เล่มที่ 32
การยศาสตร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ความหมายของการยศาสตร์

            การยศาสตร์ เป็นศัพท์บัญญัติมาจากคำภาษาอังกฤษว่า "Ergonomics" ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำภาษากรีกประกอบรวมกัน ๓ คำ คือ "ergon" หมายถึง "งาน" (work) "nomoi" หมายถึง "กฎ" (law) และ "ikos" หมายถึง "ศาสตร์หรือระบบความรู้" (ics) หากแปลตามตัวอักษร "Ergonomics" จึงหมายถึง ศาสตร์หรือระบบความรู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกฎกับงาน ส่วนคำว่า "การย์" (การยะ) ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า หน้าที่ กิจธุระ งาน ดังนั้น ศัพท์บัญญัติว่า การยศาสตร์ จึงมีความหมายว่า ระบบความรู้เกี่ยวกับงาน ซึ่งค่อนข้างตรงกับความหมายของรูปศัพท์ ในคำภาษาอังกฤษ

            เพื่อให้เข้าใจถึงความหมายของวิชานี้ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นักวิชาการหลายคน ได้พยายามอธิบายความหมายของการยศาสตร์ไว้ หลายมุมมองด้วยกัน ดังจะยกมาเป็นตัวอย่างดังนี้
  • มาร์ค เอส. แซนเดอร์ส และ เออร์เนสต์ เจ. แมกคอร์มิก (Mark S. Sanders and Ernest J. McCormick) อาจารย์ของ University of California และ Purdue University สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า การยศาสตร์ คือ วิศวกรรมศาสตร์แขนงหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเครื่องจักร และสิ่งแวดล้อม ในการปฏิบัติงาน ทั้งทางด้านกายภาพ และด้านจิตวิทยา โดยจุดมุ่งหมาย ของการศึกษาการยศาสตร์ ก็เพื่อต้องการให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้อย่างสะดวกสบาย เกิดความอ่อนล้าน้อยที่สุด แต่ได้ผลของการปฏิบัติงาน ในระดับที่ดี
  • ดร. อลัน เฮดจ์ (Alan Hedge) ผู้เชี่ยวชาญด้านการยศาสตร์ของ Cornell University สหรัฐอเมริกา ได้อธิบายว่า การยศาสตร์ คือ ศาสตร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการออกแบบเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์และระบบ เพื่อก่อให้เกิดความปลอดภัย ความสบาย และประสิทธิภาพ ของผู้ใช้เครื่องจักรเหล่านั้น
  • ดร. แมตส์ แฮกเบิร์ก และคณะ (Mats Hagberg et al.) อธิบายว่า การยศาสตร์เป็นศาสตร์ เพื่อใช้ในการปรับระบบ หรือสิ่งแวดล้อม ให้เหมาะสมกับบุคคล มิใช่การปรับบุคคลให้เข้ากับระบบหรือสิ่งแวดล้อม
  • คาร์ล โครเมอร์ และคณะ (Karl Kroemer et al.) อาจารย์ของ Virginia Polytechnic Institute and state University อธิบายว่า การยศาสตร์ คือ การประยุกต์ หลักการและวิธีการจากศาสตร์หลายแขนง เช่น จิตวิทยา สรีรวิทยา การวัดมิติต่างๆ ของร่างกาย (physical anthropometry) และวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อนำมาใช้ในการสร้างระบบการทำงาน ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์เป็นหลัก
            จากคำนิยามดังกล่าวข้างต้นทั้งหมด ล้วนกล่าวถึงงาน หรือระบบ ที่ต้องมีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง และความสามารถของมนุษย์ โดยพยายามนำหลักการ ทางวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์มาวิเคราะห์ แล้วออกแบบระบบที่เหมาะสม กับความสามารถของมนุษย์ จึงอาจสรุปความหมายของการยศาสตร์ว่าเป็น ศาสตร์ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคน เครื่องจักร สิ่งแวดล้อม และระบบ แล้วทำการออกแบบ หรือปรับระบบ สิ่งแวดล้อม หรือเครื่องจักรเหล่านั้น ให้เกิดความสะดวกสบาย ความปลอดภัยเหมาะสมกับบุคคล และก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในการปฏิบัติงาน


การจัดระบบงานในโรงพิมพ์ให้สัมพันธ์กันระหว่างคน เครื่องจักร และสิ่งแวดล้อม

            คำว่า Ergonomics นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในยุโรป ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๙ เป็นต้นมา ส่วนในสหรัฐอเมริกานิยมใช้คำว่า "Human Factor" (ปัจจัยทางมนุษย์) หรือ "Human Engineering" (วิศวกรรมมนุษย์) มากกว่า ทั้งนี้ ในระยะแรกนักวิชาการ ในทวีปยุโรป และสหรัฐอเมริกา ต่างถกเถียงกันถึงความแตกต่างในด้านความหมาย ของคำที่ใช้ โดยนักวิชาการในทวีปยุโรปเน้นความสำคัญในด้านกายภาพ ส่วนนักวิชาการในสหรัฐอเมริกา เน้นความสำคัญด้านจิตวิทยา อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ความคิดเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่ ไม่แตกต่างกันแล้ว คือ ให้ความสำคัญทั้ง ๒ ด้าน เท่าๆ กัน