เล่มที่ 33
คลอง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
บทบาทและความสำคัญของคลองในอดีต

            กล่าวได้ว่า คลองมีบทบาทและความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนไทยในอดีตอย่างมาก ทั้งในด้านการคมนาคมขนส่งทางน้ำ การป้องกันตัวเมืองทางด้านยุทธศาสตร์ การนำน้ำไปหล่อเลี้ยงพื้นที่ทางการเกษตร การระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง ในบริเวณที่ราบลุ่ม และการนำน้ำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคของบ้านเรือน ที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งคลอง รวมทั้งในเขตเมือง และชุมชนใหญ่ๆ ที่ต้องอาศัยน้ำประปา เพื่อการดำรงชีวิต


วิถีชีวิตของคนไทยในอดีตจนถึงปัจจุบันผูกพันกับคลอง โดยเห็นได้จากการปลูกบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งคลอง


            การขุดคลองในประเทศไทยมีทำกันตั้งแต่สมัยสุโขทัย เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คลองที่ยังคงมีความสำคัญอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นคลองที่ขุดขึ้น ในสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อการคมนาคมทางน้ำมีบทบาทสำคัญยิ่ง ในรัชกาลที่ ๕ ถึงแม้จะเริ่มมีการคมนาคมขนส่งทางรถไฟเป็นครั้งแรกในประเทศไทย แต่การคมนาคมทางน้ำตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ ก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ มีการตั้งกรมคลองขึ้น เพื่อดูแล รับผิดชอบการขุดคลอง และการดูแลรักษาความสะอาดของคลองต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ และใกล้ชิด

            ในรัชกาลที่ ๖ คลองเริ่มลดความสำคัญลง ไม่มีการขุดคลองสายยาวๆ เพิ่มขึ้นมากเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากการขนส่งทางถนน และทางรถไฟ มีความสำคัญมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นคลองที่มีอยู่เดิม ก็ยังคงมีบทบาท เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต ของคนไทยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการสัญจรทางน้ำของผู้คนในท้องถิ่น การชลประทาน การระบายน้ำบริเวณที่ราบลุ่ม และการประปา


วิถีชีวิตของคนไทยในอดีตจนถึงปัจจุบันผูกพันกับคลอง โดยเห็นได้จากการปลูกบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งคลอง

            เมื่อมีการสร้างถนนในกรุงเทพฯ เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ได้มีการขุดคลองเพิ่มขึ้นหลายแห่ง เพื่อนำดินที่ได้จากการขุดคลองมาถมเป็นถนน ที่สร้างคู่ขนานไปกับคลองนั้นๆ ตัวอย่างเช่น คลองถนนตรง คลองสีลม คลองสาทร คลองราชดำริ คลองถนนเพชรบุรี คลองเหล่านี้บางคลองยังคงมีปรากฏอยู่ในปัจจุบัน แต่หลายคลองได้ถูกถมไปแล้ว เมื่อมีการขยายความกว้างของถนนเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกับการขยายตัวของการจราจรทางบกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

อาจสรุปได้ว่า ในอดีตคลองมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของผู้คนอย่างใกล้ชิด โดยจำแนกบทบาทที่สำคัญของคลองได้เป็นข้อต่างๆ ดังนี้

            ๑. เพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรทางน้ำ

            คลองช่วยให้การคมนาคมขนส่งทางน้ำเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณภาคกลางของประเทศ ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำสายต่างๆ เป็นจำนวนมาก การขุดคลองได้ช่วยการสัญจรทางน้ำ โดยเชื่อมแม่น้ำสายต่างๆ เข้าด้วยกัน หรือเป็นเส้นทางลัดในแม่น้ำที่ไหลอ้อม คดเคี้ยวไปมา ให้สามารถเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่า บ้านเรือนของคนไทย ในภาคกลางสมัยก่อน ล้วนหันหน้าออกสู่คลองหรือแม่น้ำแทบทั้งสิ้น แม้ว่าในปัจจุบัน การขนส่งทางถนนจะมีมากขึ้น แต่บ้านเรือนที่ปลูกหันหน้าออกสู่แม่น้ำหรือคลอง ก็ยังคงมีอยู่จำนวนไม่น้อย ดังคำเปรียบเทียบที่ว่า กรุงเทพฯ เป็นเสมือนเมืองเวนิสตะวันออก เพราะมีแม่น้ำลำคลองเป็นจำนวนมาก เหมือนกับเมืองเวนิส ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือ ของประเทศอิตาลี ในทวีปยุโรป ซึ่งยังคงมีการกล่าวขานกันอยู่ ถึงแม้ว่า คลองที่มีอยู่เป็นจำนวนมากแต่เดิมจะถูกถม เพื่อขยายถนนไปมากแล้วก็ตาม


การสัญจรทางน้ำในคลองบางกอกใหญ่ ปัจจุบันมีการใช้เรือหางยาวแทนเรือแจวในสมัยก่อน

            คลองสายยาวๆ ที่ขุดขึ้น เพื่อเชื่อมกรุงเทพฯ กับหัวเมืองใกล้เคียงในภาคกลางและภาคตะวันออก เช่น คลองพระยาบรรลือ คลองเจดีย์บูชา คลองภาษีเจริญ คลองมหาสวัสดิ์ คลองดำเนินสะดวก คลองแสนแสบ คลองประเวศบุรีรมย์ คลองต่างๆ เหล่านี้ ช่วยอำนวยความสะดวก ในการสัญจรทางน้ำในอดีตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขนส่งพืชผลในท้องถิ่นเข้ามาสู่กรุงเทพฯ เพื่อการบริโภคในประเทศ และการส่งเป็นสินค้าออก ถึงแม้ว่าปัจจุบันการขนส่งทางน้ำตามคลองต่างๆ เหล่านี้จะลดน้อยลง เพราะไม่ได้รับความนิยมเท่ากับการขนส่งทางถนน และทางรถไฟ แต่ก็ไม่ได้หมดความสำคัญไปเสียทีเดียว

