ข. ภาวะโรคจิต (psychosis)
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเอะอะโวยวาย หรืออาละวาด ยากลุ่มรักษาโรคจิต (neuroleptics) เป็นยาที่ได้ผลดีที่สุดที่จะทำให้ผู้ป่วยสงบ แต่การใช้ยา ควรใช้ในขนาดต่ำก่อน เพราะจะมีผล แทรกซ้อนน้อยกว่าขนาดสูง
ค. ภาวะกายใจไม่สงบ (agitation)
อาการนี้พบว่า เกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราวในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ และอาจเกิดเป็นพักๆ ยาที่มีรายงานว่าใช้ได้ผลดี มีหลายชนิด เช่น carbamazepine, sodium valproate, buspirone, trazodone และ risperidone
๔. การรักษาวิธีใหม่
ปัจจุบันมีข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับการใช้ยาที่อาจชะลอการดำเนินโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งมีหลายชนิด ดังนี้
ก. ฮอร์โมนเอสโทรเจน (estrogen)
จากการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่า การให้ฮอร์โมนเอสโทรเจนทดแทน ในหญิงวัยหมดประจำเดือน จะทำให้เพิ่มปริชาน และอาจลดการเกิดโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้ เอสโทรเจนยังลดความเสี่ยง ในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ การเสียชีวิตฉุกเฉิน และการเกิดภาวะกระดูกพรุน (osteoporosis) ได้ด้วย
ข้อห้ามในการใช้ยาฮอร์โมนชนิดนี้ คือ ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยเป็นมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม หลอดเลือดดำอุดตันและอักเสบ ข้อเสียของยาชนิดนี้ คือ อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เลือดออกทางช่องคลอด และอาการปวดศีรษะไมเกรนกำเริบได้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดพบว่า การใช้ยากลุ่มเอสโทรเจนไม่ได้ผลในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ในปัจจุบัน จึงลดความนิยมใช้กัน
ข. แอนติออกซิแดนต์ (antioxidants)
มีข้อมูลว่า การใช้ยา MAO-B inhibitor เช่น selegiline สามารถช่วยชะลอการดำเนินโรคอัลไซเมอร์ได้ แต่ยาชนิดนี้มีปัญหา ด้านการให้ยาร่วมกัน ผลแทรกซ้อนของยาชนิดนี้ ที่พบบ่อย ได้แก่ อาการปากแห้ง คอแห้ง คลื่นไส้ วิงเวียน ความดันโลหิตต่ำ และนอนไม่หลับ สำหรับวิตามินอีที่เป็นแอนติ-ออกซิแดนต์ที่นิยมใช้กัน ก็มีการศึกษาวิจัยว่า สามารถนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน แต่มีข้อห้ามใช้ในผู้ที่เป็นโรคขาดวิตามินเค
ค. กลุ่มยาต้านการอักเสบไร้สารสเตียรอยด์
(nonsteroidal anti - inflammatory agents : NSAID) ข้อมูลจากการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่า การใช้ยากลุ่มนี้ สามารถชะลอการดำเนินของโรคอัลไซเมอร์ได้
ยาชนิดต่างๆ ที่ช่วยชะลอการดำเนินของโรคอัลไซเมอร์
ง. วัคซีน
ปัจจุบัน ได้มีความพยายามในการหาทางป้องกันโรคอัลไซเมอร์ โดยการฉีดวัคซีน ซึ่งได้มีการทดลองกับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ในสหรัฐอเมริกาบ้างแล้ว โดยใช้วัคซีนที่ทำจากบีตา-แอมีลอยด์โปรตีน แต่ก็พบว่า วัคซีนชนิดนี้ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ เกิดเยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ (meningoencephalitis) เมื่อได้รับวัคซีนในอัตราที่สูง ส่วนแนวคิดที่จะใช้วัคซีน ชนิดที่ทำจากเทาโปรตีน กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยอยู่ในปัจจุบัน