การเตรียมสภาพของต้นให้พร้อมเพื่อการออกดอก
ต้นทุเรียนที่พร้อมก่อนการออกดอกคือ ต้นทุเรียน ที่ผ่านการเจริญเติบโตทางกิ่งก้านสาขา โดยมีการแตกใบอ่อนมาแล้วอย่างน้อย ๑ ชุด มีการสังเคราะห์แสง และสะสมอาหาร ในรูปของสารประกอบคาร์โบไฮเดรตเพียงพอ มีปริมาณใบมากเพียงพอ และสังเกตได้ โดยเมื่อมองจากใต้ต้นขึ้นไป จะเห็นช่องว่างระหว่างใบ ในทรงพุ่มไม่เกินร้อยละ ๔๐ ของพื้นที่ผิวทรงพุ่ม ใบส่วนมาก หรือทั้งหมด เป็นใบแก่ กิ่งของแต่ละยอดเริ่มแก่ ทำให้สังเกตได้ชัดเจนว่า ยอดตั้งขึ้นเกือบทุกยอด ต้นทุเรียนที่ได้รับการจัดการดี และมีสภาพพร้อมที่จะออกดอก จึงสังเกตได้จากการที่ต้นมีปริมาณใบพอเหมาะ ใบสมบูรณ์ มีสีเขียวเข้มเป็นมันและแก่ กิ่งของยอดแก่หรือยอดตั้งได้ เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการออกดอก คือ มีช่วงฝนทิ้งช่วง ๑๐ - ๑๔ วัน อุณหภูมิ และความชื้นของอากาศค่อนข้างต่ำ จะทำให้ต้นทุเรียนออกดอกได้มาก และสม่ำเสมอทั่วทั้งต้น การเตรียมสภาพความพร้อมของต้น เพื่อการออกดอกจะประสบความสำเร็จได้ดีนั้น ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพของต้นที่เป็นอยู่ ดังนี้
๑. ต้นที่มีสภาพความสมบูรณ์ค่อนข้างพร้อม เป็นต้นที่มีลักษณะโครงสร้างของทรงพุ่มค่อนข้างดี ทรงพุ่มเป็นรูปฉัตร มีกิ่งที่ขนาดพอดีเป็นจำนวนมาก โดยกิ่งนั้นไม่ใหญ่เกินไป (เส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่งมากกว่า ๘ นิ้ว) หรือกิ่งมีขนาดเล็กเกินไป (เส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่งน้อยกว่า ๓/๔ นิ้ว) มีปริมาณใบมาก และมีใบแก่ที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นใบมีขนาดใหญ่ สีเขียวเข้มเป็นมัน ต้นประเภทนี้ สามารถเตรียมความพร้อมได้ง่าย โดยการตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค และกิ่งขนาดเล็กออกไป ซึ่งมักเป็นกิ่งที่มีใบอยู่ด้านนอกของทรงพุ่ม และมีอยู่เป็นจำนวนมาก


๒. ต้นที่มีสภาพค่อนข้างโทรม เป็นต้นที่มีโครงสร้างของทรงพุ่มไม่ค่อยดี มีสัดส่วนของใบต่อกิ่งน้อยกว่าต้นประเภทแรก คือ มีปริมาณน้อย ใบมีขนาดค่อนข้างเล็ก สีไม่เขียวเข้ม โดยปกติต้นประเภทนี้ มักเป็นต้นที่มีอายุค่อนข้างมาก (มากกว่า ๑๕ ปี) การใส่ปุ๋ย ให้น้ำ หรือการจัดการด้านอารักขาพืช ในฤดูการผลิตที่ผ่านมาไม่เหมาะสม และมีการไว้ผลมาก จนต้นมีสภาพค่อนข้างทรุดโทรม เกิดผลกระทบต่อระบบราก ทำให้ระบบรากไม่สมบูรณ์ การจัดการ เพื่อเตรียมสภาพความพร้อมของต้น จึงต้องมีการกระตุ้น พัฒนาการของระบบรากเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อทำให้ระบบรากฟื้นตัว มีความสมบูรณ์ พร้อมที่จะใช้ในการดูดซับธาตุอาหารและน้ำ การกระตุ้นพัฒนาการของระบบรากนี้ จะต้องกระทำก่อนการใส่ปุ๋ย และให้น้ำ

๓. ต้นที่มีใบเหลืองเฉพาะบางกิ่ง เป็นลักษณะอาการเฉพาะ ต้นที่มีใบเหลืองเฉพาะบางกิ่ง จะมีสภาพทั่วไปค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ต้นทุเรียนจะแสดงอาการขาดน้ำ สังเกตได้จากใบทุเรียน จะมีอาการสลดและใบตก ตั้งแต่ช่วงสายๆ หรือตอนบ่าย ซึ่งบ่งชี้ถึงการเข้าทำลายของโรครากเน่า และต้นเน่า เนื่องจากเชื้อราไฟทอเทอรา ดังนั้น การเตรียมสภาพความพร้อมของต้นประเภทนี้ จะต้องดำเนินการ ต่างจากต้น ๒ ประเภทแรก คือ
