บทบาทต่อวงวรรณกรรมไทยร่วมสมัย - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
 
สารานุกรมไทย
สำหรับเยาวชน  เมนู 40
เล่มที่ ๔๐
เรื่องที่ ๑ พิพิธภัณฑสถาน
เรื่องที่ ๒ รางวัลซีไรต์
เรื่องที่ ๓ นกเงือกไทย
เรื่องที่ ๔ เห็ด
เรื่องที่ ๕ การโคลนนิ่งสัตว์
เรื่องที่ ๖ แร่เหล็ก
เรื่องที่ ๗ การใช้เลเซอร์ในทางการแพทย์
เรื่องที่ ๘ ไข้ออกผื่น
เรื่องที่ ๙ มะเร็งต่อมลูกหมาก

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๔๐ / เรื่องที่ ๒ รางวัลซีไรต์ / บทบาทต่อวงวรรณกรรมไทยร่วมสมัย

 บทบาทต่อวงวรรณกรรมไทยร่วมสมัย
บทบาทต่อวงวรรณกรรมไทยร่วมสมัย

ประเทศไทยมีการให้รางวัลวรรณกรรมหลายรางวัล แต่รางวัลซีไรต์เป็นรางวัลวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงโดดเด่นที่สุด เพราะมีผู้ให้ความสนใจ ทั้งนักเขียน สำนักพิมพ์ นักวิชาการวรรณกรรม สื่อมวลชน และสาธารณชน เมื่อมีการประกาศผลรางวัลซีไรต์ ผลการตัดสินและคำประกาศจะถูกนำเสนอทางสื่อวิทยุโทรทัศน์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทันที การที่สังคมหลายภาคส่วนให้ความสำคัญกับรางวัลซีไรต์ ทำให้รางวัลซีไรต์มีบทบาทและอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อวงวรรณกรรมไทยร่วมสมัย โดยพิจารณาได้ ๓ ประเด็น คือ

๑. บทบาทต่อการสร้างสรรค์วรรณกรรมร่วมสมัย

แม้นักเขียนจะมิได้สร้างสรรค์ผลงานเพื่อหวังรางวัล แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การให้รางวัลวรรณกรรมเป็นเหมือนแรงกระตุ้น และเป็นการให้กำลังใจแก่ผู้ที่สร้างสรรค์ผลงาน เพราะวรรณกรรมที่ได้ผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิทางวรรณกรรม เพื่อเข้ารอบสุดท้ายหรือรอบตัดสินก็ตาม เป็นเสมือนจุดบ่งชี้ปลายทางแห่งความสำเร็จในการประพันธ์ เมื่อรางวัลซีไรต์ มีชื่อเสียงมาก เป็นที่ยอมรับของสาธารณชนในวงกว้าง และเป็นเป้าหมายในใจของนักเขียน รางวัลซีไรต์จึงเป็นพลังผลักดัน ในการสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพอย่างเข้มข้น เห็นได้ว่า วรรณกรรมที่ได้รับรางวัลซีไรต์ รวมทั้งผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายในแต่ละปี แสดงให้เห็นถึงจุดเด่นของวรรณกรรมร่วมสมัยของไทย และแนวโน้มที่จะพัฒนาเติบโตต่อไปในอนาคต

การกำหนดลักษณะของงานเขียนไว้ในชื่อรางวัลว่า "วรรณกรรมสร้างสรรค์" และผู้ได้รับรางวัลซีไรต์ประเทศไทย มักเป็นนักเขียนใหม่ ซึ่งหลายคนมีผลงานเขียนรวมเล่มตีพิมพ์เป็นครั้งแรก ตลอดจนผลการตัดสินรางวัลซีไรต์ที่คาดเดาได้ยาก กลายเป็นขอบเขตกว้างๆ ที่เพิ่มกำลังใจแก่นักเขียนรุ่นใหม่ทุกคน เพราะหากเป็นผลงานที่โดดเด่นอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเขียนในแนวใด แต่มีศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ ผลงานนั้นก็มีโอกาสสูงที่จะได้รับรางวัล รางวัลซีไรต์จึงเป็นการส่งเสริม การพัฒนางานสร้างสรรค์ทางวรรณศิลป์ของไทยอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด

ภาพข่าวผลการตัดสินรางวัลซีไรต์ที่ได้รับการตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ และการสัมภาษณ์ทางสื่อโทรทัศน์
๒. บทบาทต่อการวิจารณ์วรรณกรรม

