ้น
พิพิธภัณฑสถานได้ดำเนินการจนเสร็จสมบูรณ์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จฯ
ไปทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานรูปแบบใหม่ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๙
โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร"
ต่อมาได้ขยายกิจการไปยังส่วนภูมิภาค |

การจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง
อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี |
ใน พ.ศ. ๒๔๗๗
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลประกาศตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร
เป็น "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
พระนคร" อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ
และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๗๗ และพระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน
ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๘๖
นับเป็นการเริ่มต้นการดำเนินงานด้านพิพิธภัณฑสถาน ที่เป็นรูปแบบปัจจุบัน
ของประเทศไทยตั้งแต่นั้นมา พระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับ ได้มีการปรับเป็น "พระราชบัญญัติโบราณสถาน
โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔"
กำหนดให้เรียกพิพิธภัณฑสถานทุกแห่งที่อยู่ในความดูแล ของกรมศิลปากรเป็น "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ" |