การดำเนินงานเพื่อการจัดการสวนส้ม
๑. การปรับเตรียมพื้นที่ปลูก
๑.๑ การปรับสภาพพื้นที่ปลูก
การปลูกส้มในที่ลุ่ม ซึ่งมักมีสภาพดินเป็นดินเหนียว มีระดับน้ำใต้ดินสูง เนื่องจากเป็นพื้นที่ ที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ คู คลอง เกษตรกรจึงมักนิยมปลูกแบบยกร่อง มีการปรับพื้นที่ปลูก ให้มีความสูงต่ำสม่ำเสมอกัน มีการวิเคราะห์โครงสร้างของดิน ความอุดมสมบูรณ์ เพื่อปรับปรุงคุณภาพของดิน ตั้งแต่เมื่อแรกเตรียมดิน เพื่อการปลูก และตลอดระยะเวลาของการปลูก หากพื้นที่ปลูกเป็นที่ราบสูง หรือที่ดอน เช่น ในภาคเหนือ การปรับสภาพพื้นที่ให้มีความสูงต่ำสม่ำเสมอไม่มีความจำเป็นมากนัก
๑.๒ การขุดคันล้อมและการยกร่อง
การขุดคันล้อมเป็นการปฏิบัติงานอย่างหนึ่ง สำหรับการปลูกส้มในที่ลุ่ม เพื่อเป็นแนวแบ่งเขตบริเวณที่ดิน รวมทั้งเป็นร่องน้ำที่นำน้ำเข้ามาใช้ในแปลงปลูก และเพื่อการระบายน้ำ การปลูกในสภาพยกร่อง ที่มีการขุดคันล้อม จะทำให้มีพื้นที่ปลูกส้มน้อยกว่าการปลูกในสภาพไร่ ประมาณร้อยละ ๑๕ - ๒๐ ของพื้นที่ทั้งหมด แนวหรือแถวปลูกควรจะอยู่ในแนวทิศเหนือ - ทิศใต้ ยกเว้นในกรณีที่พื้นที่ปลูก มีความยาวมากกว่าความกว้าง ก็จำเป็นต้องวางแนวของร่องปลูกไปตามความยาวของพื้นที่ การปลูกในสภาพไร่ ควรมีการวาง หรือกำหนดจุด หรือบริเวณที่จะเป็นสระเก็บกักน้ำ หากพื้นที่ปลูกมีขนาดใหญ่ และต้องการให้น้ำ โดยการใช้ระบบน้ำแบบท่อ ก็ต้องวางแนวของระบบน้ำ สำหรับแปลงปลูกให้เสร็จเรียบร้อย พร้อมๆ กับการวางแนวยกร่องลูกฟูก ที่จะปลูกต้นส้ม
๑.๓ การกำหนดระยะระหว่างแถวและระยะต้น
ควรกำหนด หรือตัดสินใจเลือกระยะปลูกก่อน หรือพร้อมๆ กับการเตรียมพื้นที่ การกำหนดว่า จะปลูกด้วยระยะเท่าใดขึ้นอยู่กับชนิดของส้ม และความนิยมของผู้ปลูกเป็นหลัก การปลูกส้มเขียวหวานในที่ลุ่มภาคกลาง นิยมใช้ระยะระหว่างแถวประมาณ ๖ - ๘ เมตร ระยะระหว่างต้น ๓ - ๔ เมตร เกษตรกรหลายรายเพิ่มจำนวนต้นส้มต่อพื้นที่ปลูกให้มากขึ้น โดยการปลูกแบบต้นคู่ หรือแถวคู่ ซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนต้นต่อพื้นที่ปลูกได้มากขึ้นประมาณร้อยละ ๒๐ - ๔๐ ของการปลูกแบบต้นเดี่ยวหรือแถวเดี่ยว


๒. การเตรียมพันธุ์ส้มหรือการขยายพันธุ์ส้ม
ขั้นตอน และวิธีการเตรียมพันธุ์ส้ม หรือการเลือกวิธีการขยายพันธุ์ส้ม เป็นสิ่งที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้เกษตรกรประสบความสำเร็จหรือไม่ การปลูกส้มในประเทศไทยนิยมใช้กิ่งตอน เพื่อการปลูก โดยไม่มีการคัดเลือกต้นพันธุ์ และกิ่งตอน ทำให้เกิดปัญหาติดตามมาในภายหลัง ในเรื่องของความไม่สมบูรณ์แข็งแรงของต้นส้ม และปัญหาของโรคที่ติดมากับกิ่งพันธุ์ ปัจจุบันแนวโน้มของการคัดเลือกกิ่งพันธุ์ที่สมบูรณ์แข็งแรง หรือการใช้ต้นปลอดโรค ซึ่งติดตา หรือเสียบยอดบนต้นตอพันธุ์ส้มที่แข็งแรงต้านทานโรค ได้รับความสนใจ และนิยมกันมากขึ้นโดยลำดับ
