การโคลนนิ่งข้ามชนิดสัตว์ในวงศ์โค
กระทิงเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ชนิดแรก
ที่ประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งข้ามชนิด จนได้
ลูกกระทิงเกิดมาใน พ.ศ. ๒๕๔๔
โดยคณะนักวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกา ใช้ไข่โค เป็นไซโทพลาซึมผู้รับ
หลังจากถ่ายโอนตัวอ่อนระยะบลาสโทซีสต์ให้แม่โคตัวรับ
และได้ลูกกระทิงโคลนนิ่งข้ามชนิดเกิดมาเป็นรายแรกของโลก ๑ ตัว
ตั้งชื่อให้ว่า โนอาห์ (Noah) แต่เสียชีวิตหลังเกิดมาได้ ๒ วัน
เนื่องจากติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร |

โนอาห์ กระทิงโคลนนิ่งตัวแรก ซึ่งเสียชีวิตหลังเกิดมาได้ ๒ วัน |
ในประเทศไทยคณะนักวิจัยในห้องทดลองของดร.รังสรรค์
พาลพ่าย
ได้ทดลองโคลนนิ่งกระทิง โดยใช้เซลล์ไฟโบรบราสต์ผิวหนัง
ของกระทิงเพศผู้เป็นเซลล์ต้นแบบ และใช้ไข่โคเป็นไซโทพลาซึมผู้รับเช่นกัน
แล้วถ่ายโอนตัวอ่อนระยะบลาสโทซีสต์ให้โคตัวรับ จำนวน ๑๐ ตัว
พบว่าตัวรับตั้งท้อง ๑ ตัว เมื่อครบกำหนดจึงผ่าตัดทำคลอดโคตัวรับ
ได้ลูกกระทิงเกิดมา ๑
ตัว แรกเกิดมีสุขภาพดี แต่หลังเกิดมาได้ ๓
ชั่วโมง ลูกกระทิงมีอาการหายใจหอบและต่อมาเสียชีวิตหลังจากเกิดมาได้ ๑๒
ชั่วโมง ซึ่งจากการผ่าดูอวัยวะภายในพบว่า ปอดมีการเจริญไม่สมบูรณ์
นอกจากการโคลนนิ่งกระทิงแล้ว ยังมีการโคลนนิ่ง
ในสัตว์ใกล้สูญพันธุ์วงศ์โคชนิดอื่นอีก ได้แก่
บันเต็ง (Banteng, Bos javanicus) โดยคณะนักวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกา
ใช้เซลล์ผิวหนังของบันเต็งเป็นเซลล์ต้นแบบ
ใช้ไข่โคเป็นไซโทพลาซึมผู้รับ หลังจากถ่ายโอนตัวอ่อนให้โคตัวรับ
ได้ลูกบันเต็งเกิดมา ๒ ตัว แต่มีชีวิตรอดเพียงตัวเดียว
การโคลนนิ่งข้ามชนิดสัตว์ในวงศ์แพะและแกะ
พ.ศ.
๒๕๔๒ นักวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกา
รายงานการโคลนนิ่งข้ามชนิดของสัตว์ในตระกูลแพะและแกะที่ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด
เริ่มจากมีการนำเซลล์ของอาร์กาลี (Argali, Ovis ammon)
ซึ่งเป็นแกะภูเขาไปทำเซลล์ต้นแบบ และใช้ไข่แกะบ้าน (Ovis aries)
เป็นไซโทพลาซึมผู้รับ พบว่า
แกะตัวรับตั้งท้องหลังจากถ่ายโอนตัวอ่อนแต่แท้งทั้งหมด ใน พ.ศ.
