สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
เมนู 7
|
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๗ / เรื่องที่ ๒ ผีเสื้อ / ระยะตัวหนอน
ระยะตัวหนอน
ระยะตัวหนอน
ตัวหนอนของผีเสื้อมีลักษณะแตกต่างกันออกไป
ตามวงศ์และสกุล ส่วนมากไม่มีขนปกคลุมเหมือนหนอนของผีเสื้อกลางคืน
ตัวหนอนมีสีสด หรือสีสันกลมกลืนไปกับพืชอาหาร
อาหารมื้อแรกของตัวหนอนหลังจากฟักออกจากไข่ คือ เปลือกไข่ที่เหลืออยู่
อาจเพื่อกลบเกลื่อนร่องรอย หรือในเปลือกไข่มี
สารบางอย่างที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต เมื่อออกมาใหม่ๆ
มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และลอกกินผิวใบพืชจนเกิดเป็นช่องใส ต่อมาจะค่อยๆ
กระจายกันออกไป การกัดกินมักกินจากขอบใบ เข้ามาหากลางใบ
รูปร่างของหนอนแตกต่างกันไปมาก คือ หนอนผีเสื้อดอกรัก ตัวมีลายพาดขวาง
ตัวสีเหลืองสลับดำ และมีขนยาวอีก ๒-๔ คู่
ส่วนหนอนผีเสื้อสีตาลมีลำตัวยาวเรียวไปทางปลาย หัวและปลายหาง
มีลายขีดสีน้ำตาลตามยาว คล้ายใบหญ้าหรือใบหมาก ที่เป็นพืชอาหาร
หนอนที่มีหนามยื่นออกรอบตัว เป็นหนอนพวกผีเสื้อขาหน้าพู่
พวกผีเสื้อสีน้ำเงินกินพืชตระกูลถั่วและไม้ผลต่างๆ ตัวหนอนลักษณะกลมๆ
พองออกตอนกลางตัว หัวซ่อนอยู่ข้างใต้ตัว
|
 อวัยวะด้านหลังหัว
|
หนอนบางพวกมีการป้องกันอันตรายจากพวกนก และศัตรูอื่นๆ เช่น หนอนของผีเสื้อหางติ่ง มักมีจุดคล้ายดวงตากลม
อยู่บริเวณตอนใกล้หัว มันจะพองส่วนนี้ออกเวลามีอันตราย ทำ
ให้จุดดวงตานี้ขยายโตออก และยังมีอวัยวะสีแดงรูปสองแฉก
อยู่ด้านหลังของส่วนหัว เรียกว่า ออสมีทีเรียม (osmeterium)
อวัยวะขยายออกได้โดยใช้แรงดันของเลือด สามารถส่งกลิ่น
เหม็นออกมาใช้ไล่ศัตรูได้ บางพวกก็ชักใยเอาใบไม้ห่อหุ้มตัวไว้
หรือเอาวัตถุอื่นๆ ทั้งใบไม้แห้งและมูลของมันมากองรวมกัน
บังตัวเอาไว้
|
หนอนของผีเสื้อบางชนิดไม่กินพืช แต่กินอาหารที่แปลกออกไป คือ ผีเสื้อดักแด้หัวลิง (Spalgis epeus)
กินพวกเพลี้ยเกล็ด (scale insects) ผีเสื้อหนอนกินเพลี้ย
(Miletus chinensis) กินพวกเพลี้ยอ่อน (aphids)
ส่วนผีเสื้อมอท (Liphyra brassolis)ตัวหนอนอาศัย
อยู่ในรังของมดแดง (Oecophylla smaragdina)
และกินตัวอ่อนของมดแดงเป็นอาหาร
|
|