เล่มที่ 27
พลังงานนิวเคลียร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การใช้ประโยชน์พลังงานนิวเคลียร์ในกิจการเกษตร

            ประเทศไทยได้มีการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อส่งเสริมกิจการเกษตร เพื่อการเพิ่มปริมาณผลผลิต และเพิ่มคุณภาพของผลผลิตดังต่อไปนี้

๑. การปรับปรุงพันธุ์พืช

            การใช้รังสีเอกซ์ รังสีแกมมา หรือรังสีนิวตรอนฉายไปยังเซลล์ของพืช จะทำให้การแบ่งตัวของเซลล์พืชหยุดชะงัก มีการแบ่งตัวของเซลล์ล่าช้า เซลล์มีการกลายพันธุ์ เพื่อสร้างพันธุ์พืชที่มีลักษณะดีตามความต้องการ สำหรับประเทศไทย พืชที่สามารถปรับปรุงพันธุ์ได้สำเร็จ และเพาะปลูกกันอย่างแพร่หลายมีอยู่ ๑๐ ชนิด คือ ข้าวจำนวน ๓ พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ กข๖ กข๑๐ และ กข๑๕ ถั่วเหลืองพันธุ์ดอยคำ และพืชสวน ได้แก่ เก๊กฮวย คาร์เนชัน เบญจมาศ พุทธรักษา ปทุมมา และกล้วยหอมทอง

๒. การทำหมันแมลง

            วิธีการกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยเทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมัน (Sterile Insect Technique : SIT) เริ่มจากการเพาะเลี้ยงแมลง ให้มีปริมาณมากเพื่อผลิตดักแด้ ต่อมานำดักแด้ไปฉายรังสีแกมมา เพื่อให้เป็นหมัน แล้วนำไปปล่อยในธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง การผสมพันธุ์จะไม่สามารถกำเนิดลูกหลานต่อไปได้ เป็นการลดการขยายพันธุ์ ทำให้จำนวนประชากรแมลงลดลงหรือหมดไปในที่สุด การควบคุมจำนวนของแมลง โดยวิธีทำหมันด้วยรังสีนี้ เป็นการควบคุม และกำจัดแมลงเฉพาะชนิด ไม่มีผลต่อแมลงชนิดอื่นที่เป็นประโยชน์ เช่น ผึ้ง ผีเสื้อ และแมลงปอทางสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการกำจัดแมลงวันผลไม้ ในพื้นที่บริเวณดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ผลสำเร็จอย่างดียิ่ง ทำให้ผลผลิตของผลไม้เมืองหนาว เช่น ลูกพลับ สาลี่ ท้อ และลูกพรุน มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก


๓. การถนอมอาหารด้วยรังสี

            การถนอมอาหาร โดยการฉายรังสี เช่น รังสีแกมมาให้พลังงานสูงถึง ๑.๓๓ ล้านอิเล็กตรอนโวลต์ ที่สลายตัวมาจากไอโซโทปโคบอลต์-๖๐ หรือการใช้เครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอน ที่ให้อิเล็กตรอนพลังงานสูงถึง ๑๐ ล้านอิเล็กตรอนโวลต์ ไปทำลายยีน และรบกวนการแบ่งเซลล์ของสิ่งมีชีวิต เป็นผลให้จุลินทรีย์ เช่น บัคเตรี เชื้อรา ยีสต์ พยาธิ และแมลงตาย หรือเป็นหมันได้ สำหรับในพืชนั้น รังสีจะทำให้อัตราการหายใจ และกระบวนการทางชีวเคมีเปลี่ยนไป ทำให้ผลไม้บางชนิดสุกช้าลง ทำให้มันฝรั่ง และหอมหัวใหญ่งอกช้าลง และทำให้เห็ดบานช้าลง กล่าวโดยสรุปคือ การถนอมอาหารโดยการฉายรังสี สามารถควบคุมการแพร่พันธุ์ของเชื้อโรค พยาธิ และแมลง ควบคุมการงอก การสุก และการเน่าเสียของผลิตผลการเกษตรได้

๔. ประโยชน์ทางด้านอื่นๆ
    
        ก. เทคนิคการสะกดรอยด้วยรังสี ใช้ศึกษาเกี่ยวกับการดูดซึมแร่ธาตุ และปุ๋ยของต้นไม้ และพืชเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อปรับปรุง การใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

        ข. การใช้เทคนิคทางรังสีด้านอุทกวิทยา เพื่อเสาะหาแหล่งน้ำใต้ดินสำหรับการเกษตร

        ค. การใช้เทคนิคนิวเคลียร์วิเคราะห์ดิน เพื่อการจำแนกพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ทราบว่า พื้นที่ที่ศึกษาเหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืชชนิดใด ควรเพิ่มปุ๋ยชนิดใดลงไป

        ง. การใช้เทคนิคการวิเคราะห์ด้วยวิธีอาบรังสีนิวตรอน เพื่อวิเคราะห์สารตกค้างในสิ่งแวดล้อม จากการใช้ยาปราบศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง และธาตุมลพิษ ซึ่งมีความสำคัญต่อผู้บริโภค