๒๕๔๔ คณะนักวิทยาศาสตร์อิตาลี ได้รายงานการโคลนนิ่งมูฟลอน (Ovis aries
orientalis) ซึ่งเป็นแกะป่าที่เสียชีวิตไปแล้ว
โดยเก็บเซลล์คิวมูลัสมูฟลอนหลังเสียชีวิต เพื่อใช้ทำเซลล์ต้นแบบ
ใช้ไข่แกะบ้านเป็นไซโทพลาซึมผู้รับ หลังจากถ่ายโอนตัวอ่อนให้แกะบ้าน
แล้วได้มูฟลอนเกิดมา ๑ ตัว มีสุขภาพแข็งแรง นอกจากนี้ใน พ.ศ. ๒๕๕๒
คณะนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสรายงาน การโคลนนิ่งบูคาร์โด (Capra pyrenaica
pyrenaica) ซึ่งเป็นแพะภูเขาในสเปนที่ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้ว
โดยใช้เซลล์ไฟโบรบราสต์ของบูคาร์โดเชื่อมกับไข่แพะบ้าน (Capra hircus)
ที่กำจัดนิวเคลียสออกไปแล้ว โดยถ่ายโอนตัวอ่อน ๑๕๔
ใบให้แพะตัวรับ ๔๔ ตัว เมื่อตรวจท้องในวันที่ ๔๕ หลังจากการถ่ายโอนตัวอ่อน
พบว่ามีแพะตัวรับ ๕
ตัวตั้งท้อง
แต่มีแพะตัวรับเพียงตัวเดียวที่ท้องจนครบกำหนด และได้ลูกบูคาร์โดเกิดมา ๑
ตัว แต่เสียชีวิตหลังจากที่เกิดออกมาแล้ว |

บูคาร์โด หรือแพะภูเขา |
การโคลนนิ่งข้ามสกุลหมีแพนด้า
ปัจจุบันในประเทศจีนมีหมีแพนด้าน้อยกว่า ๑,๐๐๐ ตัว
จึงถือว่าเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ในอดีตได้มีการนำเทคนิคต่างๆ
มาช่วยในการขยายพันธุ์ เช่น การผสมเทียม การทำปฏิสนธิในหลอดแก้ว
การถ่ายโอนตัวอ่อน เทคนิคที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด คือ การผสมเทียม
ได้มีการศึกษาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๓
เพราะสามารถผลิตลูกหมีแพนด้าได้อย่างต่อเนื่อง การทดลองช่วงแรก
อัตราความสำเร็จยังต่ำมาก แต่ในช่วง พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นต้นมา
พบว่าอัตราการเกิดของหมีแพนด้าเพิ่มอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยใน พ.ศ. ๒๕๔๘
เป็นปีที่มีลูกหมีแพนด้าเกิดจากการผสมเทียมมากที่สุด ใน พ.ศ.
๒๕๕๗ สวนสัตว์ต่างๆ ทั่วประเทศจีน มีลูกหมีแพนด้าเกิดมาจำนวน ๙๐ ตัว
แต่มีเพียง ๗๗
ตัวที่ยังมีชีวิตและมีสุขภาพแข็งแรงหลังเกิดมา อย่างไรก็ตาม
การเพิ่มจำนวนของหมีแพนด้าโดยการผสมเทียมก็ยังไม่ทันต่อจำนวนที่ลดลงทุกๆ
ปี รัฐบาลจีนได้สนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์ในประเทศทำวิจัย
ศึกษาระบบสืบพันธุ์ของหมีแพนด้า โดยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นต้นมา
มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการอนุรักษ์หมีแพนด้าอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
รวมทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อโคลนนิ่งหมีแพนด้า
โดยนักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (Chinese Academy of Science:
CAS) ได้รับทุนสนับสนุน ให้โคลนนิ่งหมีแพนด้า
เริ่มการวิจัยโดยใช้เซลล์จากแหล่งต่างๆ ของหมีแพนด้า เช่น เซลล์จากเต้านม
เซลล์เยื่อบุท่อนำไข่ เซลล์กล้ามเนื้อ มาเป็นเซลล์ต้นแบบสำหรับโคลนนิ่ง
และใช้ไข่กระต่ายเป็นไซโทพลาซึมผู้รับ จากการทดลองพบว่า
เซลล์จากเต้านมเป็นแหล่งของเซลล์ต้นแบบที่ดีที่สุดในการนำมาโคลนนิ่งหมีแพนด้า
นอกจากนี้ ยังได้มีการนำตัวอ่อนที่ได้มานั้น
ถ่ายโอนให้แมวบ้านเป็นแม่ตัวรับเพื่อทดสอบการตั้งท้อง ปรากฏว่า
ตัวอ่อนหมีแพนด้าที่ใช้ไข่กระต่ายเป็นไซโทพลาซึมผู้รับ