รางวัลซีไรต์นอกจากมีบทบาทต่อนักเขียนและการสร้างสรรค์วรรณกรรมแล้ว ยังมีบทบาทต่อนักวิจารณ์และการวิจารณ์วรรณกรรม วรรณกรรมซีไรต์เป็นวรรณกรรมที่ผ่านการคัดสรรและตัดสินอย่างเข้มข้น และเป็นวรรณกรรมที่มีผู้สนใจในวงกว้าง จึงท้าทาย ต่อการวิเคราะห์ ตีความ และประเมินคุณค่าจากนักวิจารณ์ ซึ่งอาจมีความคิดเห็นสนับสนุนหรือขัดแย้งกับคณะกรรมการตัดสิน บทวิจารณ์วรรณกรรมซีไรต์ในเวทีสาธารณะ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ ก่อให้เกิดการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ ซึ่งสร้างความเข้มแข็ง แก่วัฒนธรรม การวิจารณ์งานวรรณศิลป์ของไทย และยังส่งผลให้เกิดการพินิจพิเคราะห์วรรณกรรมซีไรต์อย่างรอบด้านในหลายแง่หลายมุมอีกด้วย การวิจารณ์จึงเปรียบเสมือนการเจียระไนให้เห็นคุณค่าแท้จริงของวรรณกรรมซีไรต์ ในทางกลับกัน วรรณกรรมซีไรต์ก็เป็นเสมือนตัวบท ให้นักวิจารณ์ได้ทดลองใช้ศาสตร์และศิลป์แห่งการวิจารณ์ อันส่งผลต่อ การพัฒนาวิทยาการความรู้ด้านวรรณคดีวิจารณ์เช่นกัน จะเห็นได้ว่ามีบทวิจารณ์วรรณกรรมซีไรต์ทุกเรื่องในหนังสือ ๒๕ ปีซีไรต์ ซึ่งคัดสรรบทวิจารณ์บางส่วนมาเผยแพร่ ได้รวบรวมบทวิจารณ์วรรณกรรมซีไรต์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๔๖ ไว้มากถึง ๖๓ บท หลังจากนั้นเป็นต้นมา คือ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบัน หลังจากประกาศผลรางวัลซีไรต์ในแต่ละปี ก็มีบทวิจารณ์วรรณกรรมซีไรต์อีกจำนวนไม่น้อย ที่เผยแพร่ทางสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หากรวมรายงานการวิจารณ์ ในชั้นเรียนของนักเรียนและนักศึกษาด้วยก็จะพบว่า บทวิจารณ์วรรณกรรมซีไรต์มีจำนวนมากมาย

นอกจากบทวิจารณ์ที่เผยแพร่ในนิตยสารต่างๆ แล้ว ยังมีหนังสือรวมบทวิจารณ์วรรณกรรมซีไรต์เฉพาะเรื่อง ซึ่งอาจแสดงทัศนะหลากหลายต่อตัวบท หรือโต้แย้งการตัดสิน เช่น ซอยซีไรต์ โดยวาณิช  จรุงกิจอนันต์ อัญมณีแห่งชีวิต กะเทาะเปลือกตัวอักษรของอัญชัน โดยนเรนทร์  จันทรประสูตร รำปากกา ชัก "ม้าก้านกล้วย" โดยวาณิช  จรุงกิจอนันต์ ชูศักดิ์  ภัทรกุลวณิชย์ สายพิณ  ปฐมาบรรณ และแดง ใบเล่ ประชุมความคิด เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน โดยธเนศ  เวศร์ภาดา  บรรณาธิการ แย้มโฉมเจ้าจันท์ผมหอม อาถรรพณ์หมายเลข ๑๓  ของมาลา  คำจันทร์ โดยกองบรรณาธิการบุ๊ครีวิว และ กะเทาะเปลือกประชาธิปไตยบนเส้นขนานของวินทร์  เลียววาริณ  โดยสุพจน์  ด่านตระกูล

บทวิจารณ์ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์
๓.  บทบาทต่อสังคมวรรณกรรม

รางวัลซีไรต์มีส่วนช่วยกระตุ้นนักอ่านจำนวนมากให้สนใจ ติดตามอ่านวรรณกรรมที่ได้รับรางวัล เนื่องจากเห็นว่า เป็นหนังสือที่ได้คัดสรรมาแล้วโดยคณะกรรมการ และเป็นหนังสือที่อยู่ในกระแสความสนใจและความนิยมของสังคมส่วนรวม ทัศนะเช่นนี้ส่งผลต่อการผลิตหนังสือของสำนักพิมพ์ การทำงานของบรรณาธิการผู้คัดเลือกหนังสือมาตีพิมพ์ การสร้างยอดจำหน่ายหนังสือ และการคัดเลือกหนังสือเข้าห้องสมุดของบรรณารักษ์

เมื่อการประกวดรางวัลซีไรต์จัดมาได้ ๑๒ ปี มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า รางวัลซีไรต์มีบทบาทสูงยิ่งในสังคมวรรณกรรม แต่ละปีมีผู้ส่งวรรณกรรมเข้าประกวดรางวัลซีไรต์เป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นต้นมา มีวรรณกรรมส่งเข้าประกวดแต่ละปีจำนวน ๗๐-๙๐ เล่ม นับเป็นยอดที่สูงกว่าการประกวดรางวัลวรรณกรรมใดๆ

ด้านยอดจำหน่ายหลังการประกาศผลการคัดเลือกและตัดสิน วรรณกรรมที่เข้ารอบสุดท้ายและวรรณกรรมซีไรต์ มักจะมียอดจำหน่ายสูงมาก วรรณกรรมซีไรต์บางเล่มมียอดจำหน่ายสูงกว่าแสนเล่มในเวลารวดเร็ว เช่น ใบไม้ที่หายไป ของจิระนันท์  พิตรปรีชา ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ของวินทร์  เลียววาริณ บางเรื่องได้รับการตีพิมพ์ต่อเนื่องเกินกว่า ๑๐ ครั้ง เช่น คำพิพากษา ของชาติ  กอบจิตติ ตีพิมพ์กว่า ๔๐ ครั้ง และความสุขของกะทิ ของงามพรรณ  เวชชาชีวะ ตีพิมพ์กว่า ๘๐ ครั้ง
หัวข้อก่อนหน้า หัวข้อถัดไป