การรักษาความผิดปกติแต่กำเนิด
หลักการสำคัญในการแก้ไขความผิดปกติแต่กำเนิด คือ การพยายามทำให้เด็กกลับมาเป็นปกติ ทั้งด้านหน้าที่การทำงาน ของอวัยวะส่วนนั้น และรูปร่างหน้าตาให้เป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งในปัจจุบัน ความพยายามเหล่านั้น ต้องทำเป็นทีมสหวิทยาการของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ สาขา เพราะความผิดปกติแต่กำเนิดมักเกี่ยวข้องกับหลายๆ สาขาวิชา จึงจำเป็นต้องรักษาร่วมกันเป็นทีม จนกระทั่งเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ สำหรับการดูแล นอกจากด้านร่างกายแล้ว ยังต้องทำควบคู่ไปกับด้านจิตใจด้วย ความพิการแต่กำเนิดที่พบบ่อย ได้แก่ โรคปากแหว่งเพดานโหว่ และโรคสมองยื่นบริเวณหว่างตา ในที่นี้ขอยกตัวอย่างโรคปากแหว่งเพดานโหว่
โรคปากแหว่งเพดานโหว่
มีอุบัติการณ์การเกิดในคนไทยที่คลอดประมาณ ๑ : ๖๕๐ ราย ซึ่งมีสาเหตุจากปัจจัยหลายด้าน กรรมพันธุ์เป็นเพียงหนึ่ง ในปัจจัยหลากหลายนั้น หลักในการแก้ไขผู้ป่วยปากแหว่ง คือ การเย็บซ่อมแซมเพื่อให้เกิดวงกล้ามเนื้อหูรูดรอบปาก (orbicularis oris) สามารถเชื่อมต่อครบวงให้เด็กพูดได้ดี รับประทานได้เป็นปกติ และมีความงดงามของริมฝีปากเหมือนคนทั่วไป ส่วนโรคเพดานโหว่ บางครั้งพบร่วมกับปากแหว่ง หรือเป็นเพดานโหว่เดี่ยวๆ โดยมีหลักการในการรักษา คือ การทำให้เด็กกลับมาพูดด้วยเสียงใกล้เคียงปกติที่สุด กระดูกใบหน้าของเด็กให้มีการเจริญเติบโตเป็นปกติที่สุด ฟันใน ขากรรไกรบนของเด็กก็ให้มีการจัดเรียงตัวเป็นปกติ รวมทั้งการป้องกันหูชั้นกลางอักเสบ เนื่องจากรูต่อกับหูชั้นกลาง (Eustachian tube) อยู่ใกล้กับบริเวณช่องเพดานโหว่นั้น