            ๒. เพื่อเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงและจับสัตว์น้ำ

            ในอดีต คลองต่างๆ มักมีน้ำใสสะอาดเช่นเดียวกับน้ำในแม่น้ำ จึงเป็นแหล่งเพาะเลี้ยง และจับสัตว์น้ำมาบริโภคเป็นอาหาร ของคนในท้องถิ่น สัตว์น้ำที่มีอยู่อย่างชุกชุม ในคลองต่างๆ ได้แก่ ปลาน้ำจืดหลายชนิด กุ้งก้ามกราม และกุ้งก้ามเกลี้ยง มีผู้ที่จับสัตว์น้ำด้วยการทอดแห ยกยอ ตกปลา และตกกุ้งอยู่ตามคลองต่างๆ ทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว

            ๓. เพื่อการส่งน้ำเข้าไร่นาและการระบายน้ำ

            การขุดคลองในอดีตมีวัตถุประสงค์สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การนำน้ำจากแม่น้ำเข้าไปตามคูคลองต่างๆ แล้วกระจายไปสู่ลำประโดง ในเรือกสวนไร่นาต่างๆ คลองจึงให้ประโยชน์ในด้านการส่งน้ำเข้าไปในเรือกสวนไร่นาที่ตั้งอยู่ห่างจากลำแม่น้ำ วัตถุประสงค์นี้ก็ตรงกับการชลประทานในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการขุดคลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก คลองพระโขนง และคลองประเวศบุรีรมย์ ล้วนให้ความสำคัญกับด้านการชลประทานทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลองรังสิตประยุรศักดิ์ ซึ่งขุดเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำนครนายกนั้น ให้ประโยชน์ในด้านการชลประทานอย่างกว้างขวางในบริเวณทุ่งหลวง หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า ทุ่งรังสิต จนกลายเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญมากแห่งหนึ่งในพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯ


การสูบน้ำจากคลองเข้าสู่ไร่นา เพื่อใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูก

            นอกจากการส่งน้ำเข้าไปสู่ไร่นาแล้ว คลองยังมีบทบาทสำคัญในด้านการระบายน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วมขังในบริเวณที่ราบลุ่ม เมื่อมีฝนตกหนักในฤดูฝน โดยทำหน้าที่เป็นแหล่งรับน้ำจากพื้นดิน ระบายลงสู่แม่น้ำสายต่างๆ คลองที่ทำหน้าที่ในการระบายน้ำเช่นนี้ ตามปกติ มักมีการสร้างประตูน้ำไว้ที่ปากคลอง เพื่อควบคุมการไหลของน้ำในปริมาณ และตามระยะเวลาที่ต้องการ


ประตูระบายน้ำในคลองบางกอกใหญ่ เพื่อควบคุมการไหลของน้ำ ให้มีปริมาณ และอยู่ในระดับที่ต้องการ

            ๔. เพื่อการป้องกันพระนครในยามเกิดศึกสงคราม

            ทั้งกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อสถาปนาขึ้นเป็นราชธานีนั้น มีการใช้แม่น้ำและลำคลองเป็นแนวป้องกัน รักษาเมืองทางด้านยุทธศาสตร์ หากเกิดสงคราม ข้าศึกจะยกกำลังเข้าโจมตีเมืองได้ยากขึ้น เนื่องจากต้องฝ่าด่านที่เป็นกำแพงเมือง และป้อมปราการ รวมทั้งคลองคูเมืองที่เป็นแนวป้องกันตัวเมืองไว้อีกชั้นหนึ่ง แต่ในปัจจุบัน คลองคูเมืองที่เป็นแนวป้องกันทางยุทธศาสตร์ได้ลดความสำคัญลง เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในด้านการทหาร แต่ก็ยังคงมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ เช่น คลองคูเมืองเดิม ซึ่งอยู่ชั้นในสุด ของเกาะรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นในสมัยธนบุรี คลองรอบกรุง (คลองโอ่งอ่าง - บางลำพู) ซึ่งเป็นคลองคูเมืองชั้นกลาง สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๑ และคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเป็นคลองคูเมืองชั้นนอก สร้างขึ้น เมื่อมีการขยายเขตตัวเมืองกรุงเทพฯ ในรัชกาลที่ ๔

            ๕. เพื่อเป็นคลองประปา

            คลองประปาเป็นคลองที่นำน้ำจากแม่น้ำมาผ่านกรรมวิธีทำเป็นน้ำสะอาด เพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎร คลองประปาสายแรกที่ขุดขึ้นในประเทศไทย มีในรัชกาลที่ ๕ เพื่อนำน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งอยู่เหนือระดับที่น้ำเค็มจะขึ้นถึง ส่งผ่านตามลำคลองมาผ่านกรรมวิธี ที่โรงกรองน้ำประปาสามเสน  เพื่อผลิตให้เป็นน้ำสะอาด สำหรับการอุปโภคบริโภคของราษฎร ในเขตกรุงเทพฯ