สามารถฝังตัวในมดลูกของแมวได้ แต่ไม่สามารถเจริญอยู่จนครบกำหนด ปัจจุบัน
การโคลนนิ่งหมีแพนด้า
ยังไม่มีรายงานที่ประสบความสำเร็จจนลูกหมีแพนด้าเกิดมา
ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่างๆ ยังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งการหาสัตว์ที่จะนำมาใช้เป็นแม่ตัวรับด้วย เนื่องจากในปัจจุบันนี้
การโคลนนิ่งหมีแพนด้าได้นำไข่กระต่ายมาใช้เป็นไซโทพลาซึมผู้รับ
แล้วถ่ายโอนตัวอ่อนให้แมวบ้านเป็นแม่ตัวรับเพื่อตั้งท้อง
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว
ทั้งกระต่ายและแมวมีความแตกต่างจากหมีแพนด้ามาก เช่น ขนาดของลูกแรกเกิด
ระยะเวลาในการตั้งท้อง ดังนั้น
การหาสัตว์ชนิดอื่นที่มีขนาดใกล้เคียงกับหมีแพนด้ามาเป็นแม่ตัวรับและตัวให้ไข่
น่าจะทำให้การโคลนนิ่งหมีแพนด้าประสบความสำเร็จมากกว่า ทั้งนี้
คณะนักวิจัยไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะโคลนนิ่งหมีแพนด้า
เพื่อเป็นการทดแทนหมีแพนด้าที่เกิดโดยธรรมชาติ แต่ทดลอง
เพื่อต้องการเพิ่มจำนวนของหมีแพนด้า
ให้ทันต่อการลดลงอย่างต่อเนื่องเท่านั้น
เพราะถ้าการโคลนนิ่งประสบความสำเร็จก็จะสามารถเพิ่มจำนวนของหมีแพนด้าให้มากขึ้น
ในระยะเวลาอันรวดเร็วในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการวิจัยเกี่ยวกับการโคลนนิ่ง
ทั้งนี้ ใน พ.ศ. ๒๕๔๘ มีการจัดตั้งธนาคารเซลล์
เพื่ออนุรักษ์เซลล์ร่างกายและเซลล์สืบพันธุ์ของหมีแพนด้าควบคู่กันไปด้วย |

หมีแพนด้าที่เกิดจากการผสมเทียม |
การโคลนนิ่งข้ามชนิดสัตว์ในวงศ์ม้า
การนำสัตว์ต่างชนิดที่มีจำนวนโครโมโซมไม่เท่ากันมาผสมพันธุ์กัน
ลูกที่เกิดจะมีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ม้ามีโครโมโซม ๖๔ แท่ง
และลามีโครโมโซม ๖๒ แท่ง เมื่อผสมพันธุ์กันจะได้ลูกที่เรียกว่า
ล่อ ซึ่งมีโครโมโซม ๖๓ แท่ง แต่เป็นหมัน ไม่สามารถสืบพันธุ์ได้
การเพิ่มจำนวนล่อเป็นงานที่ท้าทายความสามารถของนักวิทยาศาสตร์
เนื่องจากล่อเป็นสัตว์ที่เป็นหมัน ไม่สามารถสืบพันธุ์ได้โดยวิธีธรรมชาติ
ใน พ.ศ. ๒๕๔๖
นักวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกาได้รายงานการโคลนนิ่งล่อเพื่อเพิ่มจำนวน
โดยใช้ไข่ม้าเป็นไซโทพลาซึมผู้รับ และถ่ายโอนตัวอ่อนให้ม้าตัวรับ
ซึ่งประสบผลสำเร็จ ได้ลูกล่อโคลนนิ่งเกิดมา ๓ ตัว การทดลองนี้
นับเป็นการทดลองโคลนนิ่งสัตว์ตระกูลม้าที่ประสบความสำเร็จเป็นรายแรกของโลก
และเป็นความสำเร็จของการโคลนนิ่งสัตว์
ที่ไม่สามารถสืบพันธุ์ได้โดยวิธีธรรมชาติ
แต่การโคลนนิ่งล่อก็ยังมีอัตราการประสบความสำเร็จไม่สูงมาก
เพราะยังมีอัตราการแท้งสูงเหมือนกับลูกสัตว์โคลนนิ่งชนิดอื่นๆ
การโคลนนิ่งข้ามชนิดและข้ามสกุลสัตว์ในวงศ์แมว
การโคลนนิ่งข้ามชนิดและข้ามสกุลเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในวงศ์แมว
เป็นงานวิจัยที่มีการศึกษากันอย่างจริงจัง ในหลายประเทศ สำหรับในประเทศไทย
คณะนักวิจัยของดร.รังสรรค์ พาลพ่าย
ได้ทำการทดลองโคลนนิ่งข้ามชนิดแมวดาว (Leopard cat, Felis bengalensis)
โดยใช้เซลล์ผิวหนังแมวดาวเป็นเซลล์ต้นแบบและใช้ไข่แมวบ้าน (Felis catus)
เป็นไซโทพลาซึมผู้รับ สามารถได้ตัวอ่อนเจริญถึงระยะบลาสโตซีสต์
และได้ทำการโคลนนิ่งข้ามสกุลแมวลายหินอ่อน (Marbled cat, Pardofelis
marmorata) โดยใช้เซลล์ผิวหนังแมวลายหินอ่อนเป็นเซลล์ต้นแบบ
