ช่วงพุทธ ศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗
ในช่วงระยะเวลานี้ตรงกับศิลปะขอมแบบคลัง-บาปวน และแบบนครวัด ได้พบปราสาทขอม ในประเทศไทยหลายแห่ง เช่น ปราสาทพนมวัน และปราสาทหินพิมาย ที่จังหวัดนครราชสีมา ปราสาทกู่สวนแตง ปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำ ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทบ้านพลวง และปราสาทศีขรภูมิ ที่จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ที่จังหวัดศรีสะเกษ ปราสาทกู่กาสิงห์ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ปราสาทสด็อกก็อกธม ที่จังหวัดสระแก้ว
รูปแบบและแผนผังของปราสาทในช่วงระยะเวลานี้ มีระเบียบแบบแผนเดียวกับปราสาทในกัมพูชา สมัยเมืองพระนคร และเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ที่จัดเป็นศาสนสถานประจำเมือง มีโครงสร้างที่สำคัญ คือ ปราสาทประธานที่อยู่ตรงกลางอาจมีหลังเดียว เช่น ปราสาทหินพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง หรือเป็นหมู่ ๓ หลัง ๕ หลัง หรือ ๖ หลัง เช่น ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ปราสาทศีขรภูมิ
ทับหลังภาพไตรโลกยวิชัย
การกำหนดอายุของปราสาทในช่วงระยะเวลานี้ พิจารณาจากแผนผังของอาคารโดยรวม รวมทั้งรูปแบบของปราสาท เช่น มีการเพิ่มมุม และยอดปราสาทเป็นทรงพุ่ม สิ่งสำคัญที่ใช้ในการกำหนดรูปแบบ และอายุ ได้แก่ ลวดลายประดับที่ทับหลัง หน้าบัน และเสาประดับกรอบประตู ลักษณะที่จัดเป็นศิลปะแบบคลัง-บาปวน ซึ่งปรากฏอยู่มาก ได้แก่ ทับหลังที่ประกอบด้วยลายหน้ากาล คายท่อนพวงมาลัยอยู่ตรงกึ่งกลางด้านล่าง หน้ากาลมีลิ้นเป็นสามเหลี่ยม มีมือมายึด ท่อนพวงมาลัย มีภาพเล่าเรื่องเล็กๆ อยู่เหนือหน้ากาล เหนือท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้หรือลายกระหนกม้วนออกทั้ง ๒ ข้าง ใต้ท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้ม้วนเข้า หากมีลายเฟื่องอุบะมาแบ่งท่อนพวงมาลัยออก เป็น ๔ ส่วน จะจัดเป็นแบบคลัง แต่ถ้าไม่มี จะจัดเป็นแบบบาปวน ส่วนใหญ่ของปราสาทขอมในประเทศไทยในสมัยนี้ จะพบลาย ดังกล่าวปะปนกันในศาสนสถานแหล่งเดียวกัน หรือในปราสาทหลังเดียวกัน ทำให้อาจกำหนดได้ว่า ศิลปะแบบคลัง-บาปวนที่พบในประเทศไทยนั้น เป็นศิลปะต่อเนื่องสมัยเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ที่ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทสระกำแพงใหญ่
ทับหลังในศิลปะแบบนครวัดส่วนใหญ่ จะนิยมสลักภาพเล่าเรื่อง ประกอบด้วยรูปบุคคลเล็กๆ เต็มพื้นที่ เช่น ที่ปราสาทหินพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทศีขรภูมิ นอกจากนี้ ยังใช้หลักฐานของงานประติมากรรมประดับศาสนสถาน เป็นตัวกำหนดรูปแบบทางศิลปะ เช่น ประติมากรรมรูปบุคคลในศิลปะแบบบาปวน จะสังเกตได้จากทรงผมที่ถัก และเกล้าขึ้นไปเป็นมวยอยู่เหนือศีรษะ คางเป็นร่อง ชายผ้านุ่งด้านหน้าเว้าใต้พระนาภี ด้านหลังสูงขึ้นมาถึงกึ่งกลางหลัง ในขณะที่ศิลปะแบบนครวัดนิยมมงกุฎทรงกรวย มีเทริด (กระบังหน้า) และประดับเครื่องทรง
มีข้อสังเกตที่สำคัญทางด้านรูปแบบของปราสาทขอมศิลปะแบบนครวัดที่พบในดิน แดนไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ที่มีลักษณะเฉพาะเกิดขึ้น โดยอาจถือเป็นงานที่พัฒนาขึ้นในท้องถิ่น ได้แก่ การทำยอดปราสาทที่เป็นทรงพุ่ม เช่น ที่ปราสาทหินพิมาย และปราสาทพนมรุ้ง โดยเปลี่ยนการประดับชั้นหลังคาจากปราสาทจำลอง เป็นการประดับแผ่นหินที่อยู่ในรูปสามเหลี่ยม ที่เรียกว่า นาคปักแทน ซึ่งในปัจจุบันพบว่า ลักษณะดังกล่าว เกิดขึ้นในประเทศกัมพูชาก่อนแล้ว
หลักฐานที่น่าสนใจในช่วงระยะเวลานี้คือ ได้พบว่า มีการสร้างปราสาทที่มีความสำคัญ และมีขนาดใหญ่หลายแห่ง รวมทั้งได้พบหลักฐานเกี่ยวกับการก่อสร้าง เช่น ศิลาจารึกที่กล่าวถึงพระนามผู้สร้าง ทำให้ได้ข้อสันนิษฐาน เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ได้ในระดับหนึ่งว่า บริเวณภาคอีสานตอนล่างนี้ เป็นดินแดนสำคัญของอาณาจักรขอม โดยในบางสมัยอาจมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงที่มีบุคคลสำคัญมาปกครอง หลักฐานจากจารึก ได้กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ ซึ่งทรงสร้างปราสาทในแคว้นรอบนอกเมืองพระนคร หรือ "ดิน แดนนอกกัมพุช" เช่น ปราสาทเขาพระวิหาร ปราสาทตาเมือนธม พระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ ซึ่งทรงสร้างปราสาทหินพิมาย และนเรนทราทิตย์ ซึ่งสร้างปราสาทพนมรุ้ง
ปราสาทสำคัญในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ ที่ควรกล่าวถึง มีดังต่อไปนี้
๑. ปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์
อยู่ที่ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย ปราสาทแห่งนี้ไม่พบประวัติการก่อสร้างและศิลาจารึกแต่จากรูปแบบศิลปกรรม จัดอยู่ในสมัยของศิลปะแบบคลัง-บาปวน ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗
ปราสาทเมืองต่ำเป็นปราสาทที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบ มีแผนผังแบบล้อมรอบจุดศูนย์กลาง ประกอบด้วยกำแพง สระน้ำและระเบียงคดล้อมรอบตัวปราสาท ภายในมีปราสาท ๕ หลังอยู่บนฐานเดียวกัน เรียงเป็น ๒ แถว แถวหน้ามี ๓ หลัง แถวที่ ๒ มี ๒ หลังในลักษณะสับหว่างกัน องค์กลางด้านหน้าเป็นปราสาทประธาน เพราะมีขนาดใหญ่สุด แต่เหลือเฉพาะส่วนฐาน
ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐขัดผิวจนเรียบ ที่หน้าบันและทับหลังสลักด้วยศิลา ส่วนกำแพง และระเบียงคด ก่อด้วยหินทราย
การกำหนดอายุของปราสาทพิจารณาจากลวดลายบนทับหลัง ซึ่งจัดอยู่ในศิลปะแบบคลัง-บาปวน ประกอบด้วยลายที่สำคัญคือมีหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัยอยู่กึ่งกลางด้านล่าง หน้ากาลมีลิ้นเป็นสามเหลี่ยม มีมือ มายึดท่อนพวงมาลัยมีภาพเล่าเรื่องเล็กๆ อยู่เหนือหน้ากาล เหนือท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้ หรือลายกระหนกม้วนออกทั้ง ๒ ข้าง ใต้ท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้ม้วนโดยแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีลายเฟื่องอุบะมาแบ่งท่อนพวงมาลัยออกเป็น ๔ ส่วนจัดเป็นศิลปะแบบคลัง อีกกลุ่มหนึ่ง ไม่มีลายเฟื่องอุบะ จัดเป็นศิลปะแบบบาปวน แต่ส่วนใหญ่จะพบลายดังกล่าวร่วมกัน ดังนั้นจึงควรจัดเป็นสมัยต่อเนื่องกัน

ปราสาทเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์ ศิลปะขอมแบบคลัง-บาปวน (พุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗)
สำหรับรูปเล่าเรื่องที่ปรากฏบนทับหลังเป็น เรื่องในศาสนาฮินดู โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพระอิศวร เช่น พิธีสยุมพรพระอิศวร พระอุมามเหศวร (พระอิศวรและพระอุมาทรงโค) และเรื่องรองลงมา ได้แก่ พระกฤษณะ และเทพเจ้าประจำทิศ นอกจากนี้ได้ค้นพบศิวลึงค์ และประติมากรรมเทวสตรี (พระอุมา) จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่า ศาสนสถานแห่งนี้สร้างขึ้นในลัทธิไศวนิกาย
๒. ปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ
อยู่ที่อำเภออุทุมพรพิสัย จัดเป็นปราสาทขอมสำคัญแห่งหนึ่งที่พบในประเทศไทย มีอายุ ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ มีหลักฐานการก่อสร้างจากศิลาจารึกที่กรอบประตูใน พ.ศ. ๑๕๘๕ กล่าวถึงการสร้างและอุทิศเทวาลัยแห่งนี้เพื่อถวายพระอิศวร
ปราสาทสระกำแพงใหญ่เป็นปราสาท ๓ หลังอยู่บนฐานเดียวกัน ด้านหน้ามีวิหาร หรือบรรณาลัย ๒ หลังคู่ ส่วนด้านหลังมีปราสาทอีกหนึ่งหลัง หมู่ปราสาทล้อมรอบด้วยระเบียงคด ถัดออกไปเป็นสระน้ำรูปคล้ายตัวแอล (L) และมีกำแพงล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง จากลักษณะของแผนผังจะมีความใกล้เคียงกับปราสาทเมืองต่ำอย่างมาก แตกต่างกันเฉพาะจำนวนปราสาทและการเรียงแถวเท่านั้น
ทับหลังภาพพระอุมามเหศวร ปราสาทเมืองต่ำ
ลักษณะแผนผังและลักษณะศิลปกรรม โดยเฉพาะลวดลายบนหน้าบันและทับหลัง จัดอยู่ในศิลปะขอมแบบคลัง-บาปวน มีอายุสัมพันธ์กับจารึกในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ และเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ตามศิลาจารึกที่กล่าวถึงการอุทิศถวาย และงานศิลปกรรมที่ปรากฏเกี่ยวเนื่องกัน
๓. ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
อยู่ที่อำเภอพิมาย จัดเป็นศาสนสถานขอมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชื่อ "พิ มาย" มาจาก "วิ มาย" ตามที่ปรากฏในจารึกที่กรอบประตูปราสาทว่า "กมร เตง ชคตวิมาย" และ "พิ มาย" เป็นชื่อของเมืองโบราณที่ปรากฏในศิลาจารึกมาแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ที่กล่าวถึงเมือง "ภีมปุระ" และจารึกรุ่นหลังที่ปราสาทพระขรรค์ (พุทธศตวรรษที่ ๑๘) กล่าวถึงเมือง "วิ มายะปุระ" ดังนั้นปราสาทหินพิมาย และเมืองพิมายจึงเป็นศูนย์กลางทางศาสนา และเป็นเมืองที่สำคัญในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ที่ศิลปะขอมแพร่หลาย ในดินแดนไทย

ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา เป็นศาสนสถานขอมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (พุทธศตวรรษที่ ๑๗)
ในภาพแสดงให้เห็นระเบียงคด (กำแพงชั้นใน) ที่มีโคปุระ (ซุ้มประตูทางเข้า) ทั้ง ๔ ด้าน เมื่อผ่านระเบียงคด จึงเข้าสู่บริเวณปราสาท
หลักฐานในการก่อสร้างปราสาทหินพิมายนี้ เชื่อว่า เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่รัชกาล พระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ (พ.ศ. ๑๖๒๓ - ๑๖๕๐) และสร้างเพิ่มเติมสมัยต่อมา ในรัชกาลพระเจ้าธรนินทรวรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๖๕๐ - ๑๖๕๕) และรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ (พ.ศ. ๑๖๕๖ - หลัง พ.ศ. ๑๖๙๓) จากหลักฐาน ได้พบจารึก ที่กรอบประตูโคปุระด้านทิศใต้ระบุ พ.ศ. ๑๖๕๑ จึงอาจถือเป็นศักราชของการสถาปนาปราสาท หินพิมาย
ก. แผนผังและองค์ประกอบของปราสาทหินพิมาย
- ประตู เมืองและกำแพงเมือง ปราสาทหินพิมายเป็นศาสนสถานศูนย์กลางของเมืองพิมาย ดังนั้นจึงมีกำแพงเมือง คูน้ำและคันดินล้อมรอบ ที่กำแพงเมืองแต่ละด้านประกอบด้วย ประตูทางเข้า
- กำแพง และซุ้มประตูทางเข้าปราสาท (โคปุระ) มี ๒ ชั้น ถัดจากประตูเมืองเข้าไป เป็นกำแพงของปราสาทที่ล้อมรอบ ศาสนสถานชั้นนอก ระหว่างทางเดินเข้าไป จะมีอาคารที่เรียกว่า ธรรมศาลา (ที่พักคนเดินทาง) และสะพานนาคราชปรากฏอยู่แล้ว จึงเข้าสู่ประตูทางเข้าที่เรียกว่า โคปุระ ซึ่งมีทั้ง ๔ ด้าน บริเวณนี้มีบรรณาลัยตั้งอยู่ระหว่างทาง ๒ หลัง ถัดจากชั้นนอกจึงเข้าสู่กำแพงชั้นใน ที่มีโคปุระทั้ง ๔ ด้านเช่นเดียวกัน เมื่อผ่านกำแพงชั้นในจึงเข้าสู่บริเวณปราสาท
- ปราสาท ประกอบด้วยปราสาทประธานและอาคารด้านหน้า ๓ หลัง ได้แก่ ปรางค์พรหมทัต หอพราหมณ์ และปราสาท
- หิน แดง ซึ่ง ๓ หลังนี้สร้างขึ้นภายหลังในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
รูปแบบของปราสาทประธานประกอบด้วย อาคารทรงปราสาทที่ตั้งอยู่บนฐานบัวเตี้ยๆ ๒ ฐาน รองรับส่วนกลางที่เป็นเรือนธาตุ ส่วนยอดเป็นหลังคาทรงปราสาทแบบเรือนชั้นซ้อนกัน ๕ ชั้น ที่มุมประธานของแต่ละชั้นประดับนาคปัก ส่วนที่ด้านประดับด้วยบันแถลง ส่วนยอดสุดเป็นทรงกลม คล้ายหม้อน้ำเทพมนตร์ เรียกว่า กลศ รูปแบบพิเศษของชั้นหลังคาปราสาทหินพิมาย คือ เปลี่ยนการประดับปราสาทจำลองในแต่ละชั้นมาเป็นนาคปัก ทำให้ชั้นหลังคาเกิดเป็นทรงพุ่ม อันเป็นวิวัฒนาการสำคัญทางด้านรูปแบบปราสาทขอมในสมัยนครวัด
ตัวปราสาทประธานมีห้องที่เข้าไปภาย ในได้เรียกว่า ห้องครรภคฤหะ อันเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพทางศาสนา ด้านหน้ามีอาคารห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้ายื่นออกมา เรียกว่า "มณฑป" มี ทางเดินเชื่อมต่อกัน เรียกว่า "มุขกระสัน" หรือ "อันตราละ"
ทับหลังภาพพระวัชรสัตว์ ปราสาทหินพิมาย
ทับหลังภาพเล่าเรื่องรามายณะ

ทับหลังภาพเล่าเรื่องรามายณะ
ตอนพระรามเสด็จกลับอโยธยา
ข. ภาพเล่าเรื่องบนทับหลังและหน้าบัน
ศิลปกรรมที่ปราสาทหินพิมายที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ประติมากรรมภาพเล่าเรื่องบนทับหลังและหน้าบัน เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่าปราสาทหินพิมายจะเป็นพุทธสถานนิกายมหายาน แต่ภาพเล่าเรื่องที่ประกอบอยู่โดยรอบ กลับเป็นเรื่องเล่าของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ยกเว้นภาพเล่าเรื่องที่ประดับรอบห้องครรภคฤหะ ที่เป็นส่วนสำคัญของศาสนสถาน จึงเป็นเรื่องของพุทธประวัติในนิกายมหายาน
ภาพเล่าเรื่องที่ปรากฏมากที่สุด ได้แก่ รามายณะ (รามเกียรติ์) ตอนสำคัญ เช่น พระรามพระลักษมณ์ต้องศรนาคบาศ การรบระหว่างยักษ์กับลิง พระรามจองถนน และท้าวมาลีวราชว่าความ นอกนั้นจะเป็นเรื่องของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ เช่น พระศิวนาฏราช พระอุมามเหศวร พระกฤษณะ และรูปเทพเจ้าประจำทิศ ส่วนรูปสำคัญที่อยู่โดยรอบห้องครรภคฤหะ ได้แก่ พุทธประวัติตอนโปรดพญามาร หรือทรมานพญามหาชมพู และพระพุทธรูปนาคปรก นอกจากนี้ยังมีรูปพระโพธิสัตว์ชิ้นสำคัญ ๒ รูป เป็นเรื่องของพระวัชรสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์ที่ได้รับยกย่องว่า มีฐานะเสมือนพระพุทธเจ้า และเรื่อง ไตรโลกยวิชัย ผู้กำจัดความโลภ โกรธ หลง เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ปราสาทหินพิมายนี้สร้างขึ้น เพื่อพระพุทธศาสนานิกายมหายาน
๔. ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์
บางทีเรียกว่า "ปราสาท หินเขาพนมรุ้ง" ตั้งอยู่ที่ตำบลตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ตัวปราสาทตั้งอยู่บนภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ดังนั้นจึงมีปากปล่องภูเขาไฟที่เป็นสระน้ำธรรมชาติ สำหรับปราสาทด้วย
คำว่า "พนม รุ้ง" มาจาก ศิลาจารึกที่กล่าวถึงชื่อศาสนสถานแห่งนี้ว่า "วนํ รุ ง" ซึ่งหมายถึง ภูเขาอันกว้างใหญ่ หรือรุ่งเรือง มีแสง
ปราสาทพนมรุ้งเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ประจำเมือง บริเวณรอบๆ ปราสาทแต่เดิมน่าจะเป็นที่ตั้งของชุมชนขนาดใหญ่ เพราะมีลำน้ำไหลผ่านหลายสาย และด้านล่างยังมีปราสาทเมืองต่ำที่มีบารายขนาดใหญ่สำหรับหล่อเลี้ยง ชุมชน จัดเป็นศาสนสถานที่อยู่ในเส้นทางจากเมืองพระนครของเขมรมายังเมืองพิมาย
ปราสาทพนมรุ้งมีปราสาทประธานหลังเดียว ล้อมรอบด้วยระเบียงคด ที่มีโคปุระทั้ง ๔ ด้าน ยอดปราสาทเป็นทรงพุ่มเช่นเดียวกับปราสาทหินพิมาย
ประวัติการก่อสร้างปราสาทพนมรุ้งได้จากหลักฐานศิลาจารึกพบที่ปราสาท จำนวนหลายหลัก โดยมีหลักหนึ่งกล่าวถึงพระนามของ "นเรนท รา ทิตย์" ซึ่งเป็นวีรบุรุษของชาวเขมร ที่สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ภายหลังพ่ายแพ้ศัตรู ได้เสด็จมาทรงพรตเป็นฤๅษีบนยอดเขาพนมรุ้ง จึงสันนิษฐานว่า ปราสาทพนมรุ้งน่าจะสร้างขึ้นโดยนเรนทราทิตย์ ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗
เมื่อประมวลจากศิลาจารึกที่ได้พบที่ปราสาทแห่งนี้ถึง ๑๐ กว่าหลัก ทั้งหมดอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ ซึ่งสัมพันธ์กับรูปแบบศิลปกรรม เช่น ลักษณะของตัวปราสาท และลวดลายประดับ ที่เป็นศิลปะแบบบาปวนต่อนครวัด
ปราสาทพนมรุ้งจัดเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย โดยดูได้จากหลักฐานทางศิลปกรรมสำคัญ ที่เป็นรูปเล่าเรื่องทางศาสนา โดยเฉพาะที่ทับหลังด้านหน้าของห้องครรภคฤหะนั้น เป็นรูปของฤๅษี ๕ ตน รวมทั้งรูปของพระอิศวรในพรตของฤๅษี ซึ่งสัมพันธ์กับจารึกที่กล่าวถึงนเรนทราทิตย์ที่มาบำเพ็ญพรตเป็นฤๅษี ณ ที่แห่งนี้ รวมทั้งในจารึกหลายหลักยังได้กล่าวถึงพิธีกรรมต่างๆ ในลัทธิไศวนิกายอีกด้วย
ก. แผนผังและรูปแบบปราสาท
- ปราสาทพนมรุ้งมีแผนผังแบบตรงเข้าสู่จุดศูนย์กลาง เนื่องจากเป็นศาสนสถานที่ตั้งอยู่บนภูเขา มีทางเดินขึ้นจากด้านล่างขึ้นสู่เบื้องบน มีตัวปราสาทประธานหลังเดียว ล้อมรอบด้วยระเบียงคดที่มีโคปุระทั้ง ๔ ด้าน
- ปราสาท ประธาน มีระเบียบแผนผังเดียวกับปราสาทหินพิมาย ตัวปราสาทอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม มีมุขยื่นออกมา ๓ ด้าน ด้านหน้าเป็นมณฑป เชื่อมต่อด้วยฉนวนหรืออันตราละ ซึ่งเป็นลักษณะผังของปราสาทในสมัยบาปวนต่อนครวัด
- ส่วนฐานของตัวปราสาทตั้งอยู่บนฐาน บัวเตี้ยๆ สลักลวดลายกลีบบัวและลายดอกสี่เหลี่ยม
- ส่วนเรือนธาตุอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม มีห้องเข้าไปภายในได้ เรียกว่า ห้องครรภคฤหะ สันนิษฐานว่า แต่เดิมคงตั้งรูปเคารพคือ ศิวลึงค์
- ส่วนยอดเป็นทรงปราสาทเรือนซ้อนชั้น ๕ ชั้น แต่ละชั้นประดับด้วยบันแถลง และนาคปัก ลักษณะของนาคปักที่อยู่ในรูปสามเหลี่ยมนี้เอง ที่ทำให้ยอดปราสาทเป็นทรงพุ่ม เช่นเดียวกับปราสาทหินพิมาย
ข. ลวดลายบนทับหลังและหน้าบัน
ที่ทับหลังและหน้าบันมีลวดลายเป็นภาพเล่าเรื่อง อันเป็นลักษณะนิยมในศิลปะแบบนครวัด รวมทั้งเสาประดับกรอบประตู สลักลายสิงห์คายก้านต่อดอก ก็เป็นลักษณะของศิลปะแบบนครวัดด้วยเช่นกัน
เรื่องราวที่ปรากฏอยู่บนทับหลังและหน้าบันที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ได้แก่ ทับหลังรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งครั้งหนึ่งได้ถูกลักลอบนำไปยังสหรัฐอเมริกา รัฐบาลไทยได้ติดตามทวงคืนกลับมาได้ และนำกลับมาติดตั้งในที่เดิม เรื่องอื่นๆ ที่มีความสำคัญ ได้แก่ รูปเล่าเรื่องในลัทธิไศวนิกาย เช่น พระศิวนาฏราช พระอุมามเหศวร พระศิวะมหาเทพ รูปเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับลัทธิไวษณพนิกาย ได้แก่ พระนารายณ์บรรทมสินธุ์ และอวตารปางต่างๆ เช่น วิษณุตรีวิกรม (เป็นพราหมณ์เตี้ย) พระกฤษณะและมหาภารตะ เรื่องเล่าที่ปรากฏอยู่มากที่สุดคือ รามายณะ ตอนพระรามเดินดง วิราธลักนางสีดา นาคบาศ ท้าวมาลีวราชว่าความ และพระรามเสด็จกลับกรุงอโยธยา นอกจากนี้ยังมีรูปเล่าเรื่องเทพชั้นรอง เทพประจำทิศ และที่สำคัญ ซึ่งปรากฏบนชั้นแรกของหลังคาปราสาท ได้แก่ รูปเล่าเรื่อง ที่เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นประวัติของนเรนทราทิตย์ นอกจากนี้ยังมีรูปที่น่าสนใจ ปรากฏตามส่วนประกอบของตัวปราสาท ซึ่งเป็นภาพพิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์ และฉากแสดงชีวิตความเป็นอยู่
รูปที่ปรากฏบนทับหลังที่สำคัญที่สุด คือ ทับหลังหน้าห้องครรภคฤหะ เป็นรูปฤๅษี ๕ ตน ซึ่งหมายถึง พระอิศวรทรงพรตฤๅษีในไศวนิกายที่มีลัทธิหนึ่งเรียกว่า นิกาย "ปศุปตะ" ซึ่ง เป็นหลักฐานว่า ศาสนสถานแห่งนี้ สร้างขึ้นในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย
กล่าวโดยสรุป จากรูปแบบศิลปกรรมปราสาทพนมรุ้งจัดอยู่ในศิลปะแบบนครวัดตอนต้น (ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗) ช่วงที่ยังมีการรักษารูปแบบของศิลปะแบบบาปวนอยู่ แต่คงสร้างขึ้นหลังปราสาทหินพิมายเล็กน้อย เพราะปราสาทหินพิมายยังมีลวดลายของศิลปะแบบบาปวนปรากฏอยู่มากกว่า