ทะเลไทย มีอาณาบริเวณที่อยู่ในเขตร้อนของมหาสมุทรอินเดีย ต่อเนื่องกันกับมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ มากกว่าทะเลในเขตอื่นๆ จึงมีความหลากหลายของพืชและสัตว์นานาชนิด รวมถึงสัตว์จำพวกหอย หลักฐานจากซากดึกดำบรรพ ์แสดงว่า หอยเกิดมาในโลก ตั้งแต่ยุคแคมเบรียน หรือเมื่อประมาณ ๕๕๐ ล้านปีมาแล้ว ทั้งเป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการปรับตัว ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม จึงสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ได้ยาวนาน มาจนถึงปัจจุบัน หอยส่วนใหญ่อาศัยในทะเล มีเพียงส่วนน้อย ที่อาศัยในแหล่งน้ำจืดและบนบก ปัจจุบันประมาณว่า สัตว์จำพวกหอยมีไม่น้อยกว่า ๑๒๐,๐๐๐ ชนิด มีจำนวนชนิดมากเป็นอันดับที่ ๒ รองจากแมลง

หอยเป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังจัดอยู่ในไฟลัมมอลลัสกา (Phylum Mollusca) คำว่า Mollusc มาจากภาษาละติน Mollis มีความหมายว่า "เนื้อนุ่ม" ซึ่งเป็นลักษณะเด่น ของสัตว์จำพวกหอย สัตว์ในไฟลัมนี้แบ่งเป็น ๗ ชั้น (Class) ได้แก่ หอยคล้ายหนอน (Class Aplacophora) หอยฝาชีโบราณ (Class Monoplacophora) ลิ่นทะเล หรือหอยแปดเกล็ด (Class Polyplacophora) หอยกาบเดี่ยวและทาก (Class Gastropoda) หอยกาบคู่ (Class Bivalvia) หอยงาช้าง (Class Scaphopoda) หอยงวงช้างมุก หอยงวงช้างกระดาษและหมึก (Class Cephalopoda) หอยใน ๒ ชั้นแรก มีอยู่เป็นจำนวนน้อยทั้งชนิดและปริมาณ ไม่มีรายงานว่า พบในทะเลไทย การที่นักวิทยาศาสตร์จัดสัตว์เหล่านี้ ไว้ในไฟลัมเดียวกัน เนื่องจากมีรูปแบบพื้นฐานของระบบอวัยวะ เป็นแบบเดียวกัน รวมถึงการเจริญเติบโตของตัวอ่อน มีพัฒนาการในสายเดียวกัน พบว่า มีสัตว์หลายชนิดที่เรียกกันว่าหอย เช่น หอยเม่น หอยปากเป็ด แต่มีรูปแบบของระบบอวัยวะ และพัฒนาการของตัวอ่อนที่แตกต่างออกไป สัตว์ดังกล่าว จึงไม่ใช่สัตว์จำพวกหอย