และไข่แมวบ้านเป็นไซโทพลาซึมผู้รับ ได้ตัวอ่อนเจริญถึง ระยะมอรูลาเท่านั้น
ไม่สามารถผลิตตัวอ่อนระยะบลาสโตซีสต์ได้ ส่วนการนำเซลล์ผิวหนังแมวดาว
เป็นเซลล์ต้นแบบได้ตัวอ่อนระยะบลาสโตซีสต์
และหลังจากถ่ายโอนตัวอ่อนโคลนนิ่งแมวบ้านจำนวน ๒๔๗ ใบให้แมวตัวรับ ๑๒
ตัว พบว่าแมวตัวรับ ๒ ตัวตั้งท้อง ได้ลูก ๗ ตัว
แต่เมื่อถ่ายโอนตัวอ่อนโคลนนิ่งแมวลายหินอ่อนจำนวน ๔๖๑ ใบให้แมวบ้านตัวรับ
๑๒ ตัว พบว่าไม่มีตัวใดตั้งท้อง |

แมวลายหินอ่อน |
การทดลองที่นับว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ
การโคลนนิ่งข้ามชนิดแมวป่าแอฟริกา (Felis libyca) ใน พ.ศ. ๒๕๔๗
โดยนักวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริการายงานการโคลนนิ่งข้ามชนิดแมวป่าแอฟริกา
โดยใช้ไข่แมวบ้านเป็นไซโทพลาซึมผู้รับ และถ่ายโอนตัวอ่อนให้แมวบ้าน
ได้ลูกแมวป่าแอฟริกาที่เกิดจากการโคลนนิ่งหลายตัว ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๔๘
นักวิทยาศาสตร์คณะนี้ ได้รายงานว่า
แมวป่าแอฟริกาที่เกิดจากการโคลนนิ่งมีอัตราการเจริญเติบโตเป็นปกติ
สามารถสืบพันธุ์ และให้กำเนิดลูกแมวได้
เหมือนแมวที่เกิดจากการผสมพันธุ์ตามวิธีธรรมชาติ
โดยแมวป่าแอฟริกาโคลนนิ่งเพศเมีย ๒ ตัว ชื่อว่า แมดจ์ (Madge) และแคที
(Caty) ได้ผสมพันธุ์กับแมวป่าแอฟริกาโคลนนิ่งเพศผู้ชื่อว่า ดิตโต
(Ditteaux) ทั้งแมดจ์และแคทีได้ตั้งท้องและให้กำเนิดลูกแมว
โดยแมดจ์เกิดลูกแมว ๕ ตัว และแคทีเกิดลูกแมว ๓ ตัว
จากรายงานนี้ยืนยันได้ว่า แมวที่เกิดจากการโคลนนิ่งข้ามชนิด
สามารถสืบพันธุ์ได้ |

แมวป่าแอฟริกาที่เกิดจากการโคลนนิ่งข้ามชนิด |
๓.
การโคลนนิ่งเพื่อเพิ่มจำนวนสัตว์พันธุกรรมดีเยี่ยม
ความพยายามในการที่จะเพิ่มจำนวนของสัตว์ที่มีพันธุกรรมดีเยี่ยม
โดยเฉพาะโคที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญ
ดังเช่นในประเทศญี่ปุ่น โคดำญี่ปุ่น (Japanese black cattle)
หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า โคโกเบ
ได้ชื่อว่าเป็นโคที่มีไขมันแทรกดีที่สุดในโลก
การปรับปรุงพันธุ์มีมานานนับร้อยปี
จนได้โคโกเบที่มีพันธุกรรมดีเยี่ยม
โดยเฉพาะพ่อโคตัวที่ผ่านการทดสอบสายพันธุ์
เมื่อมีอายุมากจะไม่สามารถรีดเก็บน้ำเชื้อได้
และอาจเกิดอุบัติเหตุหรือป่วยตายเมื่อใดก็ได้ เพื่อเป็นหลักประกันว่า
ยังมีพันธุกรรม
ของโคโกเบเหล่านี้ไว้ใช้งานในอนาคตแม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดก็ตาม
นักวิทยาศาสตร์จึงได้เก็บเซลล์ร่างกายของโคโกเบ นำมาเพาะเลี้ยง
เพื่อทำธนาคารเซลล์แช่แข็งเก็บไว้ สำหรับนำไปโคลนนิ่งลูกโคโกเบออกมาใหม่
ซึ่งประสบความสำเร็จใน พ.ศ. ๒๕๔๑ ส่วนในวงการโคนมก็เช่นเดียวกัน
มีการโคลนนิ่งลูกโคจากแม่โคที่ให้น้ำนมมากออกมาแล้วที่ประเทศนิวซีแลนด์
อย่างไรก็ดี มีการพิสูจน์แล้วว่า
โคเพศผู้ที่เกิดจากการโคลนนิ่งมีการผลิตตัวอสุจิที่ปกติ
และเมื่อนำไปผสมเทียมกับโคเพศเมียแล้ว สามารถให้ลูกได้ตามปกติ ทั้งนี้
มีการวิเคราะห์องค์ประกอบของน้ำนมจากโคนมที่เกิดจากการโคลนนิ่งพบว่า
ไม่แตกต่างจากโค ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ทั่วไป นอกจากโคแล้ว
ม้าก็เป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่มีผู้สนใจโคลนนิ่งและมีรายงานการเกิดมาแล้ว |