การรักษาโรค โดยวิธีการตรวจหาตำแหน่งที่เป็นโรค ด้วยการสังเกตจากสีเปลือกลำต้นหรือกิ่ง โดยตำแหน่งที่เป็นโรคนั้น เปลือกจะมีสีคล้ำกว่าสีเปลือกปกติ และสังเกตเห็นคราบน้ำเป็นวง หรือไหลเป็นทางลงด้านล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเช้า ที่มีอากาศชุ่มชื้น อาจเห็นเป็นหยดน้ำปุดออกมาจากบริเวณแผลที่มีสีน้ำตาลปนแดง การรักษาโรคกิ่งและต้นเน่านี้ ทำได้โดยใช้มีดหรือสิ่งมีคมถากเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออกบางๆ เพื่อให้ทราบขอบเขตของแผลที่ถูกเชื้อราเข้าทำลายอย่างชัดเจน แล้วใช้สารเมทาแลกซิล (Metalaxyl) ชนิดผงร้อยละ ๒๕ อัตรา ๕๐ - ๖๐ กรัม/น้ำ ๑ ลิตร หรือสารฟอสเอทิลอะลูมินัม (Phosethyl aluminum) ชนิดผงร้อยละ ๓๐ ในอัตรา ๘๐ -๑๐๐ กรัม/น้ำ ๑ ลิตร ทาตรงบริเวณที่ถากออกให้ทั่ว และตรวจสอบแผลที่ทาไว้ หลังจากการทาด้วยสารเคมีครั้งแรก ๑๕ วัน หากรอยแผลยังไม่แห้ง มีลักษณะฉ่ำน้ำ ให้ทาซ้ำ ด้วยสารเคมีชนิดเดิมจนกว่าแผลจะแห้ง
ชะลอการหลุดร่วงของใบ ต้นทุเรียนที่เป็นโรครากเน่า ต้นเน่านี้ ใบจะมีอาการเหลืองและหลุดร่วงไป เนื่องจากโรค ทำให้เกิดการขัดขวางการเคลื่อนย้ายของธาตุอาหาร หรือสารประกอบคาร์โบไฮเดรต ภายในท่อน้ำ และท่ออาหาร จนต้นเกิดอาการทรุดโทรม โดยปกติ การฟื้นฟูสภาพความสมบูรณ์ของต้น หลังจากเกิดโรคทำได้ยาก ต้องใช้เวลานาน และมักไม่ทันต่อการผลิตในฤดูการผลิตถัดไป แต่ถ้าดำเนินการรักษาโรค และหยุดการลุกลามของโรคได้อย่างรวดเร็ว และชะลอการหลุดร่วงของใบ โดยฉีดพ่นต้นด้วยสารประกอบกึ่งสำเร็จรูป ที่มีคาร์โบไฮเดรตเป็นองค์ประกอบหลัก (สูตรทางด่วน) หรือฉีดพ่นต้นด้วยสารเคมี ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน จะช่วยให้ต้นทุเรียนฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
การจัดการอื่นๆ เช่น การตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ย ให้น้ำ และการอารักขาพืช ให้ดำเนินการเช่นเดียวกันกับการเตรียมสภาพความพร้อมของต้นทั้ง ๒ ประเภท ที่กล่าวถึงแล้ว

๔. ต้นที่มีอาการใบเหลืองเฉพาะที่ใบอ่อน หรือใบเพสลาด สาเหตุเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก และธาตุแมกนีเซียม โดยทั่วไปในส่วนอื่นของลำต้น จะมีสีเขียว และลักษณะเป็นปกติ แต่จะพบอาการใบเหลืองเฉพาะที่ใบอ่อน หรือใบเพสลาด ถ้าเป็นใบอ่อน ใบจะมีขนาดเล็กกว่าปกติ แผ่นใบ และเส้นกลางใบจะเหลืองซีดทั้งแผ่น ซึ่งเป็นอาการขาดธาตุเหล็ก ถ้าเป็นใบเพสลาด อาการเหลืองจะเป็นที่แผ่นใบ แต่เส้นกลางใบจะเป็นสีเขียว ลักษณะคล้ายใบหอก คือ แถบกว้างจาก ขั้วใบ แล้วเรียวแหลมลงไป จนถึงปลายใบ ซึ่งเป็นอาการขาดธาตุแมกนีเซียม อาจพบอาการทั้ง ๒ ประเภท ผสมผสานกันอยู่ในต้นเดียวกัน โดยมากจะพบในต้นทุเรียน ที่ปลูกในดินร่วนปนทราย หรือดินทรายที่มีธาตุแมกนีเซียม และธาตุเหล็กค่อนข้างต่ำ ต้นทุเรียน ที่มีอาการใบเหลืองเฉพาะที่ใบอ่อน หรือใบเพสลาดข้างต้น เกิดจากการจัดการบางอย่างผิดพลาด คือ การใช้ปุ๋ยไนโตรเจน เช่น ปุ๋ยยูเรีย เร่งการเจริญเติบโตทางด้านกิ่งก้านสาขา โดยไม่มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยที่มีธาตุรอง