เล่มที่ 9
การสาธารณสุข
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
แพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

            สมเด็จพระศรีทราบรมราชชนนีทรงดำริว่า ราษฎรซึ่งอยู่ในท้องที่กันดารและห่างไกล ยังไม่ได้รับบริการสาธารณสุขโดยทั่วถึง ประกอบกับมีแพทย์พยาบาลที่พร้อมจะช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย จึงทรงก่อตั้งมูลนิธิแพทย์อาสาขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะรวบรวมแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้ที่สนใจอาสาสมัคร ออกไปช่วยรักษาพยาบาลราษฎร ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกล ที่ขาดแคลนแพทย์ โดยไม่คิดมูลค่า และไม่จำกัดว่า จะเป็นคนชาติใด ภาษาใด และใน พ.ศ. ๒๕๒๓ มีอาสาสมัคร ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล พนักงานอนามัย ทันตอนามัย พยาบาล และอาสาสมัคร อื่นๆ รวมทั้งสิ้นกว่า ๑๔,๐๐๐ คน ปฏิบัติงานอยู่ใน ๔๕ จังหวัด เฉพาะวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดราชการ โดยคณะกรรมการ และอาสาสมัครทุกคนไม่ขอรับเบี้ยประชุม หรือเงินเดือน การออกปฏิบัติงานบางครั้ง ต้องอาศัยเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยราชการ ที่มีฐานบินอยู่ใกล้เคียงเป็นพาหนะ ในกรณีที่พบผู้ป่วยหนัก จะนำส่งโรงพยาบาล และให้การรักษาในฐานะผู้ป่วยในพระอุปถัมภ์


สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

            เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ พระองค์ทรงเริ่มทดลองใช้วิทยุสื่อสาร ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ในห้องที่ที่ไม่มีแพทย์อยู่ประจำ ตามแบบอย่างที่มีมาในประเทศออสเตรเลีย และเรียกโครงการนี้ว่า "โครงการแพทย์อาสาทางอากาศ" ด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเงินค่าเดินทางเข้าไปในตัวจังหวัด เพราะเจ้าหน้าที่สามารถติดต่อ ปรึกษา วิธีการรักษาพยาบาลจากแพทย์ได้ โดยทางวิทยุ ซึ่งปรากฏว่า ได้ผลดี และใน พ.ศ. ๒๕๒๔ มีการดำเนินการอยู่ใน ๒๕ จังหวัด มีสถานีรักษาทั้งสิ้น ๒๙๑ สถานี
            ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทำให้ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร และห่างไกล ได้รับการรักษาพยาบาล โดยหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้สนองพระราชดำรินี้ โดยการเร่งรัดจัดให้มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกปฏิบัติงานในท้องที่กันดาร และห่าง ไกล ที่ยังขาดแพทย์ และได้จัดให้มีโครงการรักษาพยาบาลทางอากาศเพิ่มขึ้น โดยใช้ข่ายวิทยุสื่อสารที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ เพื่อขยายงานทางด้านการรักษาพยาบาลทางอากาศให้กว้างขวางยิ่งขึ้น