สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 7
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๗ / เรื่องที่ ๒ ผีเสื้อ / สำหรับเด็กระดับกลาง
สำหรับเด็กระดับกลาง
ผีเสื้อเป็นแมลงจำพวกหนึ่ง
เราจัดแมลง (Insects) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชั้นสูง
อยู่ในไฟลัมอาร์โทรโปดา (Arthropoda)
ซึ่งเป็นไฟลัมที่มีจำนวนชนิดของสัตว์มากที่สุด สำหรับผีเสื้อเองนั้น
เมื่อรวมทั้งผีเสื้อกลางวันและผีเสื้อกลางคืนแล้ว มีจำนวนชนิดมากถึง ๑๔๐,๐๐๐
ชนิด จัดเป็นแมลงจำพวกที่มีความแตกต่างกันในเรื่องขนาดมากที่สุด
บางชนิดเล็กมาก เมื่อกางปีกเต็มที่จะโตไม่เกิน ๑/๔ นิ้ว
บางชนิดใหญ่มาก เช่น
ผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่งในอเมริกาใต้ เมื่อกางปีกเต็มที่จะโตถึง ๑ ฟุต |
 |
รูปร่างของผีเสื้อประกอบด้วยลำตัว
ซึ่งไม่มีโครงกระดูกอยู่ภายใน
มีขาหกขา เช่นเดียวกับแมลงชนิดอื่นๆ
ลำตัวเป็นวงแหวนหลายวงเชื่อมต่อกันด้วยเยื่อบางๆ
ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ลำตัวเคลื่อนไหวได้สะดวก ผีเสื้อมีปีก ๒
คู่
ปีกคู่หลังจะมีขนาดเล็กกว่าปีกคู่หน้า ขณะบินปีกทั้งสองคู่จะแผ่กางออก
และยึดติดเป็นแผ่นเดียวกันในแต่ละข้าง ด้วยวิธีซ้อนปีกอัดติดกันแน่น
หรือใช้ข้อเล็กๆ ที่โคนปีกเกี่ยวกันไว้
พวกปีกเล็กเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว จะกระพือปีกเร็ว
พวกปีกใหญ่เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวจะกระพือปีกช้า
เวลาบิน จึงมีลักษณะเหมือนร่อนไปตามลม |
ผีเสื้อมีตารวมใหญ่คู่หนึ่งอยู่ด้านข้างของส่วนหัว
สามารถรับรู้ภาพของวัตถุที่เคลื่อนที่ได้เร็ว จึงบินได้ว่องไว
ตามจับได้ยาก มีหนวดคู่หนึ่งอยู่ระหว่างตารวมสำหรับรับรู้กลิ่น
ข้างใต้ส่วนหัวมีงวงซึ่งใช้ดูดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ หรืออาหารเหลวอื่นๆ
เวลาที่ไม่ใช้งาน งวงนี้จะม้วนขดไว้เป็นวง |
สัตว์พวกแมลงมีการเจริญเติบโตแตกต่างกัน
บางชนิดเช่น พวกตั๊กแตน
เมื่อฟักตัวออกจากไข่
ตัวอ่อนจะมีรูปร่างลักษณะเป็นตัว เหมือนตัวตั๊กแตนเต็มวัยเลยทีเดียว
เพียงแต่สัดส่วน หรือขนาดอวัยวะบางส่วนแตกต่างไป
เช่น เมื่อฟักออกมาจากไข่ใหม่ๆ ลูกตั๊กแตนจะหัวโต ตัวสั้น ขนาดตัวเล็ก
ต่อมาก็มีการลอกคราบอีกหลายครั้งกว่าจะโตเต็มวัย ในแต่ละครั้งที่ลอกคราบ
ลูกตั๊กแตนก็จะตัวโตขึ้น และเปลี่ยนแปลงลักษณะใกล้เคียงตัวเต็มวัยยิ่งขึ้น ผีเสื้อมีการเจริญเติบโตแตกต่างไปจากตั๊กแตน กล่าวคือ
มีการเจริญเติบโตแบบครบสี่ขั้น ซึ่งใแต่ละขั้นนั้น
ตัวอ่อนจะมีรูปร่างลักษณะ และความเป็นอยู่ แตกต่างกันอย่างน่าสังเกต |
 |
ขั้นแรกเป็นระยะที่ผีเสื้อเกิดเป็นไข่
ขั้นที่สองผีเสื้อที่ได้ฟักตัวออกมาจากไข่ แล้วดำรงชีวิตเป็นหนอนผีเสื้อ
ซึ่งมีรูปร่างลักษณะขนาดแตกต่างกันไป แล้วแต่ชนิดของผีเสื้อ
หนอนผีเสื้อกลางวันส่วนมากไม่มีขนปกคลุม ในระยะตัวหนอน
มันจะกัดกินใบพืชเป็นอาหาร
ตัวหนอนมีปากแข็งแรงมาก เติบโตด้วยวิธีลอกคราบหลายครั้ง
เมื่อเติบโตเต็มที่ก็จะลอกคราบครั้ง
สุดท้ายออกมา แล้วดำรงตัวอยู่เป็นดักแด้ นับว่าเริ่มวงจรชีวิตขั้นที่ ๓
ระยะดักแด้นี้นับว่า เป็นระยะที่แปลกมาก ดักแด้จะพักนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว
ไม่กินอาหาร
ถ้าเป็นผีเสื้อกลางคืนตัวหนอนผีเสื้อจะชักใยไหมให้เป็นปลอกห่อหุ้มตัวดักแด้นี้ไว้
แต่ดักแด้ของผีเสื้อกลางวันไม่สร้างรังไหมห่อหุ้มตัวเช่นนั้น
ดักแด้ของผีเสื้อมักมีรูปร่าง
และสีกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันอันตรายจากศัตรู
เพราะเป็นระยะที่มันอยู่นิ่ง จัดว่า อ่อนแอ
ไม่อาจต่อสู้ หรือหลบหลีกศัตรูได้ |
 |
ในระยะดักแด้
โครงสร้างต่างๆ
ของตัวหนอนจะสลายตัวลง และแปรเปลี่ยนประกอบกันขึ้นเป็นตัวผีเสื้อ
เมื่อผีเสื้อโตเต็มที่อยู่ภายในผนังลำตัว เราอาจมองเห็นสีของปีกได้
และผีเสื้อก็จะดันเปลือกดักแด้ให้แตกออก เข้าสู่ขั้นที่สี่ของวงจรชีวิต
คือ กลายเป็นผีเสื้อในระยะตัวเต็มวัย หลังจากขยายปีกออกโตเต็มที่
ผึ่งปีกให้แห้งแข็งดีแล้ว ผีเสื้อก็จะบินออกหากินต่อไปได้
|
เราอาจกล่าวได้ว่า ผีเสื้อมีความสวยงามยิ่งกว่าสัตว์ใดๆ
ในประเทศไทยเราก็มีผีเสื้อกลางวันหลายชนิด
ชีวิต และความเป็นอยู่ของมันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ น่าติดตามศึกษาทีเดียว
|
|