หรือธาตุปริมาณน้อยร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้พัฒนาการของยอดเกิดขึ้นมาก ธาตุไนโตรเจนที่มีมากเกินไป จะลดอัตราการดูดซับธาตุแมกนีเซียมลง และเมื่อต้นทุเรียนขาดธาตุแมกนีเซียม ก็จะมีผลทำให้ธาตุเหล็ก มีประโยชน์ลดลงด้วย จึงทำให้ต้นทุเรียนแสดงอาการขาด ทั้งธาตุแมกนีเซียม และธาตุเหล็กไปพร้อมๆ กัน ในกรณีที่เกิดอาการใบเหลืองดังกล่าวแล้ว อาการใบเหลือง จะสามารถหายได้เอง เมื่อใบแก่ขึ้น แต่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน อาจทำให้เกิดปัญหาในการเตรียมความพร้อมของต้น ให้ทันกับสภาพแวดล้อม ที่เหมาะสม สำหรับการออกดอกได้ จึงจำเป็นต้องแก้ไขโดยการฉีดพ่นด้วยปุ๋ยทางใบ ที่มีธาตุแมกนีเซียม และธาตุเหล็กในอัตราสูง อย่างไรก็ตาม ปัญหาต้นที่มีอาการใบเหลืองเฉพาะที่ใบอ่อน หรือใบเพสลาด ควรแก้ปัญหาโดยวิธีการป้องกันจะเหมาะสมกว่า กล่าวคือ ต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ควบคู่กับปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ

๕. ต้นที่มีอาการใบเหลืองเฉพาะที่ใบอ่อน หรือใบเพสลาด สาเหตุเกิดจากการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชไม่ถูกวิธี คือ การที่เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช เช่น กลุ่มพาราควอต กลุ่มไกลโฟเซต หรือกลุ่มอื่นใน อัตราสูงกว่าที่กำหนดไว้ ฉีดพ่น เพื่อกำจัดวัชพืชใต้ทรงพุ่มของทุเรียน ปริมาณสารเคมีส่วนเกิน สัมผัสกับรากทุเรียน ที่กำลังพัฒนาอยู่ใกล้กับผิวดิน และรากบางส่วน ทำให้แห้งตาย อาการใบเหลืองดังกล่าวจะพบ หลังจากการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืชแล้ว ประมาณ ๑ สัปดาห์ ดังนั้น การจัดการ เพื่อเตรียมความพร้อมของต้นทุเรียนประเภทนี้ จำเป็นต้องมีการกระตุ้นให้ระบบรากของทุเรียน มีพัฒนาการก่อน ดังรายละเอียดที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แล้วตามด้วยการจัดการ อื่น เช่น การตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ย ให้น้ำ และการอารักขาพืช
๖. ต้นที่มีใบเหลืองทั้งต้น ต้นทุเรียนประเภทนี้ จะมีใบที่ไม่ค่อยสมบูรณ์นัก ใบมีลักษณะด้าน ไม่สดใสเป็นมัน ใบเหลืองทั้งแผ่นใบ และเส้นกลางใบ อาจมีลักษณะการขาดน้ำเกิดร่วมด้วย ต้นทุเรียนที่มีอาการประเภทนี้ จะพบมาก ในต้นที่ปลูกจากต้นกล้า ที่รากงอ หรือรากขด ปลูกลึก มักมีน้ำขังอยู่ที่โคนต้น หรืออาจมีการถมดินบริเวณโคนต้นค่อนข้างสูง และมีการระบายน้ำไม่ดี ต้นทุเรียนที่มีสภาพแบบนี้ หากมีการไว้ผลมากในฤดูการผลิตที่ผ่านมา อาการใบเหลืองจะเกิดรุนแรงมากขึ้น ในฤดูการผลิตต่อมา ซึ่งสาเหตุหลักของอาการประเภทนี้ มักเกิดจากมีโรครากเน่าเข้าทำลายตรงบริเวณรากที่งอหรือขด ซึ่งรากจะเบียดชิดกัน จนเกิดรอยแผล เชื้อราไฟทอปเทอราจะเข้าทำลายได้ง่าย ทำให้เกิดอาการรากเน่า และมีการขยายขนาดของแผลเน่าอยู่เสมอ ส่งผลให้รากฝอยบางส่วนแห้ง ทำให้ประสิทธิภาพ ในการดูดน้ำ และธาตุอาหารลดลง ดังนั้น การจัดการ เพื่อเตรียมความพร้อมของต้นทุเรียนประเภทนี้ จำเป็นต้องรักษาโรครากเน่าไปพร้อมๆ กับการกระตุ้นพัฒนาการของระบบรากให้สำเร็จ ก่อนการจัดการอื่นๆ