ประวัติความเป็นมาของรางวัลซีไรต์ - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 40
เล่มที่ ๔๐
เรื่องที่ ๑ พิพิธภัณฑสถาน
เรื่องที่ ๒ รางวัลซีไรต์
เรื่องที่ ๓ นกเงือกไทย
เรื่องที่ ๔ เห็ด
เรื่องที่ ๕ การโคลนนิ่งสัตว์
เรื่องที่ ๖ แร่เหล็ก
เรื่องที่ ๗ การใช้เลเซอร์ในทางการแพทย์
เรื่องที่ ๘ ไข้ออกผื่น
เรื่องที่ ๙ มะเร็งต่อมลูกหมาก

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๔๐ / เรื่องที่ ๒ รางวัลซีไรต์ / ประวัติความเป็นมาของรางวัลซีไรต์

 ประวัติความเป็นมาของรางวัลซีไรต์
ประวัติความเป็นมาของรางวัลซีไรต์

รางวัลซีไรต์ (S.E.A. Write Award) เป็นคำเรียกสั้นๆ ย่อมาจาก South East Asian Writers Award หรือ รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน เป็นรางวัลวรรณกรรมที่มอบให้แก่นักเขียนหรือกวีในกลุ่มประเทศอาเซียน ๑๐ ประเทศ เรียงตามลำดับตัวอักษร คือ กัมพูชา ไทย บรูไนดารุสซาลาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เมียนมา ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

รางวัลซีไรต์เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยความริเริ่มของเคิร์ท ว้าชไฟท์ล (Kurt Wachtveitl) ชาวเยอรมัน เจ้าของกิจการ และผู้จัดการโรงแรมโอเรียนเต็ล ที่ต้องการสนับสนุนนักเขียนรุ่นใหม่จากกลุ่มประเทศในแถบอาเซียนที่มีผลงานดีเด่น เนื่องจาก โรงแรมโอเรียนเต็ลมีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับนักเขียนชั้นนำของโลกเป็นเวลานาน เห็นได้จากการที่ได้จัดส่วนหนึ่งเป็น "ตึกนักเขียน" (author residence) ขึ้น ประกอบด้วยห้องชุดพิเศษที่มีชื่อตามชื่อของนักเขียนคนสำคัญที่เคยเข้าพัก ได้แก่ ซัมเมอร์เซ็ต มอม (Somerset Maugham) โนเอล โคเวิร์ด (Noel Coward) โจเซฟ คอนราด (Joseph Conrad) และเจมส์ เอ. มิเชอเนอร์ (James A. Michener) นอกจากนี้ยังมีห้องชุดเกรอัม กรีน (Graham Greene) จอห์น เลอ กาเร (John le Carré) และบาร์บารา คาร์ตแลนด์ (Barbara Cartland)

ห้องเจมส์ เอ. มิเชอเนอร์ ภายในตึกนักเขียน ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล เขตบางรัก กรุงเทพฯ
นำชื่อนักเขียนคนสำคัญที่เคยเข้าพักมาตั้งเป็นชื่อห้อง
คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ หรือ Organizing Committee ได้จัดการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ทรงเป็นองค์ประธาน ผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนั้นประกอบด้วย เคิร์ท ว้าชไฟท์ล นายตุลและนางจันทร์แจ่ม  บุนนาค เอ็ด ฮันเตอร์ (Ed Hunter) นางพรศรี  หลูไพบูลย์ ซึ่งเป็นผู้แทนฝ่ายโรงแรมโอเรียนเต็ล นางสุภาว์  เทวกุล นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสมาคมภาษาและหนังสือ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จากการประชุมในวันนั้น คณะกรรมการดำเนินงานฯ ได้มอบหมายให้ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกันดำเนินการ ในเรื่องการตั้งคณะกรรมการคัดเลือก และตัดสินวรรณกรรม การกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาวรรณกรรม รวมทั้งการเดินทางไปเจรจากับกลุ่มนักเขียนในประเทศอาเซียนอีก ๔ ประเทศ คือ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย เพื่อเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการรางวัลซีไรต์ โดยองค์กรนักเขียน หรือองค์กรวรรณกรรมของแต่ละชาติ กำหนดหลักเกณฑ์ ในการพิจารณาวรรณกรรมของตน จากนั้นส่งชื่อนักเขียนเจ้าของผลงานวรรณกรรมที่ได้รับรางวัล ๑ คนมายังประเทศไทย นักเขียนในกลุ่มประเทศอาเซียน ๔ ประเทศดังกล่าวต้องเดินทางมารับพระราชทานรางวัลพร้อมกับนักเขียนไทยในประเทศไทย ที่ประชุมลงมติใช้ชื่อรางวัลนี้ว่า S.E.A. Write Award ซึ่งต่อมา มีชื่อภาษาไทยว่า รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือเรียกสั้นๆ ว่า วรรณกรรมซีไรต์

ห้องเจมส์ เอ. มิเชอเนอร์ ภายในตึกนักเขียน ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล เขตบางรัก กรุงเทพฯ
นำชื่อนักเขียนคนสำคัญที่เคยเข้าพักมาตั้งเป็นชื่อห้อง
คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์เป็นผู้ดำเนินงานด้านการหาทุน การจัดพิธีพระราชทานรางวัล การเลือกปาฐกรับเชิญ การประสานความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ การประกาศผลการคัดเลือก และการตัดสิน ฯลฯ โดยไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคัดเลือก และตัดสินวรรณกรรม ประธานคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์องค์แรกคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ต่อมาคือ หม่อมงามจิตร  บุรฉัตร พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ  ดิศกุล หม่อมหลวงพีระพงศ์  เกษมศรี และปัจจุบัน คือ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์  บริพัตร

นอกจากโรงแรมโอเรียนเต็ลเป็นผู้สนับสนุนหลักแล้ว ยังมีหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ เช่น  บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)มูลนิธิเร็กซ์ มอร์แกน และธนาคารแห่งประเทศไทย

จุดเริ่มต้นของรางวัลซีไรต์เป็นการมอบให้นักเขียนอาเซียน ๕ ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ต่อมาบรูไนดารุสซาลามได้เข้าร่วมโครงการรางวัลซีไรต์ใน พ.ศ. ๒๕๒๙ เวียดนาม ใน พ.ศ. ๒๕๓๙ ลาวและเมียนมาใน พ.ศ. ๒๕๔๑ กัมพูชา ใน พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงครบ ๑๐ ประเทศสมาชิกอาเซียน แม้ว่าแต่ละประเทศจะคัดเลือกวรรณกรรม เพื่อรับรางวัล โดยไม่ได้นำมาแข่งขันกัน แต่การขยายขอบเขตของผู้รับรางวัลจากนักเขียนไทยไปสู่นักเขียนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ทำให้รางวัลซีไรต์ไม่ได้เป็นเพียงรางวัลระดับชาติเท่านั้น แต่เป็นรางวัลในระดับภูมิภาคอาเซียนด้วย
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป