เล่มที่ 29
สวนพฤกษาศาสตร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
สวนพฤกษศาสตร์ในประเทศไทย

            สวน พฤกษศาสตร์ในทวีปเอเชีย ที่มีประวัติยาวนาน มักตั้งอยู่ในประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของประเทศทางยุโรปมาก่อน เช่น อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซียโดยสวนพฤกษศาสตร์เหล่านี้เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของ ประเทศเจ้าของอาณานิคมนั้นๆ สำหรับประเทศไทยซึ่งไม่เคยเป็นอาณานิคมของประเทศใดมาก่อนได้มีการ ก่อตั้งสวนพฤกษศาสตร์ค่อนข้างช้า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ แล้วหลายแห่งโดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (เดิมคือ กรมป่าไม้) สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานกรุงเทพมหานคร สวนพฤกษศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่


สวนพฤกษศาตร์พุแค ที่ ต.พุแค อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี เป็นแหล่งรวบรวมพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและในต่างประเทศ

๑) สวนพฤกษศาสตร์พุแค

            ตั้งขึ้นที่จังหวัดสระบุรีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ โดยกรมป่าไม้ (ในขณะนั้น) ได้ดัดแปลงพื้นที่เดิม ที่มีสภาพเป็นป่าดิบแล้ง มีพรรณไม้พื้นล่างเต็มไปด้วยหนาม ตลอดจนเถาวัลย์ขึ้นอย่างหนาแน่นให้เป็นสถานที่สำหรับปลูกรวบรวมพรรณ ไม้นานาชนิดอย่างเป็นหมวดหมู่ ทั้งพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และในต่างประเทศ แต่การดำเนินงานในระยะแรก ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๔๙๓ ในโอกาสครบรอบปีที่ ๕๔ ของการสถาปนากรมป่าไม้ จึงได้จัดตั้งเป็น สวนพฤกษศาสตร์อย่างเป็นทางการ และปัจจุบันสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ สังกัดอยู่ในกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงเกษตรและสหกรณ์


ประชาชนเข้าเยี่ยมชมสวนพฤกษศาตร์ พุแค โดยมีเจ้าหน้าที่นำชม และอธิบายข้อมูลของพืชชนิดต่างๆ

            สวนพฤกษศาสตร์พุแค ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าพระพุทธบาท-พุแค ตำบลพุแค อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๒๔ กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับถนนพหลโยธิน (สายกรุงเทพฯ - ลพบุรี) และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ (สระบุรี- เพชรบูรณ์) เดิมมีพื้นที่ ๑,๑๓๖ ไร่ ปัจจุบันได้ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น ๕,๐๕๑ ไร่ หน้าที่และการดำเนินงานของสวนพฤกษศาสตร์พุแค

            ๑. สำรวจและรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้ทุกชนิดที่ขึ้นอยู่ในภาคกลางรวม ๑๕ จังหวัด นำมาปลูกรวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่ ตามวงศ์ สกุล และชนิดของพันธุ์ไม้ รวมถึงพรรณไม้ที่ขึ้นอยู่ในสถานที่อื่นๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยมีการติดป้าย ชื่อพรรณไม้ และป้ายสื่อต่างๆ ภายในบริเวณสวนพฤกษศาสตร์
            ๒. ศึกษาและรวมรวมข้อมูลเกี่ยวกับพรรณไม้ด้านต่างๆ ภายในสวนพฤกษศาสตร์
            ๓. ให้คำปรึกษาและบริการเกี่ยวกับพรรณไม้แก่ส่วนราชการ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจ
            ๔. จัดทำพิพิธภัณฑ์พืชและห้องสมุด เพื่อใช้ในการศึกษาและค้นคว้าวิจัย
            ๕. ดูแลบำรุงรักษา และปรับปรุงพื้นที่ให้สะอาด ร่มรื่น สวยงาม เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนของประชาชน

            ต้นไม้ที่ปลูกเป็นกลุ่มหลักมีประมาณ ๓๘ วงศ์ นอกจากนี้ ยังมีแปลงไม้เฉพาะ เช่น แปลงสวนสมุนไพร สวนไม้ในวรรณคดี สวนไม้มงคล สวนไม้มงคลพระราชทาน


ในอาคารพิพิธภัณฑ์พืชเป็นที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้แห้งสำหรับ ศึกษาและค้นคว้าวิจัย

            นอกจากสวนพฤกษศาสตร์พุแคแล้ว ยังมีสวนพฤกษศาสตร์แห่งอื่นๆในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อีก เช่น สวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ (เขาช่อง) จังหวัดตรัง สวนพฤกษศาสตร์ภาคตะวันออก (เขาหินซ้อน) จังหวัดฉะเชิงเทรา สวน พฤกษศาสตร์วรรณคดีภาคกลาง จังหวัดราชบุรี สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดร้อยเอ็ด สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีภาคใต้ จังหวัดสงขลา สวนพฤกษศาสตร์ภาคตะวัน ออกเฉียงเหนือ (ดงฟ้าห่วน) จังหวัดอุบลราชธานี สวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้ (ทุ่งค่าย) จังหวัดตรัง สวนพฤกษศาสตร์พัทลุง จังหวัดพัทลุง สวนพฤกษศาสตร์ ๑๐๐ ปี กรมป่าไม้ จังหวัดสระแก้ว
๒) สวนหลวง ร.๙ ในกรุงเทพมหานคร

            สวนหลวง ร.๙ ถือกำเนิดขึ้น โดยเริ่มจากบุคคล ๒ คณะ ที่มีแรงดลใจตรงกันคือ รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย นับแต่เริ่มดำรงรัชกาลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน กลุ่มบุคคลดังกล่าวประสงค์จะจัดทำโครงการสวนหลวง ร.๙ ให้เป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๕๓๐ เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความกตัญญูกตเวทีต่อพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งหลาย เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนสืบเนื่องมามิได้ขาดสาย กลุ่มบุคคลทั้ง ๒ คณะนั้น คณะแรกประกอบด้วย ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เป็นผู้นำในการริเริ่มแนวความคิด จะสร้างสวนน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๒๕ และในปีต่อมา แนวความคิดที่จะสร้างสวนพฤกษศาสตร์ได้ขยายออกไป โดยมีผู้ชำนาญในการสร้างสวน ได้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกหลายคน จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๕๒๗ ฯพณฯ พลอากาศตรี กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี จึงจัดทำโครงการสร้างสวนแล้วเสร็จ ส่วนกลุ่มบุคคลอีกคณะหนึ่ง คือ ฝ่ายบริหารของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างสวนสาธารณะ ก็ได้มีการดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๓ มาเป็นลำดับ เริ่มด้วย นายชำนาญ ยุวบูรณ์ นายกเทศมนตรีของกรุงเทพมหานครในขณะนั้น ได้จัดซื้อที่ดินไว้จำนวนหนึ่งที่แขวงหนองบอน เขตพระโขนง ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๐ นายชลอ ธรรมศิริ ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีดำริจัดที่ดินแปลงนี้ ให้มีสวนเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นสนามกีฬาสำหรับประชาชน ครั้นใน พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพน้ำท่วม และได้พระราชทานพระราชดำริว่า บริเวณหนองบอนน่าจะเป็นพื้นที่รับน้ำตอนใต้ของกรุงเทพฯ ได้ และควรปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีความต่อเนื่อง มีที่พักน้ำท่วมขัง ก่อนระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ฉะนั้น ใน พ.ศ. ๒๕๒๖ พลเรือเอก เทียม มกรานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงเห็นควรที่จะให้มีการปรับปรุงพื้นที่บริเวณหนองบอนเป็นสวน สาธารณะ รวมทั้งจัดให้มีพื้นที่รับน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. ๒๕๒๗ บุคคลทั้ง ๒ คณะ ได้ร่วมประชุมและกำหนดโครงการขึ้น มีการเริ่มหาทุน โดยจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิ ใน พ.ศ. ๒๕๒๘ ใช้ชื่อว่า มูลนิธิสวนหลวง ร.๙ มีการแลกเปลี่ยนที่ดิน รวมทั้งซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นอีกหลายโฉนดให้ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน รวมจำนวนทั้งหมด ๕๐๐ ไร่ มูลนิธิสวนหลวง ร.๙ มีวัตถุประสงค์ ๘ ประการ ดังต่อไปนี้


สวนหลวง ร.๙ นอกจากจะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางรวบรวม สะสม และอนุรักษ์พืชพันธุ์ไม้ด้วย

            ๑. สร้างสวนสาธารณะขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ใน พ.ศ. ๒๕๓๐
            ๒. เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป
            ๓. เป็นศูนย์กลางรวบรวม สะสม และอนุรักษ์พืชพันธุ์ไม้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบแห่งแรกของประเทศไทย
            ๔. ส่งเสริมวิชาการในด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และเผยแพร่ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป
            ๕. ปลูกฝังทัศนคติในการอนุรักษ์ธรรมชาติแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป
            ๖. ประกอบกิจการสาธารณประโยชน์และการกุศลต่างๆ รวมทั้งทะนุบำรุงส่งเสริม และพัฒนาสวนสาธารณะ
            ๗. ร่วมมือกับองค์กรการกุศล และหน่วยงานราชการในกิจการต่างๆ
            ๘. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมือง

สวนน้ำ


สนามราษฎร์

๓) สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

            ใน พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ รัฐบาลจึงได้ดำเนินการจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ขึ้นในประเทศไทย โดยมีลักษณะเป็นองค์กรเฉพาะ ที่มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน เพื่อทำหน้าที่รวบรวมพรรณไม้ชนิดต่างๆ นำมาจัดปลูก อนุรักษ์ ขยายพันธุ์ และศึกษาวิจัย โดยเฉพาะไม้ประจำถิ่น ไม้หายาก และไม้ที่กำลังจะสูญพันธุ์ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรพืชอย่างยั่งยืนต่อไป ตลอดจนการให้ความรู้ทางด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอันมีค่าของประเทศ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการการศึกษา และทัศนนิเวศ องค์การนี้ได้จัดตั้งสวนรวมพรรณไม้ป่าขึ้นรวม ๔ แห่ง ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เรียกชื่อว่า สวนรวมพรรณไม้ป่า ๖๐ พรรษา มหาราชินี

            ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๕๓๗ ทางองค์การฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อสวนพฤกษศาสตร์ในภาคเหนือของ องค์การฯ ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ว่า “สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์” ปัจจุบัน สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ทำหน้าที่หลัก ๔ ประการ คือ


บริเวณสวนพฤกษศาตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่


บริเวณสวนพฤกษศาตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่


เรือนกล้วยไม้และเฟิน ภายในสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิ

            ๑. เป็นศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ไม้ไทย โดยมี หน่วยงานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชรับผิดชอบ งานขยายพันธุ์และอนุรักษ์พันธุ์ไม้ไทย โดยเฉพาะไม้ประจำถิ่นของเมืองไทย ตลอดจนทำเอกสารวิชาการและสิ่งพิมพ์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางพฤกษศาสตร์ทุกปี
            ๒. เป็นแหล่งศึกษาทางธรรมชาติและ แหล่งข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ โดยมีการฝึกอบรมนักพฤกษศาสตร์ท้องถิ่น
            ๓. เป็นศูนย์รวมตัวอย่างพรรณไม้แห้ง สำหรับงานศึกษาทางอนุกรมวิธาน ซึ่งปัจจุบันมีตัวอย่างพรรณไม้แห้งประมาณ ๑๕,๐๐๐ ตัวอย่าง
            ๔. เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของ ประชาชน โดยให้ความรู้ควบคู่กับความเพลิดเพลิน

            สถานที่ตั้งของสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ตั้งอยู่ที่บริเวณชายเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ดอยปุย ในตำบลโป่งแยง และตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีลำห้วยหลายสายไหลลงห้วยแม่สา ซึ่งเป็นลำห้วยสายใหญ่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบและที่สูง สลับกันเป็นชั้นต่างๆ จน ถึงความสูง ๑,๒๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล มีเนื้อที่รวม ๖,๕๐๐ ไร่

            สภาพสังคมพืชในพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์แบ่งออกเป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ

            ๑) ป่าผลัดใบมีพื้นที่ประมาณร้อยละ ๓๕
            ๒) ป่ากึ่งป่าดิบมีพื้นที่ประมาณร้อยละ ๑๐ และ
            ๓) ป่าดิบมีพื้นที่ประมาณร้อยละ ๔๐

            ส่วนพื้นที่ที่เหลือมีสภาพเป็นพื้นที่แผ้วถาง อีกประมาณร้อยละ ๑๕ ซึ่งเป็นป่าไผ่ และ ป่าที่กำลังคืนสภาพ รวมทั้งพื้นที่ปลูกพืชสวนของชาวเขา ที่ได้อพยพออกไปนอกพื้นที่แล้ว


เรือนกล้วยไม้และเฟิน ภายในสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิ


เรือนบัว

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ

            สภาพสังคมพืชในพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์แบ่งออกเป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ

            ๑) ป่าผลัดใบมีพื้นที่ประมาณร้อยละ ๓๕
            ๒) ป่ากึ่งป่าดิบมีพื้นที่ประมาณร้อยละ ๑๐ และ
            ๓) ป่าดิบมีพื้นที่ประมาณร้อยละ ๔๐

            ส่วนพื้นที่ที่เหลือมีสภาพเป็นพื้นที่แผ้วถาง อีกประมาณร้อยละ ๑๕ ซึ่งเป็นป่าไผ่ และ ป่าที่กำลังคืนสภาพ รวมทั้งพื้นที่ปลูกพืชสวนของชาวเขา ที่ได้อพยพออกไปนอกพื้นที่แล้ว

            ภายในสวนยังได้มีการจัดเส้นทางเดิน ศึกษาธรรมชาติ โดยมี ๔ เส้นทาง คือ

            ๑) เส้นทางเลียบน้ำตกแม่สาน้อย เป็นเส้นทางเดินเท้าเลียบไปตามห้วยแม่สาน้อยผ่านไปทางสวนหิน ซึ่งเป็นที่รวมพืชทนแล้งนานาชนิด และสิ้นสุดเส้นทางที่เรือนรวมพรรณกล้วยไม้ไทย ซึ่งมีกล้วยไม้ไทยรวมไว้กว่า ๓๕๐ ชนิด รวมระยะทางประมาณ ๓๐๐ เมตร

            ๒) เส้นทาง สวนรุกขชาติ เริ่มจากศูนย์สารนิเทศ เดินตามถนนไปสู่สวนรุกขชาติผ่านวงศ์กล้วย ปาล์ม เตย บอน ราชพฤกษ์ เข้าสู่สวนเฟิน จากนั้น ผ่านวงศ์ขิง-ข่า ปรงสนเขา

            ๓) เส้นทาง พันธุ์ไม้ประจำจังหวัดต่างๆ และพืชสมุนไพรเป็นแหล่งรวบรวมพันธ์ไม้ไทยกว่า ๑,๐๐๐ ชนิด อาทิ พืชสมุนไพร พันธุ์ไม้หายาก และพันธุ์ไม้ประจำจังหวัด โดยมีการเสริมภูมิทัศน์ ด้วยกล้วยไม้ไทยนานาชนิด ให้ความสวยงาม และร่มรื่นตลอดเส้นทาง
            
            ๔) เส้นทางวัลย์ชาติ เป็นเส้นทางที่มีการปลูกรวบรวมไม้เลื้อย นานาชนิด ทั้งที่เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมือง และพันธุ์ไม้ต่างประเทศภายในสวนพฤกศาสตร์มีอาคารต่างๆ ได้แก่ กลุ่มเรือนกระจก ซึ่งประกอบด้วย โรงเรือนใหญ่ จัดแสดงพรรณพืชถาวร ๔ โรงเรือน คือ เรือนป่าดิบชื้น เรือนพืชทนแล้ง เรือนกล้วยไม้ และเรือนไม้น้ำ และมีโรงเรือน เล็กจัดแสดงพรรณพืชทั่วไป ๘ โรงเรือน อาทิ เรือนบัว ไม้ประดับ เรือนสับปะรดสี ชนิดพืชได้รับการรวบรวมจัดแสดงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และจัดไว้ตามลักษณะของการใช้ประโยชน์ โดยสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนได้รับการควบคุมโดยระบบทันสมัย ซึ่งสามารถปรับความชื้นการหมุนเวียนของอากาศ และปริมาณแสงแดดได้ตามที่พืชต้องการ นอกจากนี้ยังมีอาคารอื่นๆ อีก คือ อาคารศูนย์สารนิเทศ เป็นอาคารที่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้เข้าเยี่ยมชม ทั้งแผนที่ เอกสารและข้อมูลเกี่ยวกับองค์การ สวนพฤกษศาสตร์ มีห้องโถงจัดนิทรรศการ ห้องประชุมสำหรับแสดงสไลด์มัลติวิชัน และวีดิทัศน์ ห้องประชุมสำหรับหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจจัดประชุมนอกสถานที่

            อาคารหอพรรณไม้ เป็นศูนย์ค้นคว้าวิจัย และปฏิบัติการด้านพืช ทั้งในระดับพื้นฐานและระดับสูง งานปรับปรุงพันธุ์พืช งานสกัดสารจากพืช และการหาองค์ประกอบ สารต่างๆ ทางด้านพฤกษสมุนไพร

            พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ เป็นอาคารที่จัดแสดงและสาธิตให้ความรู้ทางด้านพืช ธรรมชาติวิทยา และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับพืช ด้วยเทคโนโลยีนำเสนอที่ทันสมัย สามารถศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง

            นอกจากสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์แล้ว มีสวนรวมพรรณไม้ ที่อยู่ในความดูแลขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ในภาคต่างๆ อีกรวม ๔ แห่ง คือ

            ๑. ศูนย์รวมพรรณไม้ภาคเหนือตอนล่าง บ้านร่มเกล้า จังหวัดพิษณุโลก
            ๒. ศูนย์รวมพรรณไม้ภาคตะวันออก หินสวยน้ำใส จังหวัดระยอง
            ๓. ศูนย์รวมพรรณไม้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทุ่งพึงพืด จังหวัดขอนแก่น
            ๔. ศูนย์รวมพรรณไม้ภาคใต้ ป่าทุ่งหราสูง จังหวัดพังงา