
เมื่อคนเรามีอายุล่วงเข้าสู่วัยชรา ก็จะมีโรคต่างๆ ที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ไม่แข็งแรง มีความผิดปกติเกิดขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น เดินตัวไม่ตรง หลังค่อม ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว นัยน์ตาฝ้าฟางมองเห็นได้ไม่ชัดเจน หูตึง พูดจาลิ้นรัว ฟังเข้าใจได้ลำบาก หลงลืมง่าย

ในบรรดาโรคต่างๆ ที่เกิดกับผู้สูงอายุ มีอยู่โรคหนึ่งเรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า โรคพาร์กินสัน ชื่อโรคนำมาจากชื่อของแพทย์ชาวอังกฤษ คือ นายแพทย์เจมส์ พาร์กินสัน ซึ่งเป็นผู้เขียนรายงานเกี่ยวกับโรคนี้เป็นคนแรก เมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว จากรายงานนี้ ทำให้คนทั่วไปได้รับทราบถึงเรื่องราวเบื้องต้นของโรคพาร์กินสัน หลังจากนั้น ก็มีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสาเหตุและอาการต่างๆ ของโรคนี้ ตลอดจนวิธีการรักษา จนเป็นที่ทราบกันดีในวงการแพทย์ปัจจุบัน
โรคพาร์กินสันเป็นโรคทางระบบประสาทชนิดหนึ่ง เกิดจากสมองผลิตสารที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้ไม่เป็นปกติ ผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสันส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย ตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป และผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้หญิง ในอัตราส่วน ๓ ต่อ ๒

อาการของผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสันที่เห็นได้ชัดเจน คือ มีอาการสั่นที่มือและเท้า มีการเคลื่อนไหวช้าหรือเดินตัวเกร็ง แขนไม่แกว่งขณะเดิน ท่าเดินมีการงอข้อศอกและข้อเข่า จึงทำให้ผู้ป่วยเดินตัวซุนๆ ไปข้างหน้า หรือเซไปข้างใดข้างหนึ่ง มีความผิดปกติในการพูด เช่น พูดเสียงค่อยลง หรือพูดไม่ชัด เขียนหนังสือไม่ได้ หรือเขียนได้ลำบาก แม้กระทั่งการเซ็นชื่อของตนเองก็ตาม

อาการดังกล่าวข้างต้นเป็นอาการแสดงที่บ่งบอกว่าป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน แต่การที่จะทราบได้แน่นอนว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ ต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบประสาทเป็นผู้วินิจฉัย เนื่องจากมีโรคเกี่ยวกับระบบประสาท และความพิการทางสมองอื่นๆ ที่อาจมีอาการคล้ายคลึงกับโรคพาร์กินสันได้หลายชนิด
เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่า ผู้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันแล้ว มีวิธีการบำบัดรักษาโดยแบ่งออกเป็น ๒ ระยะ คือ ระยะเริ่มต้น และระยะที่มีอาการมาก และเป็นมานาน
การบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคนี้ในระยะเริ่มต้น แพทย์จะให้ยาซึ่งสามารถหยุดหรือชะลอการขยายตัวของโรคให้ช้าลง เพื่อให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่ภาวะปกติ แต่การบำบัดรักษาจะต้องทำอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เพราะโรคพาร์กินสันเป็นโรคเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ในเวลาอันรวดเร็ว การให้ยาจะต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับชนิดของยาให้เหมาะสมกับอาการของโรค ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยากินเอง
นอกจากการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งแล้ว ผู้ป่วยควรได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย โดยทำการบริหารร่างกายในท่าต่างๆ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น และให้มีการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น การฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายของผู้ป่วย ต้องอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดของนักกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการบำบัดรักษาโรค ด้วยวิธีการบริหารร่างกายของผู้ป่วยโดยเฉพาะ
หากการบำบัดรักษาผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยมีอาการมากและเป็นมานานแล้ว ก็ต้องใช้วิธีการบำบัดรักษาโรค โดยการผ่าตัดสมองฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าไว้ วิธีนี้เสียค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ก็ช่วยให้ผู้ป่วยในระยะท้ายๆ ของโรคมีอาการดีขึ้น แม้จะไม่หายขาดก็ตาม ในประเทศไทยมีการผ่าตัดผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และประสบผลสำเร็จเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ หลังจากนั้นก็มีการผ่าตัดผู้ป่วยรายอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ นับเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการแพทย์ของไทย ในการรักษาโรคนี้ และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีช่องทางในการรักษาได้มากขึ้น