๓. วิธีการปลูกและการดูแลปฏิบัติ
การปลูก และการดูแลปฏิบัติ เป็นงานที่ต้องมีความเข้าใจหลักวิชาการ หรือต้องอาศัยประสบการณ์มากพอสมควร จึงจะทำให้ต้นส้มเจริญเติบโต สมบูรณ์แข็งแรง ไม่ถูกรบกวน หรือถูกทำลายโดยศัตรูพืช และสามารถผลิดอกให้ผลผลิตคุ้มค่าต่อการลงทุน งานที่ต้องปฏิบัติดังกล่าว คือ
๓.๑ การปลูกและการดูแลปฏิบัติงาน
๓.๒ น้ำชลประทานและระบบ หรือวิธีการให้น้ำ
๓.๓ การตัดแต่งและการจัดทรงพุ่ม
๓.๔ ชนิดของปุ๋ย ธาตุอาหาร และระยะเวลาของการให้ปุ๋ย
๓.๕ การดูแลป้องกันกำจัดโรค แมลง ไร และศัตรูอื่นๆ
๓.๖ การบังคับ และ/หรือการทำให้ต้นส้มผลิดอกและติดผล
๓.๗ การดูแลและการปรับปรุงต้นส้ม เพื่อทำให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค

๔. การปลูกพืชกำบังลมหรือพืชล้อมแปลงปลูก
การปลูกพืชยืนต้น หรือพืชโตเร็ว ล้อมรอบแปลงปลูก นอกจากจะบ่งบอก หรือชี้แนวของพื้นที่ปลูกแล้ว ยังมีประโยชน์ในการช่วยปะทะลมหรือพายุ และกีดกั้นศัตรูพืชบางชนิด รวมทั้งพืชบางชนิดเป็นรายได้เสริมให้แก่ผู้ปลูกด้วย พืชที่นำมาปลูกเป็นพืชกำบังลม หรือเป็นพืชล้อมแปลงปลูก จะต้องเลือกให้เหมาะสมกับพื้นที่ปลูก และไม่ควรเป็นแหล่งอาศัยของโรคหรือแมลงศัตรูส้ม พืชที่นิยมปลูกเป็นพืชกำบังลม ได้แก่ สน กระถินเทพา มะม่วง ขนุน กล้วย
๕. การสร้างโรงเรือนและอุปกรณ์เครื่องมือ
การสร้างโรงเรือนในแปลงปลูก มีวัตถุประสงค์ เพื่ออยู่อาศัย เก็บวัสดุ และอุปกรณ์เครื่องมือ และเก็บพักผลผลิตระหว่างรอการขนส่ง สำหรับอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการปลูกส้มมีหลายชนิด ได้แก่ เครื่องมือสำหรับให้น้ำ เครื่องมือสำหรับฉีดพ่นสารเคมี เครื่องตัดหญ้า และอุปกรณ์อื่นๆ ทางการเกษตร ทั้งนี้ การจัดสร้างโรงเรือน และการจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ นั้น ควรให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน และเหมาะสมกับการลงทุนในแต่ละปี
๖. การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
วิทยาการด้านการปลูกพืชตระกูลส้มในหลายๆ ประเทศ ได้มีการพัฒนาในด้านต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ทั้งการพัฒนา และการปรับปรุงพันธุ์ส้ม การปลูก และการใช้เทคโนโลยีด้านต่างๆ การดูแลปฏิบัติ ที่เหมาะสม การใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทันสมัย เกษตรกรจึงควรสนใจในการติดตามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม จากเพื่อนเกษตรกร ผู้ที่มีประสบการณ์ รวมทั้งจากนักวิชาการ และจากข่าวสาร หรือเอกสารวิชาการต่างๆ