สัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนตลอดวงจรชีวิตของมัน
ปูก้ามดาบ
เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในป่าชายเลน โดยมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อาหาร และกระบวนการหมุนเวียนของธาตุอาหาร และอินทรียสารพวกซากไม้เศษไม้ ปูก้ามดาบกินอาหาร โดยเลือกอินทรียสารจากดินทราย รยางค์ส่วนปากของมันมีลักษณะพิเศษเฉพาะ เพื่อใช้เลือกและแยกอาหารพวกอินทรียสาร และจุลชีพ ออกจากตะกอนดินที่มีขนาดอนุภาคต่างกัน การกระจายของปูก้ามดาบแต่ละชนิด จะขึ้นอยู่กับลักษณะของดิน และความเค็มของน้ำ นอกจากนี้ การกระจายของปูก้ามดาบ ก็ยังขึ้นอยู่กับปริมาณอาหาร ร่มเงา และความชื้น อุณหภูมิ และความลาดเอียงของหาด

ปูแสม
จะเดินขึ้นลงตามรากไม้ในป่าชายเลนอย่างรวดเร็วมาก ปูแสมจัดเป็นกลุ่มปูที่พบมากที่สุด ในบริเวณป่าชายเลน ตั้งแต่ตัวเล็กไปจนถึงตัวใหญ่มาก ปูแสมมีบทบาทที่สำคัญ ในการย่อยสลายอินทรียสารในป่าชายเลน โดยจะกินพวกเศษไม้ใบไม้ที่ร่วงหล่น ปูแสมที่พบในป่าชายเลนสามารถแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่คลานหรือวิ่งไปมาในป่าชายเลน ซึ่งมักจะหลบอาศัยอยู่ตามรากของต้นไม้ใหญ่คือ ไม้โกงกาง ไม้ถั่ว และไม้แสม กลุ่มที่สอง จะสร้างรูอยู่ใต้ดิน หรือตามรากไม้ต่างๆ ซึ่งลักษณะรูจะต่างกันแล้วแต่ชนิด ปูแสมบางชนิดจะพบได้ในมูลดินของแม่หอบ ซึ่งเป็นสัตว์กึ่งปูกึ่งกุ้ง ที่พบในบริเวณป่าชายเลน จังหวัดจันทบุรี และระนอง

ปลาตีน
พบได้ทั่วไปในบริเวณหาดเลน และป่าชายเลน นอกจากปลาตีนจะสามารถหายใจได้ เมื่ออยู่บนบกแล้ว ก็ยังสามารถกระโดดไปมาบนดินเลน และคลานขึ้นต้นไม้ได้ด้วย เมื่ออยู่บนบก ปลาตีนจะหายใจ โดยดึงเอาออกซิเจนจากอากาศผ่านทางผิวหนัง และช่องเหงือก แต่เวลาที่มันว่ายอยู่ในน้ำ หรือเมื่อน้ำขึ้น มันจะว่ายน้ำได้เหมือนปลาทั่วไป และหายใจโดยใช้เหงือก ปลาตีนมักจะขึ้นมานอนผึ่งแดดบนดินเลน หรือขอนไม้ในเวลาที่น้ำลง ปลาตีนจะออกหากินโดยกินพวกครัสเตเชียน (Crustaceans) และสัตว์น้ำอื่นๆ แต่ปลาตีนบางชนิดจะกินทั้งซากพืช และสัตว์น้ำ